xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แนะจับตา “ฮิลลารี” เชิญ “ปู” ไปเขมร เอี่ยวผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” ชี้ “นายกฯ” บินไปเขมรตามคำเชิญ “ฮิลลารี คลินตัน” 13 พ.ค.เป็นไปตามยุทธศาสตร์ พท.ที่ไม่ต้องการให้ “ยิ่งลักษณ์” เข้ามายุ่งกับคดีแก้ รธน. แนะจับตาอาจมีผลประโยชน์เรื่องทรัพยากรทางทะเลที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา ยันเอ็มโอยู 44 มีปัญหาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน และผลประโยชน์ทางทะเล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปกัมพูชา เพื่อกล่าวสุนทรพจน์กับนักธุรกิจสหรัฐฯ ในกัมพูชาตามคำเชิญของนางฮิลลารี คลินตัน รมว.การต่างประเทศของสหรัฐฯ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตาม มาตรา 68 หรือไม่ว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดของนายกฯ แต่เคยบอกมาแล้วว่ายุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย คือ การตัดตอนไม่ให้นายกรัฐมนตรีเข้ามายุ่งกับเรื่องเหล่านี้

ส่วนจะมีความผิดปกติหรือไม่ ที่จู่ๆ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ เชิญนายกรัฐมนตรีของไทย ไปกล่าวสุนทรพจน์ทั้งที่ไม่มีกำหนดการล่วงหน้ามาก่อน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ว่าเป็นมาอย่างไร แต่โดยเนื้อหาก็ต้องมาจับตาดูว่ามีผลประโยชน์เรื่องของทรัพยากรทางทะเลหรือไม่ ซึ่งมีปัญหาทับซ้อนค้างคากันอยู่ระหว่างไทย-กัมพูชา กับผลประโยชน์ทางธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามจับตาดู

ผู้สื่อข่าวถามว่าสอดคล้องกับกรณีที่นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ออกมาระบุว่าจะมีการผลักดันเรื่องนี้เพื่อให้ ครม.มีมติใช้เอ็มโอยูปี 2544 เพื่อนำไปเจรจากับกัมพูชาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอเตือนให้ดูในเอ็มโอยูปี 44 ว่ามีปัญหาอะไร อย่างไร โดยเฉพาะในส่วนที่กระทบกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และหากจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปรัฐบาลก็ควรต้องตอบคำถามต่อสังคมว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดปัญหา

ส่วนที่ นายอารักษ์ออกมายืนยันว่ามีการเจรจานอกรอบกันไปแล้ว ขณะที่ตัวเอ็มโอยู 44 มีปัญหาและถูกแขวนอยู่ การจะไปดำเนินการใดๆ ล่วงหน้าจะผิดขั้นตอนหรือผิดกฎหมายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียดว่าเขาไปพูดคุยอะไร และอย่าลืมว่ามี มาตรา 190 พ่วงเกี่ยวอยู่ด้วย และ มีหลายเรื่องในเอ็มโอยู 44 เคยมีการชี้มาแล้วว่า ทั้งในแง่ของความถูกต้องในการกำหนดแบ่งเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา กับในแง่หรือประเด็นการแบ่งผลประโยชน์ทางพลังงานทางทะเล ซึ่งคิดว่าประเทศไทยควรที่จะมีโอกาสได้มากกว่านี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตลอดว่าต้องมีการทบทวนเอ็มโอยู 44 โดยการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น