“ยิ่งลักษณ์” แจงเยือนเขมรไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ยันไปในฐานะแขก “ฮิลลารี” และถกทวิภาคีเพื่อนบ้าน รวมถึงรายละเอียดพระวิหาร ปรับปรุงความสัมพันธ์ โยน กห.หารือถอนทหาร ลั่นพร้อมปกป้องอธิปไตยและประโยชน์ชาติ ปัด ครม.รื้อเอ็มโอยู 44 เผยจ่อโชว์มะกันไทยเป็นจุดศูนย์กลางอาเซียน พร้อมแจงความเคลื่อนไหวการเมือง แนะพวกเคลื่อนไหวหลังศาล รธน.วินิจฉัยอยู่ในกรอบกฎหมาย
วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านระบุการเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่ประเทศกัมพูชา ในระหว่างการประชุมฟอรัมธุรกิจอาเซียน หรือ US-assean business ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.และการเยือนประเทศกัมพูชาครั้งนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนว่า ไม่มี เชื่อว่าผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเรื่องทั้งหมดแล้วถึงกำหนดการไปเยือนกัมพูชา ซึ่งมี 2 วาระใหญ่ คือ การเป็นแขกของทางนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนที่ 2 การไปหารือกับทางกัมพูชาในฐานะประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นกลุ่มอาเซียน ซึ่งควรไปหารือทวิภาคี โดยเป็นการหารือกันตามปกติในเรื่องของความร่วมมืออื่นๆ ซึ่งยืนยันไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนกรณีข้อพิพาทเขาพระวิหารก็จะไปคุยในแง่ของรายละเอียด เพราะมีเรื่องของการทำงานมากกว่าว่า จะทำให้อย่างไรให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในทุกๆ ด้านมีการปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อถามว่าจะมีการพูดถึงการถอนทหารของทั้ง 2 ฝ่ายด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของทางกระทรวงกลาโหมที่จะรอหารือกันทางปฏิบัติที่จะร่วมมือกันได้ก็คงจะทำ
เมื่อถามว่า นายกฯจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกัมพูชาอย่างไร ในปัญหาเขาพระวิหาร เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เรียกว่าอะไรที่เราคุยกันได้ เป็นความร่วมมือภายใต้กรอบกฎหมายทำได้ อันนี้ต้องขออนุญาตแยกความสัมพันธ์ต่างๆ เป็นไปตามช่องทางด้านการทูตปกติ ฉะนั้นข้อกฎหมายต้องเดินบนผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศอย่างเต็มที่ เราต้องทำหน้าที่ของเราในฐานะปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของประเทศสูงสุด แต่ทำอย่างไรจะให้ความสัมพันธ์ต่างๆ ด้านอื่นๆ สามารถดำเนินไปได้ ต้องมองในแบบนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการนำมติ ครม.ในการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาว่าด้วย พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ปี 44 มาใช้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดถึงวันนี้เอาแค่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ก็หนักแล้ว เราต้องช่วยกันเอาแค่ตรงนี้ก่อน
เมื่อถามว่าจะเอาอะไรไปคุยบ้างกับท่าทีของไทยในการลงทุนกับนักลงทุนชาวสหรัฐฯ นายกฯ กล่าวว่า การคุยหลักๆ ก็จะคุยคล้ายๆ ในช่วงที่เราได้มีการพูดคุยในการประชุมเวที เศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออกเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ก็จะเป็นการตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทยว่า ประเทศไทยเองเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียน สำหรับวาระของสหรัฐฯ นั้น คือ มองความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มอาเซียน ซึ่งเรายืนยันในความแข็งแรงของการร่วมตัวของอาเซียนในความเป็นหนึ่ง พร้อมในอีก 3 ปีข้างหน้า ความร่วมมือในส่วนของภูมิภาคอาเซียนที่จะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความร่วมมือในสามเสาหลัก จะเป็นเรื่องการตอกย้ำความมั่นใจ และสุดท้ายก็กลับมาตอกย้ำความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวอเมริกาต่อประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนักลงทุนสหรัฐฯ ต้องการรู้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย พร้อมที่จะชี้แจงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า พร้อมที่จะชี้แจงโดยการเคลื่อนไหวทางการเมืองถือเป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเราสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นตามทำนองระบอบประชาธิปไตย เราในฐานะรัฐบาลพยายามที่จะร่วมมือต่างๆ ให้เกิดความสงบ และความปรองดองในประเทศ ส่วนการรับมือกับสถานการณ์น้ำเรายืนยันความพร้อม และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานต่างๆ ที่ทางสหรัฐฯ ลงทุนเราจะมีแผนเร่งด่วนเป็นแนวป้องกันทางด้านเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายห่วงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.นี้ ไม่ว่าจะออกมาในทางใดทางหนึ่งว่า อาจจะทำให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง เกิดขึ้นในสังคมไทย จะดูแลตรงนี้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ต้องช่วยกัน เพราะความขัดแย้งต่างๆ เราต้องค่อยๆ ให้เวลาในการพูดคุยกัน ซึ่งบางครั้งเราเองคงต้องมองทั้ง 2 มุม การตอบโต้เป็นสิ่งที่ต้องตอบโต้ข้อโต้แย้งของ 2 ฝ่าย แต่ขณะเดียวกันอย่าลืมว่า วันนี้เราอยู่ในสถานการณ์ของประเทศที่เราไม่ได้เจอแค่ด้านนี้ด้านเดียว แต่เราเจอปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องความมั่นใจ ขณะเดียวกัน ประเทศประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งความมั่นคง และความสงบ ต้องพูดกันด้วยสันติวิธี อันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ตรงนี้ต้องขอความร่วมมือด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างไร แต่ละฝ่ายควรจะยอมรับคำวินิจฉัย และยุติการเคลื่อนไหวหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อย่างที่บอกการแสดงออกขอให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และสันติวิธี ซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับไปยังตำรวจให้ดูแลความสงบ และความปลอดภัย เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกันคงจะไม่มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่รุนแรงเกิดขึ้น