xs
xsm
sm
md
lg

สกัด!ส.ส.พท.ยกร่างนิรโทษ ระแวงคนกันเองตัดตอนปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(18 ก.พ.56) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ตามหลักการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายที่มีความเห็นขัดแย้งหรือยังไม่ตกผลึก ไม่ว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งมีกระแสข่าวว่าส.ว.เลือกตั้งจะร่วมกับส.ส.พรรคเพื่อไทย จะเสนอนั้น หลักการพิจารณาโดยจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหาข้อสรุปให้ตกผลึกในชั้นที่ประชุมวิปรัฐบาล ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาหรือที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อการพิจารณากฎหมายจะได้รวดเร็ว และลดความขัดแย้งในที่ประชุม
ส่วนที่ประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย มีวาระหารือเกี่ยวกับการออกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่มีมติต่อการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม แต่พรรคจะเคารพเอกสิทธิ์ของส.ส.หากจะมีการเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งใช้แค่จำนวน 20 คนเสนอเป็นร่างพ.ร.บ.เข้าสู่สภาได้เลยเพราะไม่เข้าลักษณะกฎหมายการเงิน ส่วนกรณีที่นายวรพล พหรมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือต่อนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทยและรองประธานวิปรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เสนอให้มีการแยกประเภทประชาชนโดยออกเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและพ.ร.บ.ล้างมลทินนั้น ขณะนี้หนังสือดังกล่าวยังไม่ถึงมือตนและวิปรัฐบาลทั้งหมด
เมื่อถามว่าต้องมีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าชื่อด้วยหรือไม่แทนที่จะเป็นส.ส.เพื่อไทยพรรคเดียว นายอำนวย กล่าว ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่การเสนอกฎหมายดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลและตนเองในฐานะประธานวิปรัฐบาลต้องประสานพูดคุยกับพรรคฝ่ายค้านและภาคประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไรด้วย
ด้านนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ กล่าวว่า บ่ายของวันที่ 19 ก.พ.ตนจะเดินทางมาพูดคุยกับส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนตามที่ได้รับเชิญ แต่คงไม่ได้เข้าร่วมการประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทยเพื่อชี้แจงและนำเสนอแนวความคิดต่อกรณีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตามตนและแกนนำเสื้อแดง 20 จังหวัดภาคอีสานยังเห็นว่าการเร่งรัดออกกฎหมายไม่เป็นผลดีน่าจะให้รัฐบาลได้มีเวลาทำงานแก้ไขปัญหาประชาชนไปก่อนระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกตนไม่เห็นใจคนที่ติดคุกเพราะคนเหล่านั้นก็เป็นเพื่อนที่อยากให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วเหมือนกัน แต่ท้ายสุดแล้วพรรคเพื่อไทยมีความเห็นเป็นอย่างไร พวกตนก็ไม่คัดค้าน พร้อมยอมรับ
ขณะที่ นายพร้อมพงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันดังกล่าวด้วยหรือไม่ และถ้าหากนากยกรัฐมนตรีไม่เข้าร่วมแล้วจะทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่านายกรัฐมนตรีภารกิจเยอะ
อีกด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านกฎหมาย ของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวคัดค้านการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ตามที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ระบุว่าจะมีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม โดยให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย 21 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เนื่องจากกังวลว่าจะกลายเป็นสร้างความหวาดระแวงของกลุ่มคนต่างฝ่าย และตัดตอนเป้าหมายที่จะสร้างความปรองดอง ตามแนวทางของนายเจริญ ที่อยากให้คนทุกกลุ่มสี ทุกกลุ่มการเมืองหารือร่วมกันเพื่อนำไปสู่ทางออกของการลดความขัดแย้ง
"การยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจถูกภาคสังคมและกลุ่มการเมืองต่างขั้ว มองว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเอง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดตอนนี้ คือให้คนทุกกลุ่มสี และกลุ่มขั้วการเมือง ร่วมหารือถึงแนวทางการออกกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นที่สรุปร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นว่าการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะมีข้อความหรือถ้อยคำใดมากกว่าการยกร่างเพียงฝ่ายหรือกลุ่มเดียว ทั้งนี้ความคืบหน้าขณะนี้ยังคงรอที่ประชุมพรรคเพื่อไทยได้หารือร่วมกันในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ ว่าจะสรุปความเห็นไปในแนวทางใด" นายวีรพัฒน์ กล่าว
นายวีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดที่จะให้มีการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จำนวน 2 ฉบับ คือนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม กับกฎหมายที่บรรเทาความขัดแย้งทางการเมือง เท่าที่ติดตามจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้าน ทราบว่าไม่มีกลุ่มใดที่เห็นคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม ส่วนกฎหมายที่บรรเทาความขัดแย้งขณะนี้ยังไม่มีการตกผลึก ดังนั้นในแนวคิดดังกล่าว เชื่อว่าต้องให้ทุกฝ่ายหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยอาจจะเปิดเวทีเจรจาร่วมกันอีก 2 - 3 รอบก่อนที่จะลงมือยกร่างกฎหมายเพื่อให้เป็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่มาจากคนทุกกลุ่ม
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา หารือว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 พ.ศ....... ของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) โดยในมาตรา 3ระบุว่า "ให้บรรดาผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554นั้นพ้นจากการกระทำความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง แต่ไม่รวมถึงการกระทำของผู้มีอำนาจ ในการสั่งการในการเคลื่อนไหว ในห้วงเวลาดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการรักษาความสงบ " ฟังดูเหมือนว่ามาตรา 3ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ ไม่รวมถึงผู้ที่สั่งการ หรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ
นายประสาร กล่าวว่า แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ระบุว่า "ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น " โดยนายเกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาอธิบายไว้ว่าหากการกระทำของผู้ถูกใช้ ไม่เป็นความผิด เพราะมีกฎหมายยกเว้นความผิด ไม่ถือเป็นการใช้แม้จะมีเจตนาก็ตาม ซึ่งตรงนี้ถือตนเห็นว่าเป็นนิรโทษกรรมอำพราง เปิดไฟเขียวให้รถเล็กผ่านตลอด แต่รถเล็กลากรถใหญ่ไปด้วย และรถใหญ่ตอนนี้ไม่มีใครยอมรับ แกนนำบอกไม่ใช่ผู้สั่งการ จึงพากันพ้นผิดไปทั้งกระบวน ก็ขอให้สังคมไทยรู้เท่าทันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น