ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับเป็นคนหนึ่งที่สร้างสีสันให้กับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ไม่ใช่น้อย เมื่อตัดสินใจออกมาประกาศอาสาขอรับใช้ประชาชนลงท้าชิงในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับ โต้-สุหฤท สยามวาลา และด้วยบุคลิกที่มีหลากหลายด้าน จึงมีผู้นิยามให้กับ โต้-สุหฤทไปต่างๆ นานา
วัยรุ่นที่มีอายุแก่ที่สุด
ผู้บริหารเฟี้ยวเงาะ ดีเจอินดี้ตัวพ่อ
หรือผู้ชายที่รักภรรยาที่สุดในจักรวาล
ปัจจุบัน โต้-สุหฤทดำรงตำแหน่งผู้บริหาร บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เป็นผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของตระกูลสยามวาลา มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องเขียนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศอาทิเช่น แฟ้มตราช้าง,ปากกา Cross,ปากกา Quantum,สี Master Art เป็นบริษัทที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี
ขณะเดียวกันชีวิตอีกด้านหนึ่งของ โต้-สุหฤท ก็เรียกว่าสุดฤทธิ์ คล้ายแคมเปญที่ออกมาจากเขา เพราะเอาแค่สไตล์แต่งตัวก็เรียกความน่าสนใจได้อย่างมาก นอกจากนั้น เขายังเป็นนักร้องนำแห่งวง ‘ครับ’ วงดนตรีอินดี้ที่ดังที่สุดเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เขาคือดีเจขวัญใจเด็กแนวแห่งคลื่น Fat Radio เขาคือพ่อมดอิเล็กทรอนิกส์ ผู้บุกเบิกแนวเพลง Electronica จากเดิมที่ไม่มีคนรู้จักจนกลายเป็นเพลงที่ขาดไม่ได้ในยามค่ำคืน และมีภาพลักษณ์ที่เป็นผู้บริหารที่มีความ เป็นสมัยใหม่
ASTV-ผู้จัดการสุดสัปดาห์ขออาสาพาไปรู้จักตัวตนและนโยบายของโต้-สุหฤท 1 ใน 3 ของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทางเลือกที่กำลังเป็นตัวเลือกให้กับคนกรุงเทพฯ ว่ามีนโยบายอะไรมานำเสนอ และ 4 ปีแห่งวาระการดำรงตำแหน่งจะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครฯ เมืองหลวงแห่งนี้อย่างไร
โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่น่าจะช่วยให้คนกรุงตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
“เชื่อแบบเดิม เลือกแบบเดิม ได้กรุงเทพฯ แบบเดิม”
**สุหฤท สยามวาลา คือใคร
สุหฤท สยามวาลา เป็นนักร้อง นักดนตรี นักจัดรายการวิทยุ และผู้บริหารบริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา ธุรกิจของครอบครัว จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ จบการศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และปริญญาโท สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าสู่วงการดนตรีจากการเป็นนักร้องนำวงครับของเพื่อนเรียนมัธยมฯ จากนั้นได้มาทำงานบริหารธุรกิจของครอบครัว แต่ยังใช้เวลาว่างเล่นดนตรี ร้องเพลง และออกผลงานเพลงในแนวอิเล็กทรอนิกส์มาแล้ว 4 ชุด และเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่นแฟตเรดิโอ และเป็นวิทยากรรับเชิญในการพูดงานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศตัวเป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดอิสระ
หมายเลขเบอร์คือ เลข 17
**สนใจเรื่องการเมือง การบริหารบ้านเมืองมานานแค่ไหน
ตอนนี้อายุ 45 ปีแล้ว สนใจทางการเมืองมีมาตั้งแต่แรกแล้ว คิดว่าทุกคนมีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่แล้วในตัว โดยเฉพาะในระยะหลังมีมากกว่าแต่ก่อน สำหรับผมเคยไปร่วมชุมนุมตอนพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ด้วยความคุกรุ่นในทางการเมืองของผมมันมีมาก ประเด็นก็คือ ในเมื่อโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์กมันเกิดขึ้น เวลาที่เกิดการพูดไปมาทางสังคมออนไลน์ จะสังเกตเห็นว่ามีคนบ่นเยอะมาก แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ ผมก็เลยรู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว มันคงจะต้องถึงเวลาที่ภาคสังคมต้องลุกขึ้นมา มันอยู่ที่สังคมพร้อมจะหลุดออกจากสิ่งเดิมๆ หรือไม่ ผมถึงพูดเสมอว่า เชื่อแบบเดิม เลือกแบบเดิม ได้กรุงเทพฯ แบบเดิม
** สาเหตุที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.
อย่างที่บอกไปคือเราเห็นปัญหาอยู่ว่ามันมีอะไรบ้าง เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง ที่มาสมัครมาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ยุ่งเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเมือง ฉะนั้นมุมมองของผมจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ในการร่างนโยบายก็จะร่างจากความคิดของประชาชนคนหนึ่ง จากที่เราเจอปัญหาอะไรอยู่บ้าง และจะหาทางแก้แบบง่ายๆ ซึ่งบางเรื่องอาจต้องอาศัยภาคสังคมช่วยกันผลักดันเสียหน่อย บ้านเมืองเราก็อยู่กันแบบสงบสุขมีความสุข นโยบายที่ผมเสนอ 2 ข้อ จึงมาจากคนคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิด เป็นบุคคลที่จะฝากชีวิตไว้กับกรุงเทพฯ เป็นคนหนึ่งที่จะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เลยคิดว่ามันต้องมีอะไรที่เราจะทำได้บ้าง จึงกลั่นออกมาเป็นนโยบาย 12 ข้อ
**มีความพร้อมมากแค่ไหนของด้านต่างๆ ในการลงรับสมัครผู้ว่า ฯกทม.
ขอยืนยันว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ จุดหนึ่งก็คือเวลาที่ไปศึกษาโครงสร้างจริงๆ นั้น มันมีคนที่จะช่วยผมอยู่เยอะมากๆ จนทำให้ผมไม่ต้องกลัวอะไรเลย ข้าราชการประจำและลูกจ้างในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 1 แสนคน มีสำนักที่จะคอยดูแลและให้ข้อมูลกับผมอย่างมากมายมโหฬาร เจ้าสำนักต่างๆ อยู่ไหน ผอ.เขตอยู่ไหน ปลัด กทม. อยู่ไหน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเลย ผมจึงไม่เคยกลัวว่า จะบริหารอะไรไม่ได้ เพราะว่าผมจะไปขอความร่วมมือ เพื่อให้กรุงเทพฯ เกิดความเปลี่ยนแปลง
** มีคนบอกว่า คุณสุหฤทลงสมัครเล่นๆ ถามจริงๆ ว่า หวังผลมากแค่ไหนกับการลงสมัครครั้งนี้
มาถึงตรงนี้ ขอยืนยันว่าเอาจริงแน่นอน ถึงแม้ว่าจะมีหลายคนบอกว่าไม่เอาจริงเอาจังหรือถึงหาเสียงแค่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ในส่วนของผมแล้วการออกนโยบายเรื่องป้ายโฆษณาสีเขียว เอาต้นไม้มาเป็นป้ายโฆษณาแล้วเกิดไปทำป้ายมาเยอะแยะก็เท่ากับสวนทางนโยบายตัวเอง มันก็เลยเกิดเป็นกระแสป้ายหาเสียทำมือขึ้นมา อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าเอาจริงแน่ๆ โครงการเดินหนึ่งล้านก้าว เพื่อเข้าถึงปัญหาของคนกทม.และจะขอหนึ่งล้านเสียงเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯไปพร้อมกัน ดังนั้นการทำกิจกรรมขนาดนี้คงไม่ได้มาทำเล่นๆแน่นอน เพียงแต่ว่าเราอยากจะทำอะไรที่แปลกออกไป เราก็พร้อมจะดึงภาคสังคมมาช่วยกันในการหาเสียงครั้งนี้
**ยุทธศาสตร์ที่จะใช้ในการหาเสียงในครั้งนี้
จะใช้วิธีการเดินหาเสียง โดยจะนำเสนอ 12นโยบายของตัวเองเป็นหลัก และให้ประชาชนออกมาร่วมกันเดิน มาพูดคุยเสนอปัญหาว่าจะให้แก้ไขอะไรบ้าง
**ช่วยขยายความนิยามของสโลแกน “กรุงเทพสุดฤทธิ์ ร่วมกับสุหฤท สร้างเซอร์ไพรส์”
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ซ่อนพลังอยู่มากมาย แต่ด้วยความแตกต่างกันทางความคิด อุดมการณ์และความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ทำให้เราลืมไปว่าเราเป็นคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน เราต้องตื่นมาเลือกผู้ว่าฯ กทม. อย่าเลือกด้วยความกลัว ตอนนี้ได้ยินเรื่องเสียงแตกมาพอสมควร มันเป็นการเบี่ยงเบนแทนที่จะสู้กันในนโยบาย เป็นเรื่องของความกลัวแทน อยากเรียกร้องให้คนกรุงเทพฯ มาร่วมด้วยช่วยกันเดินหน้าร่วมกันในนโยบายที่จะนำเสนอให้กรุงเทพฯ มันสุดฤทธิ์สมชื่อจริงๆ มันสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ก็เลยใช้สโลแกนคำว่า กรุงเทพฯสุดฤทธิ์
**นโยบาย 12 ข้อมีอะไรบ้าง
1. ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า เพราะทางเท้าเป็นที่สาธารณะที่ขาดการดูแล ซึ่งความปลอดภัยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกแผงลอย หาบเร่เพียงอย่างเดียว ปัญหาเช่นทางเท้าตะปุ่มตะป่ำ ป้ายที่รกเต็มเมืองไปหมด เรื่องแสงสว่าง ต่างๆ นี่ก็คือภาพรวมของความปลอดภัย แต่ที่สร้างปัญหาให้คนกทม.มากที่สุดคงเป็นเรื่องหาบเร่ แผงลอย จะมีวิธีจัดการ 2 แบบคือ การจัดการแบบเด็ดขาด หรืออีกวิธีคือใช้วิธีประนีประนอมค่อยพูดค่อยจากัน แต่ว่าต้องยึดทุกอย่างภายใต้กรอบกฎหมาย แน่นอนว่าคงจะทำให้บางคนต้องเดือดร้อนแต่คงไม่มีกติกาสังคมใดทำให้คนทุกคนชอบไปหมดได้ ซึ่งเราก็ต้องให้ทุกคนยึดถือกฎหมาย ค่อยๆ เข้าไปแก้ไขทีละจุด ทั้งนี้ทั้งนั้นกลยุทธ์ของแต่ละที่จะใช้ไม่เหมือนกัน เช่นแต่ละที่เราต้องรู้ว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่บ้าง ต้องค่อยๆ เข้าไปจัดการ อย่างประเทศสิงคโปร์ใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องเริ่มนับหนึ่งให้ได้ก่อน ฉะนั้นทางเท้าควรจะเป็นที่ให้เดินได้อย่างปลอดภัย
2. เริ่มแก้ปัญหาจราจรจากศูนย์ ทำไมกองทัพมดถึงไม่เคยมีปัญหาจราจร เราต้องกล้าที่จะ “ช่วยกันดูแลระเบียบจราจร” ก็คือ เราชอบที่จะพูดเรื่องอะไรที่มันใหญ่โต เช่นให้กทม.เลิกรถติด สร้างโครงการใหญ่เพิ่ม ฉะนั้นง่ายๆคือขอให้ทุกคนทำตามกฎจราจรก่อน ประชาชนทุกคนจะรู้ว่าปัญหาของตัวเองอยู่ตรงไหน จะรู้ว่าเส้นทางไหนขวางทางหรือติดขัด จะรู้ว่าเวลารถตู้จอดสองเลนเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราต้องเริ่มเคารพกฎจราจร มีการรณรงค์ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ หลังจากนั้นทุกคนจะช่วยกันถ่ายรูปปัญหาบนท้องถนนที่ทุกคนพบเจอมา แล้วส่งมาทางเว็บไซต์ที่เราจะตั้งขึ้นมา เป็นเว็บไซต์ของกทม.ที่ทุกคนจะสามารถดาวโหลดได้ โดยรถแต่คันจะมีตำแหน่ง GPS บอกอยู่ แล้วจากนั้นก็จะส่งไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ดูแลจราจรโดยเฉพาะ นี่จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาโดยภาคประชาชนแล้วปัญหาจราจรจะลดลงแบบคาดไม่ถึง เป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนอะไรด้วย
3. ขยะแลกสวนสาธารณะ ขยะเกือบหมื่นตันต่อวัน ช่วยกันเปลี่ยนมันเป็นเงินแล้วเอาเงินนั้นมาใช้สร้างสวนสาธารณะของพวกเรา ผมคิดว่าเราควรจะแยกถุงขยะเป็นสามสี แดง เหลือง เขียว ทั้งนี้สำหรับสีแดงก็คือขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ เหลืองคือไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ ถ้าเราแน่ใจเราก็ใส่ถังเขียว ดังนั้นต้องมีการจับแยกที่บ้านของตัวเอง เราต้องเปลี่ยนขยะพวกที่เป็นทรัพย์สิน โดยที่เรามีสัมปทานอยู่ เราก็สามารถหารายได้จากขยะตรงนี้ แล้วนำไปสร้างสวนสาธารณะ
ผมยกตัวอย่างจากตัวเลขจริง ขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ ตก 9,745 ตันต่อวัน หากนำมารีไซเคิลจะเป็นเงิน 8บาทต่อกิโลกรัม แปลว่าเราสามารถแปลงขยะเป็นเงินได้วันละ 77.9 ล้าน สมมุติหักค่าจัดการต่างๆออกไป เหลือกำไร 20เปอร์เซ็นต์ กรุงเทพฯก็ยังมีรายได้เพิ่มขึ้น 5,691 ล้านบาทต่อปี วิธีจัดการก็ง่าย สำรวจพื้นที่สาธารณะ ประเมินค่าใช้จ่าย เปิดให้เอกชนรัฐซื้อขยะ เพื่อแปรรูปหรือส่งออกต่อไป ทำระบบรายการปริมาณขยะ เมื่อบรรลุเป้าหมายการขายขยะจึงนำเงินไปสร้างสวนสาธารณะ
4.50 เขต 50 เสน่ห์ ใช้เสน่ห์ของคนในเขตเพื่อสร้างชุมชนในฝันให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจชุมชนที่ตัวเองเติบโตมา หลักคือจะกระจายอำนาจในกับผู้อำนวยการเขตทุกเขต การที่จะทำให้เศรษฐกิจมันหมุนเวียน มันไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่งของกทม.เรื่องนี้จะเป็นตัวหลักในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯอย่างหยั่งยืน ยกตัวอย่าง ลาดกระบังให้ ผอ.ลองทำประชามติ คนลาดกระบังบอกว่าอยากให้เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี เราก็จำลองเลยว่าจะมีไวไฟ แบบไหนถึงจะเหมาะสม มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เราสามารถที่จะพาลูกของเราไปเรียนวิทยาศาสตร์ที่เขตลาดกระบังได้ หรือจะเป็นเขตบางรัก ขอเสนอว่าเป็นดินแดนแห่งความรัก จัดเทศกาล จัดวอล์กกิ้งสตรีท ให้คนมาร่วมสนุกได้ ทั้งนี้จะให้ประชาชนในแต่ละเขตสามารถกำหนดได้ว่าจะออกแบบชุมชนเราให้เป็นแบบไหน จะเพิ่มแหล่งทำมาหากิน
5.ดูแลโรงเรียนด้วยหัวใจ เราจะต้องช่วยกันดูแลครูให้ดีเพื่อให้ครูได้มีโอกาสสร้าง “คนกรุงเทพสำหรับอนาคต”พร้อมทั้งเสนอโรงเรียนทางเลือกให้คนกรุง เพราะเห็นว่าหลายครั้งที่รัฐบาลบริหารโรงเรียนและครูจะหนักไปที่การบริหารงบประมาณ ไม่ค่อยบริหารเรื่องหัวใจ เราต้องเข้าไปรู้ว่าครูทำงานในแบบใด นอกจากนี้อีกแนวทางหนึ่งที่คิดไว้คือโรงเรียนทางเลือกคือนำเอาแนวทางโรงเรียนนานาชาติมาปรับให้เข้ากับแบบความเป็นไทย หลักสูตรของเราจะทัดเทียมเมืองนอก เช่นสิงคโปร์ สวีเดน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งโรงเรียนทางเลือกถูกรับรองแล้วโดยกฎหมายของทางกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเราสามารถจะทำได้และค่อยๆ ทำต่อไป โดยโรงเรียนทางเลือกก็คือ แตกต่างจากหลักสูตรโดยทั่วไป และบางที่ทำเป็นโรงเรียนสำหรับนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ จบออกมาก็สายตรงเลย
6. โฆษณาสีเขียว เปลี่ยนโจทย์ให้นักทำโฆษณาอยากโฆษณา ต้องกล้ามอบความเขียวคืนให้กับกรุงเทพฯ คงตรงกับที่ส่วนตัวปฏิเสธการหาเสียงโดยใช้ป้าย มันจะเป็นโจทย์ให้กับนักทำโฆษณา บริษัทต่างๆก็อยากจะส่งเสริมภาพลักษณ์ตัวเองในเรื่องแง่ของสิ่งแวดล้อม อย่างบริษัท SCG แล้วก็มีโลโก้ของ SCG อยู่ข้างบนต้นไม้ กรุงเทพฯ ก็จะมีรายได้เพิ่ม ประชาชนเห็นก็จะสบายตาเขียวสวย ถ้าจะทำสถานที่ อาทิ ตอม่อรถไฟฟ้า ใต้ทางด่วน ถ้าใช้โฆษณาสีเขียวก็จะลดค่าโฆษณาป้ายให้ เมืองสวยขึ้น เอกชนแฮปปี้ ประชาชนแฮปปี้
7.จักรยานไม่ใช่ลูกเมียน้อย ทำไมผู้ใช้จักรยานในเมืองใหญ่ทั่วโลกไม่ต้องเสี่ยงตายเท่าผู้ใช้จักรยานในกรุงเทพฯ ซึ่งน่าจะดูแลใส่ใจกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะพวกเขาช่วยลดปัญหารถติด พวกเขาช่วยลดปัญหามลพิษ เราควรที่จะสนับสนุน เราเลยอยากจะทำให้จักรยานเป็นพาหนะหลักเป็นทางเลือกอันหนึ่ง เหมือนรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ ถามว่าเราสร้างที่จอดรถให้รถอื่นๆได้ ทำไมจะมีที่จอดรถจักรยานบ้างไม่ได้ จักรยานไม่ใช่พาหนะที่จะใช้ออกกำลังกายอย่างเดียว ซึ่งต้องมีทางจักรยานเพิ่มขึ้นด้วย สามารถขับขี่ไปทำงานได้อย่างปลอดภัย ห้างสรรพสินค้าควรจะมีที่จอดรถจักรยาน ก่อนจะโดยสารต่อไปด้วยรถไฟฟ้าก็ควรจะมีที่จอดรถจักรยาน ต้องทำให้เป็นทั้งเมือง ต้องมีการประชุมร่วมกันกับผู้รับผิดชอบจักรยานระดมสมองกัน
8.เครือข่ายการเดินทางสาธารณะ จะต้องเริ่มจากหน้าบ้านหน้าที่ของกทม .คือการดูแลผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้ดีตลอดเส้นทางต้องเชื่อมโยงให้ได้ทุกจุด นี่จะเป็นเรื่องเดียวกับการแก้จราจรจากศูนย์ ผมจะต้องทำจนกว่าคนจะรู้สึกว่าการขับรถไปเองทรมานกว่าการใช้รถสาธารณะ การแก้ไขปัญหาจราจรถึงจะจบสิ้นและยั่งยืน หน้าบ้านที่พูดไปก็คือตั้งแต่หน้าบ้านเราจะออกไปขึ้นรถวินมอเตอร์ไซด์อย่างไร รถตู้อย่างไร ถึงจะถึงรถไฟฟ้า จะใช้เวลา 1 ปีในการจะประกาศอนาคตเครือข่ายของกรุงเทพฯ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คือถ้าวันหนึ่งคนไม่อยากขับรถแล้ว อยากใช้เดินทางด้วยระบบรถสาธารณะมากขึ้น รถส่วนตัวก็จะหายไป รถน้อยลงจลาจรก็จะง่ายขึ้นเอง
9.ยกระดับหน่วยกู้ภัยกรุงเทพฯ ให้ทัดเทียมนานาชาติ เป็นผู้ช่วยเหลือที่ไว้ใจได้ที่สุดในยามฉุกเฉิน อุปกรณ์พร้อม ความสามารถของบุคลากรพร้อม คือเทศกิจของเราอาจไม่เพียงพอและคนกรุงเทพอาจต้องการความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อยากจะสนับสนุนหน่วยกู้ภัยทั้งหมดของกรุงเทพฯ เพื่อออกมาเป็นอาสาสมัครทำงานให้คนกรุงเทพฯ 24ชั่วโมง ถ้าใครเจ็บป่วยเดือดร้อนก็จะมีคนคอยดูแลให้ ลำพังแค่ตำรวจอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในระดับนานาชาติก็เป็นแบบนี้ทั้งหมด คนในชุมชนก็จะช่วยให้รายได้เขาจากการช่วยกันตรวจตรา ความปลอดภัยก็จะมีมากขึ้นจากอาสาสมัครเหล่านี้
10. เมืองที่ผู้หญิงอยู่อย่างมีความสุข เมื่อผู้หญิงมีความสุข ทุกคนในบ้านก็มีความสุขปกป้องให้ปลอดภัย สร้างโอกาสที่จะก้าวหน้า ส่งเสริมในสิ่งที่ชอบ คือถ้าผู้หญิงในบ้านมีความสุขทุกคนในบ้านก็จะมีความสุขหมดแน่นอน ฉะนั้นผู้หญิงต้องมีความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขา ทั้งกล้อง อาสาสมัคร ที่จะทำให้เขาอุ่นใจ ผู้หญิงชอบชอปปิ้ง หลังจากเลิกงานมีที่พักผ่อน ส่งเสริมเรื่องการทำสุขภาพให้ดี ถ้าผู้หญิงในเมืองนี้มีความสุข ความปลอดภัยคนอื่นในกรุงเทพฯต้องมีแน่นอน
11. Lifestyle City / City of living / Work-life balanced / สร้างสมดุลของชีวิตคนกรุงเทพ เมืองต้องการศิลปะทุกหัวระแหง, เมืองต้องการพื้นที่สำหรับออกกำลังกรุงเทพต้องสนับสนุนให้ชีวิตของคนในเมืองดีขึ้น เรื่องนี้ตกใจมากเรื่องเวลาตัวเองรณรงค์เรื่องการหาเสียงทำมือ ตกใจที่ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนกรุงเทพฯ ที่มีอยู่อย่างมากมาย เช่น คำใบกระเพรา เอาต้นหอม มะเขือเทศมาเรียงเป็นชื่อสุหฤท เบอร์ 17 หรืออย่างมีรถที่ฝุ่นเกาะเต็มไปหมดยังไม่ได้ล้าง คนที่ชื่นชอบเราก็ไปเขียนว่า คนล้างไม่อยู่ไปโหวตให้สุหฤท พวกนี้ก็จะแชร์ไปในส่วนต่างๆของโซเชียลเน็ตเวิร์ก นี่คือความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกซ่อนอยู่และไม่ได้รับการสนับสนุน บางคนสามารถที่จะใช้ชีวิตสองด้านได้ ฉะนั้นเราต้องมีที่ที่ให้คนสามารถมารวมตัวกัน วาดรูป เล่นดนตรี มีงานศิลปะ กีฬา แสดงออกในด้านต่างๆ ให้อีกด้านหนึ่งชีวิตของเขามีความสุข
12.Bangkok-Emo-Meter กรุงเทพฯ เมืองแห่งความเชื่อมโยง แอปพลิเคชั่นเดียวสำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพ เริ่มตั้งแต่ได้ข้อมูลทันเวลาที่ต้องการไปจนถึงประเมินความพอใจได้ในทุกเรื่อง ทุกวันนี้คนในกรุงเทพฯใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นล้านคน ผมมองว่าโลกของดิจิตอลมันเดินเร็วมากถ้าไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้มันจะไม่ทัน เราลองไปดูที่สิงคโปร์เมืองของเขาสามารถที่จะโหลดแอปพลิเคชั่นให้การใช้ชีวิตในเมืองเขาดีขึ้น เช่นเราสามารถติด GPS ให้กับรถเมล์ได้ ป้ายรถเมล์ก็จะบอกว่าอีกกี่นาทีรถเมล์สายที่เรารอจะมา เป็นชีวิตที่วางแผนได้นี่แค่ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชั่นที่จะทำจะไประดมสมองจากผู้ที่เชียวชาญ พวกวัยรุ่นออกมาให้ใช้ประโยชน์ให้กับกรุงเทพฯเรื่องอื่นได้ เราจึงต้องค่อยๆทำเพราะฐานข้อมูลเรายังไม่แน่น
**ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขที่สุดของกรุงเทพฯคืออะไร
ที่พูดมาทั้งหมดมันเป็นปัญหา ไม่ใช่ว่าทำทีละข้อให้เสร็จแต่ต้องค่อยๆทำไปพร้อมกัน แล้วเราจะมีการวัดประเมินผลให้ประชาชนรู้ด้วยว่าที่พูดไว้ทำไปถึงไหนแล้ว อาจจะมีช่องบางกอกชาแนล เป็นช่องของคนกรุงเทพฯ บอกข่าวสารหรือจะเป็นเทคโนโลยีอื่นก็สามารถทำได้ จะทำแบบรายการนายกฯพบประชาชนที่มีการบอกผลงานว่าทำอะไรไปบ้างจะมีนโยบายอะไรต่อบ้างก็สามารถทำได้ ช่องทางที่จะประเมินทำได้และส่วนตัวก็พร้อมจะให้ประเมินกันทุกปีด้วยซ้ำ
**ฐานเสียงประชาชนของสองพรรคการเมืองใหญ่ เป็นปัญหาของผู้สมัครอิสระมากแค่ไหน
ถ้าประชาชนเลือกพรรคแล้วมีนโยบายในใจแล้วเป็นปัญหาสำหรับผมแน่นอน สิ่งหนึ่งที่ผมมองก็คือมีจำนวนคนกว่า 2 ล้านคนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ คือครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกไปเลือกตั้ง คนพวกนี้อาจเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่หมดหวังการเมือง อีกกว่า 2 ล้านคนที่ยังไม่ไปใช้สิทธิ์ มองว่าจุดนี้คือโอกาส ขอแค่อีกสัก 1ล้านคนออกมาใช้สิทธิ์ ตอนนี้เห็นใช่ไหมว่าถ้ามีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคอยู่ขณะนี้แล้วมีคนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด ผมไม่บ้าออกมาลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ แน่นอน ผลโพลก็ชี้ชัดว่า คนกรุงเทพฯรอฟังนโยบาย เพื่อพิจารณานโยบายอีกเยอะ หรือจะเป็นพวกที่เอือมหมดหวัง ครั้งนี้ผมถึงบอกว่าเหมือนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่คุณจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้
** ข้อได้เปรียบของผู้สมัครอิสระ ที่มากกว่าของสองพรรคการเมืองใหญ่
ผู้สมัครอิสระจะสามารถช่วยแบ่งเบาความขัดแย้งลง จะมาเป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคการเมืองใหญ่ได้ อย่างพรรคเพื่อไทยให้ความร่วมมือกับสุหฤท เวลาที่รัฐบาลสนับสนุนโครงการไหนของ กทม.ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ให้ สก. สข.ช่วยสนับสนุนนโยบาย ก็จะได้เสียงสนับสนุนในระดับชาติไปด้วย คือทั้งสองพรรคการเมืองได้ประโยชน์ไปด้วย ผู้สมัครอิสระกลับจะมาเป็นผู้สานไมตรีมากกว่า ผมไม่เชื่อว่าคนที่มาจากประชาชนจะกลับมาเล่นงานประชาชน
**สำหรับตัวเลขคนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ มีแนวคิดจะดึงคะแนนจากส่วนนี้อย่างไร
ที่กำลังทำอยู่ก็คือนโยบายเดินล้านก้าวเพื่อเข้าถึงปัญหาของคนกรุงเทพฯ และผมประกาศชัดเจนว่าขอ 1 ล้านเสียง ก้าวออกมาเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯไปด้วยกัน จะเป็นกลุ่มไหน สีไหน คุณจะชอบอะไรไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านเห็นด้วยกับ ผมจะเดินไปหาทุกคนเพื่อเข้าถึงปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ชิงพื้นที่ข่าว พร้อมเอาปัญหาของทุกคนไปแก้ไขให้มันดีขึ้น ที่ทำอยู่คือเดินล้านก้าวก็เพื่อจะเห็นปัญหาของคนแต่ละพื้นที่จริงๆ
** เคยพูดเรื่องเสียงแตกไว้ กังวลในส่วนนี้มากน้อยอย่างไร
อัดอั้นเรื่องเสียงแตกมาก ผมอาสามาเป็นทางเลือกให้คนกรุงเทพฯ ผมไม่ได้เป็นนอมินีของใคร และต่อจากนี้นโยบายต่างๆ เริ่มหายไป กลายเป็นถูกความกลัวเข้าครอบงำแทน คนกรุงเทพฯต้องปลดแอกจากความกลัวออกไปเลือกเพราะนโยบายของผู้สมัครว่าจะมาทำอะไรให้กับเราบ้าง ไปห้ามเรื่องความกลัวของคนไม่ได้ แต่ผมบอกได้อย่างเดียวว่า วันนี้กรุงเทพฯจะต้องเปลี่ยนแปลง ต้องตัดสินแล้วว่าจะเลือกที่ผู้สมัครหรือนโยบาย หรือจะทิ้งทั้งหมดแล้วเลือกด้วยความกลัวแทน มามัวแบ่งฝ่ายจนลืมไปว่าเราทุกคนต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพฯร่วมกันอยู่ ผมคงไปทำอะไรไม่ได้มาก และเคารพความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งผมก็เบื่อที่มีการโจมตีกันไปมา ไม่เว้นแต่ตัวเองยังถูกมองว่าเป็นนอมินีของใครบ้างละ โดนหาว่าถูกจ้างมาให้ทำเสียงแตก ส่วนใครจะหาว่าอย่างไรคงไม่สน จะเดินทางอย่างเดียวโดยไม่ไปติดหล่มความขัดแย้งของใคร
**เตรียมทีมงานที่ทำงานไว้บ้างหรือยัง มีใครบ้าง
พูดชื่อไปอาจจะเสียมารยาท สมมุติว่าผมได้ตำแหน่งขึ้นมาจริงๆ ไม่ต้องห่วงครับ เรื่องทีมงานรองผู้ว่าฯ กทม. ก็พร้อมที่จะมาทำงานไปด้วยกันได้อย่างไม่มีปัญหา เลยไม่จำเป็นต้องประกาศ ขอแค่วันนี้เอาตัวเองให้ผ่านก่อน วางแผนไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะหาใครมาช่วยด้านไหน ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะไม่มีทางลืมข้าราชการประจำ ผู้อำนวยการเขตอีก 50 เขต ซึ่งมีหน่วยงานเยอะมากที่จะสนับสนุนนโยบายเรา
**มีอะไรฝากไปถึงคนที่ยังไม่ออกมาใช้สิทธิ์หรือเบื่อหน่ายการเมืองทุกวันนี้
ทุกคนอย่าเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง อันนั้นเป็นระดับประเทศแล้วก็ไม่ควรเปลี่ยนด้วย แต่ไม่ควรนำมาปนกับกรุงเทพฯ เพราะทุกอย่างจะถอยหลังลง อย่าดึงกรุงเทพฯไปอยู่ในความขัดแย้ง ประชาชนควรดูผู้สมัครที่แข่งกันที่นโยบาย แข่งกันที่ผู้สมัครกำลังจะทำอะไรให้ เพราะถ้าลืมตรงจุดนี้แล้วที่คิดจะทำอะไรต่างๆ มันจะหายไปหมด หันมามองนโยบาย แล้วเลือกตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ 2 ล้านเสียงที่ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิ์ จงออกมาครับ เพราะคะแนนของท่านสามารถเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ได้ ปัญหาจะเบาบางลง
**ถ้าไม่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะไปทำอะไรต่อ จะเดินไปทางไหนบนเส้นทางการเมือง
ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงที่ได้ ตอนนี้คงยังบอกไม่ได้ขอดูจำนวนเสียงที่ออกมาก่อนว่าเราจะสามารถทำประโยชน์ตรงไหนต่อได้บ้าง