xs
xsm
sm
md
lg

ใช่แค่ดูให้สนุก แต่ยังดูให้สงบ “นรา” นักวิจารณ์หนัง ผู้กลายมาเป็น "นักส่องจิตรกรรมฝาผนัง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพโดย : ฉัฐโสภา พันธุเมธาวงศ์
ART EYE VIEW --- “สนใจแต่ไม่ใส่ใจ”  นั่นคือช่วงเวลาแรกพบกัน ระหว่าง “จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระแก้ว” กับ จ้อย - พรชัย วิริยะประภานนท์ เมื่อวัยเด็ก

เจ้าของนามปากกา นรา นักวิจารณ์ภาพยนตร์ รางวัล มล.บุญเหลือ เทพสุวรรณ ผู้เคยมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่ม รวมถึงหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ

และขณะนี้ไปนั่งหน้าไมค์วิจารณ์ภาพยนตร์ ผ่านรายการวิทยุ “หนังหน้าไมค์” ของ Fat Radio เป็นคอลัมน์นิสต์ให้กับนิตยสาร happening และ writer

ทว่าหลายปีมานี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำประจำและเข้าขั้นหลงใหลคือ การเป็น “นักส่องจิตรกรรมฝาผนัง”

ก่อนหน้านี้ เรื่องราวระหว่างเขากับจิตรกรรมฝาผนังหลายชิ้น ก็เคยถูกนำมาถ่ายทอดให้เราอ่านเป็นตอนๆในเวบไซต์ ASTVผู้จัดการ มาแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะการตามรอยเส้นทางชีวิตและการทำงานของ เฟื้อ หริพิทักษ์ ปูชนียบุคคลของวงการศิลปะไทย

จนกลายมาเป็นหนังสือ “ยังเฟื้อ” ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดี ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

ล่าสุดกับกิจกรรม “พิพิธพาเพลิน ตอน เจ็ดสนามกับความเป็นไทย” ของ มิวเซียมสยาม เขาถูกเชื้อเชิญให้มาเป็นวิทยากร เพื่อแนะวิธี “ดูจิตรกรรมฝาผนังไทย ยังไงให้สนุก” ร่วมกับ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม อาจารย์และนักวิชาการผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับศิลปะไทยหลายเล่มและมีงานวิจัยเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาหนังหลายชิ้น

สำหรับ ศ.ดร.สันติ คงไม่ใช่เรื่องแปลกกับการที่ท่านจะสนใจดูงานจิตรกรรม เพราะส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องแสวงหาความรู้มาถ่ายทอดให้บรรดาลูกศิษย์ เพราะอดีตท่านเคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติสาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

แต่สำหรับนักวิจารณ์ภาพยนตร์เช่น “นรา” หลายคนใคร่สงสัย ว่าอะไรคือจุดเริ่มต้น และอยากรู้จริงๆว่า เขาดูอย่างไรถึงได้สนุก

>>>พบโลกใบใหม่ ในวันหนังสือร่วงหล่น

“ผมมาเริ่มดูจิตรกรรมฝาผนัง เมื่อปลายปี 51 ก่อนหน้านั้น สนใจแต่ไม่ใส่ใจ เข้าวัดน้อย แต่ก็เคยดูตอนเด็กๆ เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว จนกระทั่งวันนึง ที่บ้านผมหนังสือมันเยอะ มักรก ก็เลยจัดหนังสือ ขณะที่จัดอยู่เนี่ย หนังสือเล่มหนึ่งหล่นลงมาตรงหน้า ชื่อหนังสือ ความงามในศิลปะไทย ของ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ พอมันหล่นลงมา ผมก็ตกใจว่า ผมไปซื้อหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วก็ซื้อทำไม คือมันไม่มีเหตุอะไร ผมนึกไม่ออกจริงๆครับ เพราะปกติผมจะซื้อหนังสือพวกนิยายอะไรต่างๆ

จึงเอาหนังสือเล่มนี้มาเปิดๆดู มั่นใจมากว่าไม่เคยอ่าน ไม่เคยเปิดดูเลย พออ่านดูก็พบบทความหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้ พูดถึงจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุวรรณาราม เล่าถึงภาพสองภาพว่าเป็นผลงานของศิลปินสมัยรัชกาลที่ 3 สองท่าน ที่วาดจิตรกรรมฝาผนังแข่งกัน ผมอ่านแล้ว รู้สึกว่า ยังกะนิยายเลย และอ่านจนจบ

แล้วสิ่งที่มันสร้างความสนใจให้กับผมมาก ในตอนนั้นก็คือ ผมอยากเห็นภาพสองภาพนี้ อยากรู้ว่าเค้าวาดกันยังไง สวยแค่ไหน พออ่านจบผมก็ไปที่วัดสุวรรณาราม

ไปถึงก็พบว่าโบสถ์ปิด ประมาณ 4 โมงเย็น แต่ได้รับการผจญภัยอย่างตื่นเต้นมากก็คือ โดนหมาไล่กัด ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่”

>>> ดูจิตรกรรมฝาผนังไทย ยังไงให้สนุก

“ในหนังสือของอาจารย์ น ณ. ปากน้ำ ได้ลงรูปประกอบไว้ด้วย เป็นขาวดำเล็กๆ ผมก็เลยไปห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปหาหนังสือที่มีภาพสองภาพนี้ ก็ไม่เจอ แต่มีหนังสือของสำนักพิมพ์เมืองโบราณที่รวบรวมจิตรกรรมฝาผนังของวัดหลายๆแห่ง แต่ก็ไม่เจอเพราะ ตอนที่ไปมีคนมายืมไปก่อน

ขณะที่กำลังรู้สึกเคว้งๆก็ไปเดินที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปร้านหนังสือริมขอบฟ้า ผมไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ 'จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม' (ผลงานของ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม) หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมบานปลาย หมายความว่า จากเดิมที่คิดว่า จะไปที่วัดสุวรรณาราม และดูภาพสองภาพนั้น แล้วก็จะกลับบ้านมานอนตายตาหลับ

พอเปิดหนังสือเล่มนี้ ได้พบว่ามันมีวัดอีกมากมายเลยที่มีจิตรกรรมฝาผนังน่าสนใจ น่าตามไปดูหมด หลังจากนั้นผมก็เริ่มวางแผน จากที่คราวก่อน เราไปแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คราวนี้ เริ่มทำการบ้าน จึงไปที่กรมการแผนที่ทหาร ไปซื้อแผนที่อย่างดีเลยนะ เพื่อที่จะดูว่าวัดไหนอยู่ตรงไหน

สุดท้ายที่แรกที่ผมได้ไปดูงานจิตรกรรมฝาผนัง ไม่ใช่วัด แต่เป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ก่อนไป ผมก็ยังไม่เข้าใจเรื่องของจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องความงามอะไรต่างๆหรอก ก็ไปมหาวิทยาลัยศิลปากร ไปที่ห้องสมุด ผมไปเจอบทความชิ้นหนึ่งของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ชื่อ 'คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง' ผมรู้สึกว่าบทความนี้เปิดโลกผมมากเลย

ก่อนหน้านั้นผมมีความรู้สึกอีกอย่างนึงคือ … อาจจะเป็นเพราะว่าโตมากับภาพเขียนแบบฝรั่ง เวลาดูรูปของโมเน่ต์ ของแวนโก๊ะห์ แล้วมาดูภาพไทย จะรู้สึกว่าไม่ค่อยรู้สึกกับมันเท่าไหร่ จะรู้สึกว่ามันดูประหลาดๆ

บทความของอาจารย์ศิลป์ทำให้ผมเกิดความเข้าใจอะไรบางอย่าง อาจารย์อธิบายไว้ว่า

ภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย เหมือนมีไวยกรณ์ มีภาษาของตัวเอง ซึ่งต่างจากศิลปะตะวันตก และอันนึงที่ชัดคือ ภาพไทย เป็นงานลักษณะ 2 มิติ พอผมมาอ่านแล้วผมขนลุกเลย รู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นมาก และมันมีอีกหลายอย่างที่มันเป็นเอกลักษณ์ของภาพไทย คือ ไม่ได้วาดแบบสมจริง แต่ว่าประดิษฐ์จากความเป็นจริง คือดัดแปลงมันไปอีกชั้นนึง

เลยทำให้เกิดความเข้าใจว่า เวลาไปดูจิตรกรรมฝาผนัง เราต้องลืมภาพแบบตะวันตกไปหน่อย และในบทความอาจารย์ศิลป์ก็แนะนำอีกอย่างนึงว่า เวลาไปดูให้ใจเย็นๆ ค่อยๆดูทีละรูป แล้วก็ไปบ่อยๆ

ซึ่งในอดีตของผมที่ผ่านมา เวลาไปวัดพระแก้ว ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเยอะมากเนี่ย สำหรับผม 15 นาทีเสร็จ เดินแบบว่าสแกนมากๆ คล้ายๆเดินผ่าน

เมื่อผมไปพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ก็พยายามที่จะทำอย่างท่านอาจารย์ศิลป์แนะนำคือ ดูช้าๆ และผมก็ดูช้าๆอยู่ได้ประมาณ สองรูป ก็รู้สึกว่า เหมือนๆกันหมด

จนกระทั่งมาอ่านเล่มนี้ (จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม ) มีอยู่รูปหนึ่งที่ อ.สันติ นำเอาภาพหนึ่งในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาลง ผมเห็นแล้วผมชอบเลย (ซึ่งประเดี๋ยวจะมีภาพให้ดู) ผมชอบเลย ไปเพื่อชมภาพนั้น ตื่นเต้นมาก สำหรับผม มันเป็นภาพที่ก้าวหน้าล้ำยุคมาก

ผมไปพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ประมาณอาทิตย์ละครั้ง เริ่มค่อยๆหัดดู เริ่มไปหัดดูบ่อยๆ จากที่รู้สึกว่าทุกภาพเหมือนกัน พวกลวดลายอะไรต่างๆ จากนั้นก็เริ่มค่อยๆรู้สึกว่า มันเกิดความแตกต่าง มันจะมีภาพที่ผมชอบ แล้วก็มีภาพที่ผมยังเฉยๆ

ตอนไปที่พระที่นั่งพุท ไธสวรรย์ ผมก็พบอีกอย่างหนึ่งว่า ข้างในใหญ่มาก ตัวอาคารกว้างด้วย ยาวด้วย จะมีภาพด้านบนๆเป็นภาพเทพชุมนุม ซึ่งมันสูงเกินระดับสายตาผม ผมก็เลยไปซื้อกล้องส่องทางไกล พอไปซื้อผมก็เจ็บใจมาก

ระหว่างที่ผมเลือกเอาตัวนี้ คนขายก็ชี้บอก เฮีย...เฮียดูม้าแข่ง เฮียเอาตัวนี้ดีกว่า คือสารรูปผมไม่ให้ (หัวเราะ) ผมก็เลยซื้อแล้วก็ไปส่องดู โหได้ผลเลยครับ ฝรั่งเลิกดูภาพเขียนมาดูผมแทน

การใช้กล้องส่องทางไกล ผมเห็นอย่างหนึ่ง คือลายผ้านุ่งของเทวดาแต่ละองค์ไม่ซ้ำกันเลย เห็นความสะเอียด ความซับซ้อน จนต้องไปบ่อยๆ ผมดูอยู่ประมาณ 2 เดือน สัปดาห์ละครั้ง

แล้วก็เริ่มมาวัดสุทัศน์ วัดโพธิ์ มาดูเปรียบเทียบกัน หลังจากนั้นก็ค่อยได้ไปที่วัดสุวรรณาราม แต่ว่าตอนที่ไปวัดสุวรรณารามเหมือนได้เตรียมตัวมาดีแล้ว แล้วจากนั้นก็เปิดหนังสืออาจารย์สันติ ดูว่ามีวัดไหนที่ต้องตามไปดู”
จ้อย – พรชัย   วิริยะประภานนท์ หรือเจ้าของนามปากกา นรา
>>>นักส่องศิลปะนะ ไม่ใช่หัวขโมย

“จะว่าไปปริมาณการดูของผมยังไม่ถึงกับเยอะ คือผมจะดูทีละวัด และแต่ละแห่งจะพยายามไปดูบ่อยๆ คือพอไปดูมันก็ตื่นเต้น กับสิ่งที่พบเจอ แล้วก็ตอนนั้นก็เอามาเขียนระหว่างที่เขียนเหมือนต้องเขียนเกี่ยวกับที่นึงให้จบก่อน แล้วค่อยไปเริ่มอีกที่หนึ่ง ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะวอกแวก

แล้วจำนวนที่ๆดู จริงๆแล้วผมดูไม่เยอะที่ แต่ว่าแต่ละที่ไปนานมาก ไปหลายครั้งจนพระคิดว่าไปขโมย ผมติดปัญหานี้มากเวลาไปดู ด้วยรูปร่างหน้าตาท่าทาง (แล้วแก้ปัญหายังไง) ก็ไม่แก้ปัญหายังไง ก็ไปแบบตรงๆ บอกเค้าตรงๆ”

>>>อยากรู้อะไร อยากไปที่ไหน เข้าห้องสมุด

“จะว่าไปก็โชคดีอยู่อย่างครับ ตอนที่ผมเริ่มอยากดู เริ่มสนใจ ผมว่าตอนนั้นผมนิสัยเสียมาจากการทำงานวิจารณ์หนัง ซึ่งเวลาต้องการข้อมูลอะไร จะเข้า Google เข้าวิกิพีเดีย แค่นั้นก็เจอแล้ว มันเลยทำให้ผมตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ค่อยดิ้นรนเรื่องทำการบ้าน จนกระทั่งมาสนใจเรื่องจิตรกรรมฝาผนัง ผมรู้สึกว่า มันเป็นข้อมูลที่มีตามเวบไซต์ยังน้อยมาก ท้ายสุดต้องกลับมาเข้าห้องสมุด อ่านงานที่เป็นเอกสาร

แล้วผมก็โชคดีอีก ตอนที่ไปวัดสุวรรณารามครั้งแรก แล้วไม่ได้ดู ทำให้ ผมมีเวลามาตั้งหลักใหม่ หลายเดือน และหลายเดือนนั้นผมเข้าห้องสมุดที่ศิลปากรบ่อยมาก จนใครถาม ผมจะบอกว่าเข้าออฟฟิศ คือผมใช้ที่นั่นเป็นออฟฟิศ เข้าไปถ่ายเอกสารแล้วก็ไปถึงก็ค้นหาคำว่าจิตรกรรมฝาผนัง มันก็จะปรากฎรายชื่อหนังสือ ผมก็จะพยายามถ่ายเอกสาร เท่าที่จะหาได้ ท้ายที่สุดความสนใจไม่ได้อยู่แค่จิตรกรรมฝาผนังแล้ว ถ้าอยากจะดูภาพเขียนให้สนุก มันต้องอ่านอะไรแตกแขนงมากมาย ยกตัวอย่างเช่นในหนังสือของอาจารย์สันติ ก็จะมีบรรณานุกรมอ้างอิงเพื่อขยายไปอ่านเล่มอื่น ท้ายที่สุดแม้กระทั่งพงศาวดารผมก็ต้องหามาอ่าน อย่างภาพไตรภูมิกถาอย่างเนี้ย

ผมคิดว่าถ้าจะดูรูปนี้ให้สนุกก็ต้องไปอ่านไตรภูมิกถา ของพระยาลิไท เรื่องพุทธประวัติก็เหมือนกัน เดิมทีผมก็รู้แค่ ประสูติ ปรินิพาน ท้ายที่สุดผมก็ต้องไปอ่าน พระปฐมสมโพธิ์ ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

พอเจอเล่มนี้ผมก็อ๊วกอีก เพราะว่าภาษาท่านใช้ศัพท์โบราณ ผมก็เลยไปหาหนังสือที่เป็นคู่มือของเล่มนี้อีก (ชั้นหนังสือที่ว่ารกอยู่แล้ว คราวนี้ยิ่งรกใหญ่) ผมรู้สึกว่าข้อดีคือ สำหรับผมมันกลายเป็นความตื่นเต้น เหมือนได้เข้าไปสู่อีกโลกนึง มีอะไรให้เรียนรู้ เยอะแยะ และท้ายที่สุดมันก็จะอยากรู้ซอกแซกว่าที่โน่นที่นี่มีอะไร”

>>>อุปกรณ์ไม่สำคัญ เท่าพาตัวเองออกไปดู

“อยากให้นำพาตัวเองไปดู คือผมไม่ได้ใช้กล้องส่องทางไกลอย่างเดียวนะ ผมลงทุนไปซื้อไฟฉายด้วย อันนี้มีที่มาอยู่ ผมไปดูที่ หอไตร วัดระฆังครับ ไปแล้วพบว่ามันมืด แสงเงามันดูไม่ถนัด ผมก็เลยไปซื้อไฟฉาย แต่ผมก็พกไปที่นั่นที่เดียว ที่อื่นไม่กล้า เพราะไฟฉายมันใหญ่ ดูเป็นขโมยยังไงไม่รู้

แต่ว่าท้ายที่สุดผมว่าอุปกรณ์ไม่จำเป็น แต่ผมคิดว่าควรเข้าห้องสมุด จะไปดูที่ไหนควรทำการบ้าน หมายความว่าจะไปโพธารามก็ไปหาหนังสือเกี่ยวกับที่นั่น แล้วให้เวลา ท้ายที่สุดผมเชื่อว่า ใน DNAของคนที่มีจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในตัว คงเหมือนผม พอดูไปซักพักจะเคยชิน คุ้นเคย และมันจะนำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็น เป็นไปโดยปริยาย”

>>>ใช่แค่ดูให้สนุก แต่ยังดูให้สงบ

“ผมว่าอย่างแรกคือ การดูจิตรกรรมฝาผนังทำให้ผมฝึกเรื่องการสังเกต แล้วก็มองอะไรละเอียดขึ้น ถัดมาพอต้องเข้าห้องสมุดบ่อย ไปค้นเอกสาร ผมก็จะรู้ว่า ที่นี่ผมยังไม่เคยไป ทำให้ต้องตรวจสอบเรื่องข้อมูล แรกๆผมอ่านเจออะไรมา ผมก็เขียนไปตามนั้นแล้วก็อ้างๆ แต่หลังๆผมเริ่มมีข้อสงสัย เอ๊ะ.. อย่างนี้ใช่หรือเปล่า

ยกตัวอย่างหนึ่งก็ได้อย่างที่วัดสุวรรณาราม ตอนแรกๆที่ผมไปดู ไปอ่านเจอ ก็ทราบประวัติมาว่า ที่วัดในสมัยพระเจ้ากรุงธน เคยมีการประหารชีวิตเชลยศึกพม่า ซึ่งก็มีปรากฎในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ตรงนี้ไม่ได้น่าสงสัย แต่ผมก็เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้ว่าประหารกี่คน อะไรแบบนี้ แล้วผมก็ไปอ่าน พระราชพงศาวดาร พบว่ามันมีกล่าวไว้ก่อนหน้าที่คนอ้างอิง สมมุติว่าหน้าที่คนอ้างอิงอยู่หน้า 200 แต่มันอยู่ 190 อะไรแบบนี้ พอเจออะไรแบบนี้บ่อยๆ ท้ายสุดผมจะอยู่ไม่สุข ถ้าไม่ได้ไปอ่านของจริงทั้งเล่ม แล้วผมรู้สึกว่าไอ้เรื่องการละเอียดกับข้อมูลอะไรพวกนี้มันช่วย

อย่างเมื่อวานผมก็ไปเจอข้อมูลนึงในหนังสือของ อาจารย์ น ณ.ปากน้ำ เหมือนกัน เป็นจดหมายรายงานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พูดถึงจิตรกรรมที่วัดสุวรรณารามว่ามีตอนหนึ่งซึ่งงามมาก คือตอนพระเวสสันดรเรียกสองกุมารขึ้นมาจากสระน้ำที่ไปหลบซ่อน ผมอ่านเจอผมก็ตกใจมากเพราะว่า มาเปิดดูหนังสือที่มีจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม มันไม่มีรูปนี้ และผนังที่ผมเชื่อว่าจะมี ก็ดันเป็นผนังที่ผมว่าสวยน้อยที่สุด แต่ว่าสมเด็จท่านยกย่องว่าเป็นภาพที่งามมาก ผมตกใจมาก เดี๋ยวต้องไปดู ต้องไปดูอีกทีว่าอยู่ตรงไหนหรือว่ามันไม่อยู่

ผมว่าไอ้การดูจิตรกรรม มันช่วยผมตรงนี้มาก ช่วยให้ผมกลายเป็นคนซอกแซก และกลายเป็นคนละเอียดขึ้น อันนี้ไม่นับความบันเทิงอื่นๆ

สำหรับผม ดูจิตรกรรมฝาผนัง ไม่ใช่ดูแค่ให้สนุกหรอกครับ ผมว่าดูให้สงบด้วย แล้วผมรู้สึกว่า ตั้งแต่ดูจิตรกรรมฝาผนังมา ผมละเอียดขึ้น ใจเย็นขึ้น สงบขึ้น”

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com, และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail
กำลังโหลดความคิดเห็น