xs
xsm
sm
md
lg

4 คนดังถึง “ชายผู้หาวเป็นลายกนก ฝันเป็นโคลงสี่สุภาพ” อังคาร กัลยาณพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---ตลอดชีวิตของการเป็น “จิตรกวี” ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เจ้าของรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่นคนแรกของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป ปี 2515 , รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ (S.E.A. Write ) ปี 2529 จากผลงานกวีรวมเล่มชื่อ ปณิธานกวี และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์)ปี 2532

มีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้บุคคลที่มีชื่อเสียงหลากหลายวงการ


แต่ละท่านชื่นชอบและชื่นชม กวีบทไหน ภาพเขียนชิ้นใด หรือตัวตนของอังคาร ในเรื่องใดบ้าง ไปรับรู้รับทราบนับแต่บรรทัดถัดไป


+



>>>มีวาจาเป็นอาวุธ มีความบริสุทธิ์จริงใจเป็นปราการ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2523 จากรวมบทกวี “เพียงความเคลื่อนไหว” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(กวีนิพนธ์) ปี 2536 เทใจให้กวีของอังคารบทนี้
 

อนิจจา น่าเสียดาย
ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่หายนั้นลึกซึ้ง
มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์

“เหตุผลที่ชอบเพราะกระทบใจ มีความเป็นสากล คนที่เอาเรื่องส่วนตัวมาทำให้เป็นเรื่องสากลได้ ถือว่ามีทิพยธาตุของจิตใจ  ใครๆอาจจะชอบกวีบทอื่นๆหลายๆบท เช่น ...เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาใดในหล้า... แต่ผมยังเฉยๆชอบบทนี้มากกว่า”
 

เนาวรัตน์รู้จักผลงงานกวีของอังคารครั้งแรกเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

“ตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ที่ธรรมศาสตร์ แล้วก็มีคนวิจารณ์งานของท่านอังคารว่าเป็นงานที่นอกคอก นอกครู แตกขนบ ไม่มีฉันทลักษณ์ จากนั้นผมก็ให้สุจิต (วงษ์เทศ) กับ ขรรค์ชัย (บุญปาน) ซึ่งตอนนั้นเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร พาไปพบท่านที่หลังวัดดีดวด ท่านเช่าบ้านอยู่ที่นั่น นั่งคุยกันเป็นวันเลย
 

ท่านเอางานเก่าๆมาให้ดู ท่านถนัดการเขียนโคลงบวกฉันทลักษณ์ ท่านมีพื้นฐานทางฉันทลักษณ์ ทางแบบแผนแน่น จนกระทั่งมาเป็นตัวของตัวเองได้ ท่านไม่จำเป็นต้องเดินตาม เพราะท่านมีรูปแบบของท่านเอง”
  

นั่นคือรูปแบบของงาน “จิตรกรกวี”
 

“ท่านอังคารถือเป็นสกุลช่าง เป็นต้นแบบของงานทางด้านจิตรกรกวี ยากจะหาใครทำได้อย่างท่าน ฉะนั้นถ้าอยากจะเข้าใจงานของท่าน ต้องอ่านลายมือ แล้วก็ดูรูปเขียนของท่านไปด้วย ถึงจะเข้าใจ
 

ลายมือของท่านที่เป็นบทกวี เป็นงานจิตรกรรมประดับบ้านได้เลย ตัวอักษรของท่านอังคาร มีเหลี่ยมคมในคำ แม้ในความหมายของถ้อยคำก็เป็นคำคม ..บุหงาลดามาลย์ ...ฉมังขลัง ...หรือ... ทิพย์แก้วอาถรรพ์จักรวาล...อะไรอย่างนี้ มีเหลี่ยมคมของถ้อยคำ
 

นอกจากนั้นยังมีเหลี่ยมคมของความคิด เพราะความคิดของท่านอังคารยืนอยู่บนพื้นฐานของพุทธศิลป์ มีขนบและมีคติโบราณอยู่ในนั้น ซึ่งท่านเอามาใช้ทำงานของท่าน แล้วก็เอามาใช้ในการวิพากษ์สถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างแหลมคมด้วย แล้วก็สะใจด้วยว่างั้นเถอะ

ผมถือว่า ท่านอังคารมีวาจาเป็นอาวุธ และมีความบริสุทธิ์และจริงใจเป็นปราการ เราฟังท่านอังคารด่าเรา เรารู้สึกว่าเราไม่ได้โกรธเลย กลับเห็นด้วย ไม่ว่าจะด่าใคร เพราะท่านด่าด้วยความสุจริตจริงใจ ตรงนี้เป็นเสน่ห์อันหนึ่งของท่านอังคาร ท่านมีความบริสุทธิ์ จริงใจ เหมือนกับจะไร้เดียงสา แต่ว่ามีคุณค่ามากตรงนี้ มันเป็นเหมือนปราการของท่าน นี่คือเสน่ห์ในงานของท่านอังคาร”

>>>คือบทกวีและภาพวาดที่ปาดออกมาจากหัวใจ

กล่าวถึงคนที่ชื่นชอบและชื่นชมในงานของอังคาร จะละเลยไม่ถามไถ่ วสันต์ สิทธิ์เขตต์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหว ผู้นี้ไม่ได้ ด้วยเหตุว่ามีความผูกพันกับผลงานของอังคารมาตั้งแต่วัยหนุ่ม และยังเคยมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ผลงานด้วย

“ผมได้อ่านบทกวีของท่านอังคารมาตั้งแต่สมัยอายุ 15-16 ปี เพราะว่าพี่ชายของผมชอบบทกวีของท่านอังคารอยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าชีวิตนี้ของผมจะได้มาเจอท่านอังคาร ต้องกราบคารวะเลย แล้วผมก็เริ่มเขียนบทกวี ตั้งแต่นั้นมา ได้มีโอกาสได้เจอท่าน และได้อ่านงานของท่าน ซึ่งคิดว่าเกือบทั้งหมด

บทกวีทุกบทก็ถือว่าเป็นบทกวีที่เปี่ยมไปด้วยพลังของถ้อยคำ ยากที่จะหาใครมาเทียบได้ เพราะว่าท่านมีพลังในการจินตนาการสูงมาก พูดถึงจักรวาล พูดถึงความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นเศษเสี้ยวของจักรวาล

มาเจอท่านครั้งแรกตอนท่านให้สัมภาษณ์และท่านก็เคยด่าผมครับว่า ไอ้วสันต์มันเป็นตัวเหี้ยยังไง ...เพราะผมเคยวิจารณ์งานของท่านอังคาร ตอนที่ไปสัมมนา กับอาจารย์เจตนา (นาควัชระ) ว่าด้วยเรื่องอัจฉริยะในกวีของท่านอังคาร แล้วผมก็ได้มีโอกาสได้ไปร่วมและได้วิจารณ์เรื่องการใช้ถ้อยคำซ้ำ หลังจากที่ผมได้วิจารณ์ไปแล้ว ภายหลังผมก็ได้ถอนคำพูด เพราะเห็นว่าเราได้ผิดพลาดไป เพราะงานท่านอังคารมันต้องมองทั้งหมด”

แต่ผลงานที่วสันต์ชื่นชอบที่สุดคือ หนังสือรวมความเรียงชื่อ “หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา”

“ ไพเราะมาก แต่บางทีถ้อยคำของท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษมันยาก ถ้าแปลได้ ผมว่าท่านเทียบเท่ากวีใหญ่ๆของโลกนี้ได้เลยครับ และส่วนหนึ่งที่ประทับใจเพราะช่วงหลังผมอ่านความเรียงของท่านด้วย แต่ว่าจริงๆ แล้วบทกวีก็ประทับใจอยู่แล้ว”

อาทิ โคลงชื่อ “โลกเดียวกัน”

โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา
ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ
ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหน ฯ

“ท่านอังคารมีอิทธิพลต่อการเขียนบทกวีของผมตั้งแต่ช่วงต้นเลย แต่บทกวีของท่านอังคาร เป็นบทกวีที่รุ่มรวย รุ่มร้อนทางอารมณ์เต็มที่ งานของท่าน คลาสสิกโบราณ บวกสมัยใหม่ ผมว่าท่านได้ก้าวข้ามอดีต มาอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นโพสต์โมเดิร์นได้”

ขณะที่ภาพวาดซึ่งปาดออกมาจากหัวใจของอังคาร ก็เป็นที่ประทับใจของวสันต์อยู่ไม่น้อย

“งานของท่านอังคารเป็นการใช้เกรยองได้อย่างอิสระที่สุดและรวดเร็ว จะปาดเป็นดอกไม้, กนก หรือจะเขียนรูปคน สามารถเขียนอย่างเป็นอิสระ เหนือความเป็นเกรยอง งานมันมีความหมาย เปี่ยมพลังความรู้สึก ซึ่งไม่มีใครเหมือน ไม่มีใครทำได้อีกแล้ว

บางทีเหมือนท่านไม่ได้ใช้เกรยอง แต่เป็นการใช้นิ้วที่ปาดออกมาจากหัวใจ เวลามองงานของท่าน มันทำให้เราได้ปลดปล่อย และพลิ้วไปตามน้ำหนักมือที่ไหลออกไป ผมว่าสิ่งนี้มันพิเศษมาก”

แต่ก็ใช่ว่าผลงานของอังคารจะหามาครอบครองได้ง่าย เพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมของระบบการค้างานศิลป์

“จนคนต้องมาซื้อจากตัวอักษรที่เป็นลายมือของท่าน ซึ่งเขียนได้ธรรมชาติ ไม่ใช่บรรจงแบบคัดไทย ผมว่าท่านอังคารมีความรักในภาษาไทย รักวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง แล้วก็เข้าไปถึงอดีต พอไปเห็นซากปรักหังพังก็ร้องไห้ โกรธแค้นพม่า (หัวเราะ) จมดิ่งไปเลย ผมว่าในสิ่งนี้มันเป็นอารมณ์กวี เป็นอารมณ์ศิลปินซึ่งยากที่ใครจะมีได้ และท่านอังคารก็เป็นอย่างนั้นครับ”

>>>ท่านยังอยู่!?

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบิดาแห่งวงการกล้วยไม้ไทย เปิดใจว่า ชอบผลงานของอังคารทุกชิ้น
 
“ผมมองกว้าง และต้องมองที่พื้นฐานเลยครับ ท่านเป็นคนมีความจริงใจ และมีความมุ่งมั่นชัดเจนมาก และก่อนที่ท่านจะสิ้นเนี่ย ไม่กี่วันหรอก ผมเจอท่านนะครับ นั่งรถเข็นอยู่ที่สยามพารากอน ผมยังวิ่งไปตัดหน้าท่านเลย แล้วท่านก็โผเข้ามากอดผม

วันนั้นผมไปเดินดูอะไรนิดหน่อย แล้วพอดี คุณศักดิ์ชัย กาย(บรรณาธิการนิตยสาร LIPS) เขาถามว่า คุณพ่อรู้จักท่านอังคารหรือเปล่า ผมบอก รู้จักสิ ไหนล่ะ เขาบอก โน่นไงนั่งรถเข็น ผมเลยวิ่งไปดักหน้า แล้วท่านก็โผเข้ามากอดผมนะฮะ

ท่านชี้บอกผมว่า รากฐานความเป็นไทยหายไปไหนหมด แล้วท่านก็ถามผมว่าร้องเพลงได้ไหม ผมบอกว่าได้ ผมก็ร้องเพลงท่านก็ร้องเพลง รู้สึกผมจะร้องเพลง บัวขาว ( เห็นบัวขาว พราวอยู่ ในบึงใหญ่ ดอกใบ บุปผชาติ สะอาดตา น้ำใส ไหลกระเซ็น เห็นตัวปลา ว่ายวน ไปมา น่าเอ็นดู)

ท่านนับถือผมมาก หลายปีตั้งแต่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งใหม่ๆ พิธีพระราชทานปริญญาครั้งแรก ท่านไป ผมก็ไป พวกบัณฑิตที่เขาจบใหม่ เข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังผม ท่านก็กัน บอกไม่ได้นะ อย่าไปกวนท่านเลย แต่ผมสงสารเด็ก ไม่เป็นไรหรอก โอกาสหน้ามาคุยกันได้

ท่านเคยยกผลงานให้ผมมาเป็นปึ๊งๆ ลายเส้นที่ท่านเขียนนี่ ดูปั๊บ ไม่เหมือนใครเลย เห็นปั๊บ ทราบเลยแหล่ะ ลองไปดูตราของสถาบันอาศรมศิลป์สิ ผมเห็นปั๊บไม่ต้องถามใครเลยว่า ใครทำ

วันนั้นผมไปรดน้ำศพ จับแขนท่านยกขึ้นมาแล้วค่อยๆรินน้ำที่แขน ทำไมต้องทำอย่างนั้น เพราะความรัก เวลาเห็นตัวอักษร เห็นบทกวี เห็นภาพจิตรกรรม หรือเห็นหน้าและอย่าว่าแต่เห็นหน้าเลย ถึงไม่เห็นผมก็นึกถึงท่าน

ถ้าถามว่าท่านยังมีอิทธิพลแก่ผมในแง่ไหนบ้าง ผมจะตอบสั้นๆไม่รู้จะเข้าใจหรือเปล่า...ท่านยังอยู่”

ขณะที่ผู้ฟังรอให้ขยายความมากกว่านี้ แค่ชั่วอึดใจ ก็ได้ยินประโยคคำถามและคำตอบติดตามมาว่า

“เข้าใจไหม? สั้นนิดเดียว ก็ท่านยังอยู่ในหัวใจผมน่ะสิ”

>>>ท่านอังคารเป็นแรงบันดาลใจให้อาตมาเขียนบทกวี

“ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีที่เป็นแรงบันดาลใจให้อาตมา อยู่สองเรื่อง คือ หนึ่ง ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้อาตมา ฝึกอ่าน ฝึกเขียนและ ลุกขึ้นมาเขียนบทกวีตั้งแต่แรกจนทุกวันนี้

และสองในแง่ส่วนตัว ท่านก็เมตตาอาตมามาก เวลาท่านอ่านกวีเสร็จ เมื่อลงจากเวที ท่านมักจะส่งบทกวีที่ท่านอ่าน มาใส่มือให้อาตมาอยู่หลายครั้ง และท่านพูดว่า คนอื่นเขาไม่รู้หรอกว่า กวีมันมีค่าแค่ไหน ผมเอาฝากท่านไว้ดีกว่า ฉะนั้นอาตมาถือว่า เป็นหนี้บุญคุณท่านอังคารในสองเรื่อง"พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)พระชื่อดัง และผู้ก่อตั้ง สถาบันวิมุตตยาลัย กล่าว

"แล้วขอเล่าความหลังนิดนึง มีอยู่วันหนึ่งอาตมา ไปเจอกวีนิพนธ์ของท่านอังคาร ในห้องสอบ โดยที่อาตมาก็ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของกวีนิพนธ์บทนี้ อาตมาจึงคัดลอกบทกวีนี้ใส่ฝ่ามือออกมาจากห้องสอบ เพราะว่าธรรมเนียมของห้องสอบห้ามเอาทุกสิ่งทุกอย่างออกมา อาตมาก็เอากวีนิพนธ์บทนั้นออกมา เพราะว่าถูกอกถูกใจอาตมามากนะ ให้ลูกศิษย์ไปตามหาว่าใครเป็นคนเขียน สุดท้ายก็ไปตามหาได้ในร้านหนังสือร้านหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านหนังสือเก่า

จึงได้รู้ว่ากวีบทนั้น อยู่ในหนังสือชื่อ กวีนิพนธ์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ผลงานบทกวีเล่มแรกของท่าน เป็นบทกวีที่ไพเราะเพราะพริ้งที่สุดเลย ทุกวันนี้ยังไม่มีกวีไทยคนไหนทำลายความอลังการของกวีนิพนธ์บทนี้ได้"

 ซึ่งเป็นโคลงบทเดียวกันกับที่ วสันต์ สิทธิเขตต์ ชื่นชอบ นั่นคือ “โลกเดียวกัน” แต่ท่าน ว.วชิรเมธี ชอบตรงท่อนที่ว่า

ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย
กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย
เมาสมมุติจองหอง หินชาติ
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ฯ

“เพราะโคลงบทนี้ที่ทำให้อาตมาภาพ อยากเขียนกวีนิพนธ์ และก็ฝึกเขียน จนกระทั่งตอนนี้มีกวีนิพนธ์เป็นของตัวเอง 3 เล่มแล้ว (กวีกาพย์ วาดกวี,ห่มฟ้าดินหอม และจักรวาลในถ้วยชา)

แล้วตอนเป็นพระหนุ่มตอนมาอยู่กรุงเทพใหม่ๆ ด้วยความคลั่งไคล้ท่านอังคารและท่านเนาวรัตน์ อีกคนนึงมาก อาตมาถึงกับเอารูปท่านอังคาร และท่านเนาวรัตน์ ซึ่งอ่านเจอในนิตยสารสกุลไทยมาใส่กรอบแล้วก็ตั้งไว้ในห้อง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เพราะฉะนั้นท่านไม่ธรรมดานะ

สำหรับอาตมา ท่านเป็นกวีที่มีความเป็นกวี ทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งวิถีชีวิต จิตวิญญาณ และงานที่ทำ เป็นท่วงทำนองของกวีทั้งหมดทั้งสิ้น และในทัศนะของอาตมา ท่านเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย”

และที่ผ่านมา พระมหาวุฒิชัย ยังนำบทกวีของอังคารไปสอดแทรกในการสอนธรรมะอยู่บ่อยครั้ง

“มีอยู่บทหนึ่งที่อาตมาใช้อยู่ประจำ เป็นบทที่สอนเรื่องคุณค่าของเวลา”

น้ำไหลอายุขัยก็ไหลล่วง
ใบไม้ร่วงชีพก็ร้างอย่างความฝัน
ฆ่าชีวาคือพร่าค่าคืนวัน
จะกำนัลโลกนี้มีงานใด

หลังจากการจากไปของอังคาร ผู้เคยบอกว่า “ผมหาวเป็นลายกนก และ ฝันเป็นโคลงสี่สุภาพ” พระมหาวุฒิชัย ได้เขียนบทกวีเพื่อเป็นการไว้อาลัยว่า

“อังคาร” เป็นถ่านเถ้า ธุลีดิน
“กัลยาณพงศ์” บิน บ่ายฟ้า
เอกอัครศิลปิน ปราชญ์โลก
กายจากหากงานท้า เทพทั้งนาครถวิล

สิ้นอังคารไม่สิ้นศรีกวีแก้ว
ยังเจื่อยแจ้วจำเรียงอยู่ไม่รู้หาย
ทั้งกาพย์กลอนโคลงฉันท์พรรณราย
อมรรตายตราบดินฟ้าล่มหล้าลง

“สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา”
พระพุทธาย้ำเตือนอย่าเลือนหลง
สรรพสิ่งสังขาร์ว่าหยัดยง
วันหนึ่งคงร่วงรุ้งฟุ้งกระจาย

“สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา”
พระพุทธาเน้นหนักจำหลักหมาย
ประดาสิ่งผสมอย่างมงาย
ว่าไม่ตายไม่ภินท์พังอย่าหวังเลย

“สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา”
พระพุทธาสอนสั่งอย่าฟังเฉย
สรรพสิ่งสากลไม่ทนเอย
ที่สุดเผย “แก่นกลวง” ทะลวงตา

อังคารลับลาโลกอย่าโศกเศร้า
กวีเก่ามิเคยแก่ลองแลหา
หากคิดถึงท่านอังคารผ่านเวลา
จงเหลือบตาเริงรสบทกวี.



และหลังจากที่ให้สัมภาษณ์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เสร็จเรียบร้อย

พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิระเมธี)ได้กล่าวว่า "รอสักประเดี๋ยว อาตมาจะขอใช้เวลาหลังฉันท์เพลวันนี้ เขียนถึงท่านอังคาร"

ราว 1 ชั่วโมง บทความ “คิดถึงท่านอังคาร” โดย พระมหาวุฒิชัย แห่งสถาบันวิมุตตยาลัย ก็ถูกเมลมาให้ กองบรรณาธิการ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้

คิดถึงท่านอังคาร โดย ว.วชิรเมธี

>>>แรงบันดาลใจ

ย้อนกลับไปเกือบยี่สิบปี วันหนึ่งขณะกำลังนั่งอยู่ในห้องสอบวิชา “การประพันธ์ไทยสำหรับครู” ผู้เขียนได้อ่านพบกวีนิพนธ์บทหนึ่งซึ่งเป็นข้อสอบที่นักศึกษาจะต้องวิจารณ์ลงในกระดาษคำตอบ พออ่านกวีนิพนธ์บทนั้นจบแล้ว ก็สัมผัสได้ว่า “นี่ไม่ใช่กวีนิพนธ์ธรรมดา” รู้สึกขึ้นมานาทีนั้นว่า ตั้งแต่อ่านกวีนิพนธ์มา ยังไม่มีกวีบทไหนที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความลึกซึ้งขนาดนี้มาก่อน

เมื่อเขียนคำตอบเสร็จแล้ว จึงพยายามขออนุญาตเอากระดาษข้อสอบออกมาจากห้อง เพราะต้องการจะได้กวีนิพนธ์บทนั้นมาไว้สืบค้นว่าใครกันหนอเป็นผู้แต่ง แต่อาจารย์ผู้คุมห้องสอบไม่อนุญาต เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร จึงใช้วิธีคัดกวีนิพนธ์บทนั้นลงบนฝ่ามือ เมื่อออกมาจากห้องสอบแล้ว จึงพยายามตามหาว่า ใครแต่งกวีนิพนธ์บทนั้น หากันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็ไปได้หนังสือรวมบทกวีชื่อ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงษ์” จากร้านหนังสือเก่าที่จตุจักร นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนก็นับท่านอังคาร กัลยาณพงษ์เป็นครูกวีในแบบครูพักลักจำมาโดยตลอด

กวีนิพนธ์บทที่คัดใส่ฝ่ามือออกมาจากห้องสอบนั้น ก็คือ

“โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา
ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ
ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหน”

“ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเลย
กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย
เมาสมมมุติจองหอง หินชาติ
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์”

เหตุที่ความลึกซึ้งของกวีนิพนธ์บทนี้ทำให้ผู้เขียน “ประทับใจ” ในระดับที่เรียกกันว่าเกิดอาการ “องค์กวีลงประทับ” ก็เพราะเนื้อหาทั้งหมดไปสอดคล้องกับหลักธรรมชื่อ “อิทัปปัจจยตา” (สิ่งนี้มีเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย) อันเป็นหลักธรรมระดับปรมัตถธรรมของพุทธศาสนานั่นเอง

ท่ามกลางกวีที่เขียนกวีเพื่อส่งประกวดรายปี ซึ่งเด่นและแม่นในทางฉันทลักษณ์ ทว่าเบาหวิวในแง่เนื้อหาสาระ งานของท่านอังคาร กัลยาณพงษ์ ซึ่งสุขุมลุ่มลึกและมากด้วยอหังการของกวีที่สำแดงออกผ่านโคลงฉันท์กาพย์กลอนจึงเหมือนกับเพชรนิลจินดาที่สุกสว่างอยู่ท่ามกลางกองกรวดกองทรายนับอนันต์

ตอนที่เริ่มเรียนเขียนกลอนใหม่ๆ ผู้เขียนยังเคยเอารูปของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ (และรูปอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ซึ่งตัดมาจากนิตยสารสกุลไทยมาใส่กรอบตั้งไว้ในห้อง เดินเข้าเดินออกก็เห็นท่านทุกวัน ทำให้ไฟกวีในตัวรุ่งโรจน์โชตนาอยู่เสมอ และที่รักการเขียนโคลงอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะความหลงไหลในโคลงของท่านอีกนั่นเอง

>>>ความเมตตาของครู

เวลาไปร่วมงานบางงานที่มีท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นผู้อ่านกวีนิพนธ์ บ่อยครั้งเมื่ออ่านกวีนิพนธ์เสร็จแล้ว ท่านอังคารจะนำเอาต้นฉบับกวีนิพนธ์บทนั้นที่เขียนด้วยลายมือมามอบให้กับผู้เขียนด้วยมือตนเอง โดยท่านมักพูดขำๆ ด้วยเสียงดังอย่างเป็นเอกลักษณ์ว่า “ผมขอมอบให้พระอาจารย์เก็บไว้ดีกว่า เพราะคนพวกนั้นไม่รู้จักคุณค่าของบทกวีหรอก”

>>>อัจฉริยลักษณ์ของท่านอังคาร

ลักษณะพิเศษในงานของท่านอังคาร คือ

(๑) ความลุ่มลึกของทัศนะต่อโลกและชีวิต ที่แสดงออกมาอย่างมีความเป็นสากล โดยเฉพาะในงานยุคต้นๆ ที่มีความสดใหม่ ดุดัน กราดเกรี้ยว คมกริบ เช่น บทที่ว่า


“ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ
อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์
ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ
ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ

เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นหรือ
ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ
หยาบยโสกักขฬะอธรรม
เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์

ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์
จงผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน
หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน
ทรมานทุกร้อนร้ายนิรันดร์เอย”

ที่ว่าเป็นสากลคือกวีนิพนธ์ของท่านนั้นมีความลุ่มลึกเลยระดับปรากฏการณ์ต่างๆ เฉพาะหน้าออกไป ใกล้เคียงกับงานของคาลิล ยิบราน คือ มีความเป็นวรรณกรรมและสัจธรรมพร้อมกันอยู่ในตัว เช่น บทกวีที่ชื่อ “โลก” ที่ยกมาให้อ่านข้างต้นนั้น

(๒) ความเป็นนายของภาษา ท่านอังคารใช้ภาษาในงานกวีของท่านโดยไม่แคร์ราชบัณฑิตยสถานและไม่แคร์ครูภาษาไทย บางบทใช้คำหยาบ แรง และดิบเถื่อนจนอ่านแล้วแทบได้ยินทั้งเสียง สัมผัสทั้งสีและกลิ่น

(๓) ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมชนิดที่ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ถ้าท่านเห็นว่า ไม่ถูกต้องแล้ว ท่านจะสับแหลก โดยเฉพาะกับนักการเมืองจอมฉ้อฉลด้วยแล้ว ท่านไม่เพียงร่ายกวีถึงหากแต่ท่านแช่งผ่านกวีเลยด้วยซ้ำ

(๔) ความคิดนอกกรอบกล้าที่จะแหกขนบเดิมๆ ออกมาจนสามารถสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเองได้อย่างโดดเด่นทั้งทางวรรณศิลป์และทางวิจิตรศิลป์

งานเขียนของท่านอังคารเป็นทั้งวิจิตรวรรณกรรมและเป็นทั้งวิจิตรศิลปกรรมที่หาคนเสมอเหมือนได้ยาก โดยเฉพาะงานปาดเกรยองของท่านนั้นคมกริบจนเวลาเราดูภาพก็ให้รู้สึกเกรงไปว่ายอดแหลมๆ ของลายกนกจะทิ่มตาเอาได้

ดูงานศิลปะของท่านจึงต้องเจริญสติให้ดีๆ ฟังท่านอ่านกวีก็ต้องฟังอย่างลึกซึ้ง มิเช่นนั้นแล้ว ท่านอาจหยุดอ่านแล้วด่าเอาซึ่งๆ หน้า หรือเวลาที่ท่านซึ้ง ท่านก็ร้องให้ออกมาเหมือนเด็กๆ ที่อุ้มความไร้เดียงสาเอาไว้เต็มที่

ความเป็นกวีของท่านอังคารนั้นต่างจากกวีทั่วไป คือ ท่านเป็นกวีทั้งเนื้อทั้งตัว ไม่ได้เป็นบางฤดูเหมือนกวีบางคน ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า


“ผมหาวเป็นลายกนก และฝันเป็นโคลงสี่สุภาพ”

เวลาท่านอ่านกวีจึงต้องฟังทั้งกวีและต้องอ่านสิ่งที่ท่านแสดงออกมาในเวลานั้นไปพร้อมๆ กัน ท่านเล่าว่า ท่านจะยังไม่รีบบรรลุนิพพาน ขออยู่เขียนกวีที่ท่านรักไปพลางๆ ก่อน เนื่องเพราะท่านเป็นกวีมาหลายภพหลายชาติ แม้ชาติหน้าก็จะขอกลับมาเป็นอีก หรือต่อให้ตกนรกไปหมกไหม้อยู่ในกระทะทองแดง หากไม่ร้อนเกินไปนัก ท่านก็จะร่ายกวีกลางกระทะทองแดงให้สัตว์นรกฟัง

(๕) อารมณ์ขันอันร้ายเหลือ พอ ๆ กับอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เป็นอารมณ์ขันปนเมตตา อารมณ์ขันที่กลั่นมาจากปฏิภาณเฉพาะหน้า ไม่ใช่มาจากมุขตลกตื้นๆ แต่เกิดจากการจบโลกเจนธรรมจนหยิบมาอำมาด่าได้อย่างมีศิลปะ คือ ใครถูกด่าแล้วถ้าไม่ขมขื่นก็เกือบบรรลุธรรมน้อยๆ ที่สำคัญเราไม่รู้ว่าท่านจะขำหรือด่าใครเมื่อไหร่ อยู่ใกล้ๆ ท่านในงานต่างๆ จึงต้องดูทิศทางลมให้ดี แต่นี่ก็เป็นเสน่ห์ที่หาคนเลียนแบบได้ยาก

(๖) เป็นนักอุดมคติ กล่าวคือ เป็นศิลปินที่ไม่ยอมขายจิตวิญญาณของตัวเองให้แก่คนที่ไม่เห็นคุณค่าของงานศิลปะที่ตนเองสร้างสรรค์ ชีวิตของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ในแง่นี้สอดคล้องกับโคลงโลกนิติที่ว่า

“ถึงจนทนสู้กัด กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง จับเนื้อกินเอง”

หมายเหตุ:เชิญร่วมกิจกรรม "ป๋วยเสวนาคาร" ในหัวข้อ "อัจฉริยภาพของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์"

วิทยากร เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ เทพศิริ สุขโสภา ดำเนินรายการโดย หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ

วันที่ 29 กันยายน 2555 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ.ป๋วยเสวนาคาร ชั้น 2 ศูนย์เผยแผ่พุทธมามกะ โรงเรียนวัดปทุมคงคา( เยาวราช ) ถ.ทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทร 0-2639- 1311-2

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com, และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail
กำลังโหลดความคิดเห็น