“วิทยาลัยวันศุกร์” ห้องเรียนที่ทุกคนเป็นได้ทั้งครู และนักเรียน ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2555 เวลา 19.00-21.30 น. ที่ห้อง E 105 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มอ.หาดใหญ่ ในรายการเสวนาหัวข้อ...
“ศิลปิน ศิลปะ : การปฏิรูปเพื่อขับเคลื่อนภาคประชาสังคม” โดย อ.สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปศิลปินจังหวัดสงขลา
สำหรับ อ.สถาพร ศรีสัจจัง จากคำประกาศเกียรติคุณเมื่อครั้งได้รับยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2548” ระบุว่า
นายสถาพร ศรีสัจจัง เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2493 ที่จังหวัดพัทลุง เป็นกวีและนักเขียนที่สร้างผลงานหลายประเภททั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวยนิยาย บทความ ปกิณกะคดี และวรรณกรรมเยาวชน ผลงานหลายเรื่องได้รับการยกย่อง ได้รับรางวัล และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น บทกวี “ดาวเหนือ” เรื่องสั้น เรื่อง “คลื่นหัวเดิ่ง” วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “เด็กชายชาวเล” เป็นต้น
สถาพร ศรีสัจจัง เป็นกวี และนักเขียนที่เป็นนักคิด นักอุดมคติ และนักต่อสู้เพื่อสังคม ผลงานวรรณศิลป์ของสถาพร ผูกติดอยู่กับความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สถาพรวัยหนุ่มอยู่ในช่วงที่ประชาชนถูกย่ำยีด้วยอำนาจอันไม่เป็นธรรม เขาเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้นั้นด้วยพลังกาย พลังใจ และพลังปัญญาที่กลั่นออกมาเป็นเรื่องสั้น และบทกวีมากชิ้น งานเขียนของเขากล่าวแทนใจของนักต่อสู้คนหนุ่มสาวในยุคแสวงหา ผลงานของเขาจึงเป็นการสานต่อแนวคิดของกลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต และวรรณกรรมเพื่อประชาชน แม้ว่างานเขียนของสถาพร ศรีสัจจัง จะสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น แต่สามารถสร้างประสบการณ์ร่วมแก่ผู้อ่านทั่วไป สำหรับสถาพร ศรีสัจจัง อุดมคติ วิถีชีวิต และการสร้างสรรค์วรรณกรรมคือ สิ่งเดียวกัน หากเป็นการเดินเรือ เขาหันหัวเรือเข้าสู่คลื่น ในงานวรรณศิลป์ เขาหันเข้าปะทะความไม่ถูกต้องอย่างไม่หวั่นกลัว ดังนั้น จุดเด่นในงานประพันธ์ของเขาคือ การสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องเป็นธรรม และการต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาโดยไม่ย่อท้อหวาดหวั่น โดยใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่งดงาม คมคาย และเข้มข้นด้วยพลังอารมณ์สะเทือนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทกวีของเขามีลีลาจังหวะ และมีพลังเสียงที่ประสานกับพลังของถ้อยคำอย่างหนักแน่น บทกวีของเขาจึงมีความโดดเด่น มีน้ำเสียง เข้ม ห้วน และมีพลังแรง ราวประกาศเอกลักษณ์ของคนใต้ แต่ขณะเดียวกัน มีความหวานซึ้งของอารมณ์กวี สถาพรมีความจัดเจนในถ้อยคำ เขาสามารถเล่นคำ เล่นเสียง ผสานคำท้องถิ่น และส่วนกลางได้อย่างมีรสอารมณ์ ยิ่งประกอบกับการที่เขามีความตระหนักในปัญหาของสังคม และมีความเข้าใจ เห็นใจชีวิตของคนทุกข์ยากที่ถูกเอาเปรียบ กวีนิพนธ์ของเขาจึงเข้มข้นทั้งเนื้อหา และลีลาวรรณศิลป์ จนอาจกล่าวได้ว่า กวีนิพนธ์ของสถาพร ศรีสัจจัง เป็นต้นแบบของตระกูลช่างสลักถ้อยคำ เป็นงานวรรณศิลป์ที่สืบสานต่อมาในกลุ่มกวีร่วมสมัยที่เป็นชาวใต้ เป็นนักอุดมคติที่ไฟไม่เคยมอด ด้วยฝีมือในเชิงช่างวรรณศิลป์ที่ไม่เคยตก สถาพร ศรีสัจจัง ยังสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงบันดาลใจแก่กวี และนักเขียนรุ่นน้องให้สืบต่ออุดมการณ์ ความคิด และสืบสานอัตลักษณ์แห่งวรรณศิลป์ของเขาต่อมา