xs
xsm
sm
md
lg

"นิรโทษฯ"ทำเสื้อแดงแตกยับ ขวัญชัยฟัดธิดาแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวถึงกรณีคนเสื้อแดงภาคอีสาน 20 จังหวัด ประกาศไม่ร่วมทำกิจกรรมกับ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า เป็นการแสดงจุดยืนของกลุ่ม ว่าไม่พอใจนางธิดา เพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมทั้งองค์กร เพราะยังศรัทธานปช. เหมือนเดิม
ทั้งนี้ ความไม่พอใจเริ่มตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ที่โบนันซา ซึ่งนางธิดา ไม่ให้เวลาแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสานได้ขึ้นเวทีแนะนำตัว แต่กลับเอาเวลาไปร้องรำทำเพลง โดยนายขวัญชัย มองว่า นางธิดาไม่ได้มาจากแดงแท้ แค่พวกอยากดัง ขึ้นมาเป็นประธานนปช. ทั้งที่ไม่มีมวลชน วางมาดเป็นนางพญา พยายามสร้างราคาให้คนดูไบเห็น หวังได้ตำแหน่งอย่างแกนนำรุ่นแรก เลยเอาคนตาย คนติดคุก มาหากิน ปลุกระดมมวลชน
"ทุกวันนี้ นปช.เสื่อมลงเรื่อยๆ เคลื่อนไหวโดยไม่ฟังคนแดนไกล ทั้งที่ขับเคลื่อนด้วยเงินของคนแดนไกล หลงตัวเอง ว่ารัฐบาลชุดนี้เกิดได้เพราะเสื้อแดง เสื้อแดงเป็นของคุณหรือ มันไม่ใช่" นายขวัญชัย กล่าว พร้อมฝากถึงนายจตุพร ว่า หลังจากนี้คงคิดอะไรได้มากขึ้น และอย่าหูเบาอีก ส่วนตนเองและนางธิดา คงจะต่างคนต่างอยู่ โดยย้ำว่ากลุ่มคนเสื้อแดงอีสาน จะไม่ร่วมกิจกรรมกับนปช.อีก หากมีนางธิดา เป็นคนนำ

**"เหวง"ปัดไม่เคยรับใช้ปชป.

นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณี นายขวัญชัย ประกาศไม่ร่วมงานกับ นางธิดา โดยอ้างว่านางธิดา เป็นพวกเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ มาก่อนนั้น ก็เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนายขวัญชัย เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสิน
ส่วนที่บอกว่าตนเคยเป็นพวกเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาได้วิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง ตั้งแต่ช่วงวิกฤตไอเอ็มเอฟ สมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จึงยืนยันว่านายขวัญชัย พูดเท็จ และคำพูดทั้งหมดของนายขวัญชัยในอดีต ก็เป็นเท็จทั้งหมดด้วย เนื่องจากเป็นการพูดเข้าข้างตัวเองมากเกินไป แต่ไม่พูดถึงความเป็นจริง
ทั้งนี้ไม่เชื่อว่ากรณีนี้จะทำให้คนเสื้อแดงแตกแยก เพราะที่ผ่านมาคนเสื้อแดงมีความแนบแน่นดี เห็นได้จากมีผู้สมัครเข้าเรียนโรงเรียนนปช. เป็นจำนวนมาก และประชาชนก็มีวิจารณญาณแล้ว
นพ.เหวง ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการเร่งรัดให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำนปช. ได้ยื่น ร่าง พ.ร.ก.ฉบับ นปช. ที่มี 4 มาตรา พร้อมกับคำอธิบายประกอบไปให้ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แล้ว รวมทั้งนายกฯ ก็นำร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งในส่วนของนปช. , ฉบับคอ.นธ. ของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ฉบับของกลุ่ม 29 มกรา ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว คาดว่า 1-2 เดือน น่าจะมีความเห็นกลับมา ขณะที่ส.ส.เพื่อไทยบางส่วน กำลังรอดูท่าทีกฤษฎีกา ว่าจะมีความเห็นอย่างไร หากชี้ทางมาว่า ฉบับนายอุกฤษ เป็นไปได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการรวบรวมรายชื่อส.ส.เสนอเข้าสู่สภา ตามกระบวนการต่อไป
เมื่อถามว่า พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของนปช. ที่ยังต้องมีการตีความ โดยเฉพาะคำว่า ผู้มีอำนาจสั่งการ หมายรวมถึงแกนนำที่ขึ้นเวทีด้วยหรือไม่ นพ.เหวง กล่าวทันทีว่า ใช่ ตน นายณัฐวุฒิ นายจตุพร เป็นแกนนำมีอำนาจในการตัดสินใจและหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งแกนนำที่เคยถูกยื่นฟ้องทั้ง19คนนั้น ใช่ทั้งหมด ใครก็ตามที่เคยเข้าร่วมวงประชุม นปช. ใช่ทั้งหมด ถือเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ แต่ใครจะพูด ไม่พูดในที่ประชุมก็แล้วแต่ พอออกมาเป็นมติถือเป็นผู้มีส่วนร่วมตัดสินใจ
เมื่อถามว่า นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.เพื่อไทย อ้างทำนองว่า ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือสั่งการ นพ.เหวง กล่าวว่า แต่ละคนมีสิทธิ์จะตีความตามแนวทางตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริงในวงประชุมที่เคยประชุมกัน หรือมีลักษณะร่วมในการตัดสินใจ ถือว่าใช่ แกนนำนปช.ไม่เอานิรโทษกรรม เรายินดีเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นพ.เหวง กล่าวอีกว่า อยากให้นักกฎหมายตีความเป็นประโยชน์ของประเทศ ที่เคยบอกว่าพ.ร.ก.นิรโทษฯ ไม่เข้าตามหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 เนื่องจากไม่เกี่ยวกับภัยพิบัติ ความมั่นคง หรือความจำเป็นเร่งด่วนนั้น ส่วนตัวมองว่าใช่ เพราะยังมีคนติดคุกกว่า 30 คน คนที่มีหมายจับนับพันคน คนที่ไม่ติดคุก แต่ได้รับการประกันตัวก็อีกมาก การตีความควรตีความในเชิงที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อสาธารณะด้วย ซึ่งมีความจำเป็นทั้งแง่ความฉุกเฉินเร่งด่วน การปัดป้องป้องกันภัย คนที่ติดคุกกัดฟันรอมากว่า 3 ปีแล้ว เรากังวล เพราะถ้าให้ความขัดแย้งเรื้อรัง จะนำไปสู่ความเกลียดชังหนักหน่วงยิ่งขึ้น
ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่าแกนนำเสื้อแดงใจดำ ไม่ยอมช่วยเหลือคนเสื้อแดง มุ่งแต่จะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น นพ.เหวง กล่าวว่า ไม่ช่วยได้อย่างไร สิทธิการให้ประกันตัวอยู่ที่ศาล นายอภิสิทธิ์ เข้าใจกฎหมายหรือไม่ เราพยายามช่วยเหลือมาตลอดจากคนที่ติดคุกนับพัน ช่วยจนเหลือหลักร้อย เราช่วยแล้วแต่ศาลไม่ให้การประกันตัว เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไมใช่ เป็นคดีที่ดินรัชดา ลงนามให้ภริยาไปซื้อที่ ซึ่งมันคนละเรื่อง อันนี้เป็นความผิดจากความขัดแย้งทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ พยายามพูดให้ประชาชนไขว้ไขว สับสน

** "ตู่"อัด"ขวัญชัย"ทำตัวเป็นศัตรู

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำกลุ่มเสื้อแดง 20 จังหวัดภาคอีสาน ต่อต้านและไม่ขอเข้าพวกกับนางธิดา ว่า มีความพยายามทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในขบวนการคนเสื้อแดง มีทั้งการแบ่งแยกแล้วปกครอง และแบ่งแยกแล้วทำลาย ซึ่งอยากให้ดูกรุงศรีอยุธยาแตกทั้ง 2 ครั้ง เพราะมีคนไปเปิดประตูให้พม่าเข้ามาตีเมือง คำว่า แกนนำ เป็นคำสมมติที่พี่น้องได้มอบให้ในการชุมนุม ไม่ใช่สิ่งที่อยู่จีรังติดตัวใครไปจนตาย ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการที่มีสิทธิเสรีภาพเป็นอิสระ และเป็นอุปสรรคขวากหนามของอำมาตยาธิปไตย เขาจึงพยายามทำลาย บางครั้งมิตรก็เผลอไปกลัวตามศัตรู คนเสื้อแดงจึงเจอมิตรที่ไม่เข้าใจ และศัตรูที่จ้องทำลาย ถ้าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ตนว่าเขาคิดผิดมากที่สุด เพราะคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ วีรชนและพี่น้องที่ติดคุกอยู่ทุกวันนี้
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นกับขบวนการคนเสื้อแดงอีกแล้ว ซึ่งก็เป็นเจ้าเก่า เจ้าประจำ แต่วิธีการที่พยายามอธิบายว่า ไม่พอใจนางธิดา น.พ.เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และตน ถึงขนาดระบุว่านางธิดา และ นพ.เหวง เป็นประชาธิปัตย์ เรื่องนี้เป็นอาวุธที่ออกมาจากคนที่เป็นมิตร และที่สำคัญที่สุดคือ ศัตรูนำเอาไปใช้ เขาอยากว่าอะไรก็ว่าได้ แต่อย่าว่าพวกเราเป็นประชาธิปัตย์
ทั้งนี้เหตุผลที่เขาไม่พอใจ ก็เป็นเหตุการณ์ที่ใช้ไม่ได้ คือมาเวทีแล้วไม่ได้ขึ้นพูด คุณต้องพังเวทีด้วยหรือ การจัดคิวบนเวที ไม่ใช่เรื่องของนางธิดา แต่กลับเอาอารมณ์ไม่พอใจ เพียงแค่การไม่ได้ขึ้นเวที แล้วมาชี้หน้าประธานนปช. ว่าเขาเป็นพวกประชาธิปัตย์
" ที่ออกมาแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม โดยบอกว่าให้รัฐบาลอยู่ได้ก่อนนั้น นายกฯก็ไม่เคยพูดว่า จะแก้ในปีสุดท้าย หรือแก้ใน 3 เดือนสุดท้าย แต่คนในของพวกเราบอกให้เอาไว้ปีสุดท้าย ขอให้ย้อนดูวันที่ตัวเองติดคุก พี่น้องอยู่ที่เรือนจำ ก็ไม่ได้รู้สึกต่างกัน ถ้าผมไปบอกว่าพี่น้องติดคุกไปก่อนเถิด แล้วแก้ในปีสุดท้าย ผมก็เป็นคนใช้ไม่ได้ และรัฐบาลก็ไม่ได้พูดแบบนี้ การนิรโทษกรรมเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนเท่านั้น และได้โปรดอย่าอธิบายว่า ให้ประชาชนถูกขังไปก่อน เพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้ พูดอย่างนี้ไม่ใช่การช่วยรัฐบาล แต่เป็นการทำร้ายรัฐบาลมากกว่า ดังนั้นคนที่ขัดขวางการนิรโทษกรรมต่างหาก คือคนที่ทำร้ายรัฐบาล เวลานี้เต็มไปด้วยการเสี้ยม อย่าคิดว่าใครยิ่งใหญ่กว่าใคร การวิพากษ์โจมตีประธานนปช. คือการทำลายขบวนการประชาชน ยืนยันไม่ใช่เรื่องการแตกแยก ในสนามการต่อสู้นี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ที่สำคัญผมไม่เคยกลัวศัตรู แต่กลัวมิตรมาทำลายคนเสื้อแดงมากกว่า การเดินแบบนั้นเป็นการทำลายทั้งตัวเอง และขบวนการประชาชน ยังมีเวลาที่คุณจะได้คิด และปรับกันใหม่ สนามประชาชนพร้อมอภัยเสมอ" นายจตุพร กล่าว
ด้านนายนิสิต สินธุไพร ผอ.โรงเรียนนปช. กล่าวว่า มีข่าวมาตลอดว่า แกนนำภาคอีสานพยายามจะแยกตัวจาก นปช. ปัญหาคือ คนบางคนพยายามสร้างตัวเองให้เป็นคนสำคัญ และพยายามสร้างภาคอีสานแยกต่างหากจากนปช.ส่วนกลาง เขาพยายามมา 5-6 ปีแล้ว ขอเรียนว่า การชุมนุมแต่ละครั้งภาคอีสานจะมาร่วมมากที่สุด แต่พี่น้องประชาชนเขาขึ้นตรงกับนปช. แม้คนบางคนจะไม่ขึ้น และเหลืออยู่คนเดียวก็ตาม ระหว่างการต่อสู้มีมิตรของเราพยายามทิ่มแทงขบวนการตัวเอง แต่ทำไม่สำเร็จ ขอเตือนว่า มิตรคนนี้เคยติดคุกด้วยกัน ช่วงติดคุก 6 เดือนกว่า อยากออกจากคุกมาก ร้องห่มร้องไห้ตลอด วันนี้มาประกาศเรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อความยิ่งใหญ่ส่วนตัว ขอบอกว่าพี่น้องประชาชนภาคอีสาน ขึ้นกับขบวนการนปช. ไม่ได้ขึ้นกับแกนนำ ใครจะสถาปนาตัวเองให้ยิ่งใหญ่ และรวบหัวรวบหางประชาชนก็ไม่มีวันสำเร็จ ในภาคอีสานมีขบวนการซ้อนขึ้นมาเพื่อทำลายนปช. แต่แพ้ภัยตัวเองทุกคน คนที่แยกตัวเองเพื่อหวังยิ่งใหญ่ สุดท้ายก็อย่ากลับมาขึ้นเวที นปช. อีกเลย

**"ธิดา"อวดรู้ จี้ ธปท. ลดดอกเบี้ย

นางธิดา ถาวรเศษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ (นปช.) แถลงว่า ขณะนี้มีปัญหาหลายปัญหา โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่รัฐบาลขณะนี้ยังแก้ไม่ได้ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งที่ผ่านมานปช. ไม่เคยแตะธปท. แต่ขณะนี้แม้รัฐบาลก็ยังทำอะไรกับธปท. ไม่ได้ โดยเฉพาะ ผู้ว่าฯธปท. เราก็รู้จักกันดี ตั้งแต่สมัย 14 ต.ค.16 แต่เวลานี้เราขอตั้งคำถามว่า ท่านกำลังรักษาประโยชน์ของกลุ่มทุนการเงิน เพื่อรักษาเครือข่ายอำมาตย์หรือไม่ จึงไม่ยอมลดดอกเบี้ยลงมา ท่านกำลังรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุน และคนรวยมากกว่า ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนกำลังจับตาดูอยู่
นอกจากนั้นขอถามไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่กำลังจะหมดอายุความในเดือนมิ.ย.นี้ ป.ป.ช.เป็นเครือข่ายอำมาตย์ที่ทำตัวเป็นองค์กรอิสระ เลือกปฏิบัติในการที่จะตรวจสอบเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่เครือข่ายอำมาตย์ หรืออย่างไร
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เช่นกัน ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ เราจะเดินทางไปยังกกต. เพื่อขอให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งคนเสื้อแดงจะจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ต่อไป โดยจะมีสมาชิกกว่า 1.2 หมื่นคน มาร่วมเป็นอาสาสมัครในการตรวจสอบการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 3 มี.ค.นี้

** ปชป.ย้ำจุดยืนไม่นิรโทษแกนนำ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ระบุว่า ได้มีการพูดคุยกับ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการแนวทางนิรโทษกรรมแล้วว่า นายไตรรงค์ ได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับตนแล้ว ซึ่งนายไตรรงค์ก็ได้ยืนยันในจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจน คือ
1. พรรคเห็นด้วยในการนิรโทษกรรม ผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
2. กรณีที่จะมีกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกว่าใครสมควรได้รับการนิรโทษกรรมนั้น นายไตรรงค์ บอกชัดไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วย
" ทั้งนี้ทางที่ดีรัฐบาลจะต้องถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่ค้างอยู่ในสภาฯ ทั้ง 4 ฉบับออกไปก่อน แต่ที่รัฐบาลไม่ยอมทำ ก็เพราะพยายามพ่วงคนอื่นเข้าไปให้ได้ ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนใจแคบ แต่เป็นเรื่องของคนใจดำมากกว่าที่เป็นคนสั่งการ และกระตุ้นให้เขามาชุมนุม พอจะช่วยเขาก็จะพ่วงนาย และตัวเองไปด้วย เพราะได้รับการตอบแทนจนเป็นอำมาตย์ไปแล้ว ก็เลยไม่ยอม ใช่หรือไม่ ตอนนี้กลุ่มแกนนำก็เริ่มซัดกันแล้วว่า คนไหนเป็นแกนนำตัวจริง คนไหนสั่งการได้ หรือสั่งการไม่ได้ จึงชัดเจนว่า คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งที่ไม่มีเหตุผลที่จะไปนิรโทษกรรม ระดับแกนนำ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** ส.ว.เผยเข้าหารือ"เจริญ"ถกนิรโทษกรรม

นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม กล่าวยอมรับว่า ได้เข้าพบและหารือในประเด็นแนวทางนิรโทษกรรม กับนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จริง แต่ไม่ได้มีการต่อรองในเงื่อนไข หรือประเด็นใดๆ อย่างที่สังคมสงสัยว่าต้องการทำเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดหรือไม่ ซึ่งนอกจากตนแล้วยังมี ส.ว. อีก 2–3 คน เข้าพบนายเจริญด้วย โดยสาระที่หารือคือ แนวทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ และที่ผ่านมามีแต่คนพูดว่า ต้องการเห็นความปรองดอง แต่ไม่มีคนลงมือทำ ทั้งนี้ตนสนับสนุนแนวทางที่นายเจริญ เชิญตัวแทนกลุ่มสี และพรรคการเมืองเข้ามาหารือนอกรอบ เพื่อวางกรอบในการทำกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การลดความขัดแย้ง
"ก่อนหน้านี้ ท่านนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เคยพูดเหมือนกันว่า ต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในชาติ ดังนั้นแนวทางนี้จะได้รับการตอบรับจากวุฒิสภา แต่การสรุปว่า จะเห็นด้วยกับการออกกกฎหมายฉบับใด หรือไม่นั้น ต้องคุยกัน โดยยอมรับว่าขณะนี้ ส.ว.มีความคิดอิสระ และหลากหลาย" นายประวัติ กล่าว

** แกนนำแดงอย่าเอาปชช.เป็นตัวประกัน

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า แนวคิดการออกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการนิรโทษกรรม จำนวน 2 ฉบับ คือ นิรโทษกรรมให้ประชาชนซึ่งมีความผิด ฐานฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม และ บรรเทาความขัดแย้ง ว่า ส่วนตัวคัดค้านการทำกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม เนื่องจากในทางปฏิบัติ รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกำหนด ออกมาโดยเฉพาะได้ รวมถึงเชิญเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), อัยการ และตำรวจ มาหารือถึงแนวทางการไม่สั่งฟ้องประชาชนที่กระทำความผิด หรือ ถอนฟ้อง เนื่องจากหลักฐานอ่อน หรือ หลักฐานมีไม่เพียงพอได้ จากนั้นนำส่งให้ศาลพิจารณายกฟ้องได้
ทั้งนี้กลุ่มมวลชนทั้ง สีเหลือง, สีแดง และเสื้อหลากสี ก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด กรณีแนวคิดว่าต้องออก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวน 2 ฉบับ โดยแยกเป็นประชาชน กับ แกนนำนั้น ตนมองว่าเป็นการนำประชาชนมาเป็นตัวประกัน หากจะให้ประชาชนที่มาชุมนุมได้รับการนิรโทษกรรม ต้องพ่วงกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับแกนนำ หรือผู้สั่งการ หรือหากไม่ยอมพิจารณาร่วมกัน ประชาชนก็จะไม่ได้รับปลดปล่อย

**ชี้ ร่างนิรโทษฯ คอ.นธ.บกพร่องเพียบ

นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะทำงานด้านกฎหมาย ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า คณะทำงานได้หารือร่วมกับ ส.ว.ที่เกี่ยวข้อง ตามที่นายนิคม ระบุให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 พ.ศ....... ของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับดังกล่าว มีปัญหา อาทิ ในมาตรา 1 ที่ระบุช่วงเวลาที่จะให้นิรโทษกรรมให้บุคคลที่กระทำความผิด เนื่องในการชุมนุม ถือว่าเขียนไว้กว้าง และนานถึง 4 ปี
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 วรรคแรก การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญกำหนด และ มาตรา 3 ว่าด้วยลักษณะความผิดของบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เมื่อพิจารณาตามตัวบทแล้วอาจทำให้เกิดการนิรโทษกรรมแบบเหมาจ่าย และอาจเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ที่ก่ออาชญากรรม ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยเช่นกัน
"หากพิจารณาจากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกเมื่อในอดีต จะระบุชัดเจนถึงพื้นที่ , กลุ่มบุคคล ที่จะได้รับนิรโทษกรรม แต่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ คอ.นธ. เขียนไม่ชัดเจน อาจเป็นเหตุให้บุคคลที่ทำผิดกฎหมายอื่นมาสวมรอยนิรโทษกรรมได้ อีกทั้งคณะทำงานด้านกฎหมายเห็นว่าช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะกระบวนการทางศาล และกระบวนการยุติธรรมสามารถเดินหน้าไปได้อยู่" นายตวง กล่าว
นายตวง กล่าวอีกว่าในความเห็นส่วนตัว มองการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถือเป็นปลายทางของการสร้างความปรองดอง แต่สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งขณะนี้คือ รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการทำนโยบาย และสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ภาคสังคมได้ร่วมแสดงความเห็นต่อปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา จนได้ข้อสรุปตกผลึก ก่อนจะออกกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น