xs
xsm
sm
md
lg

อัด”ปู”เลิกจับเสื้อแดง เป็นตัวประกันช่วยแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แกนนำแดงสาย "นิติเรด" บุกทำเนียบฯ ยื่นร่างแก้ไขรธน.ฉบับนิรโทษกรรม พร้อมจี้รัฐปล่อยนักโทษการเมืองให้หมดเรือนจำ ขู่ไร้คำตอบก่อน18.00น. ปิดทำเนียบฯ รัฐบาลยื้อเวลาโยนกฤษฎีกาพิจารณา ด้านปชป.อัดรัฐบาลเลิกจับเสื้อแดงเป็นตัวประกันเพื่อช่วย"แม้ว" ชี้รัฐบาลดันพ.ร.บ.นิรโทษแน่ หวังล้างโทษแกนนำแดง

เมื่อเวลา 08.00 น. วานนี้ (29 ม.ค.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง (นปช.) ในนามกลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง นำโดย นางสุดา รังผูกพันธ์ และนางดารณี กฤติบุญยาลัย พร้อมสมาชิกจำนวนมาก ได้มารวมตัวกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อจัดกิจกรรม “หมื่นปลดปล่อย” ก่อนเคลื่อนตัวมาอยู่ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล จำนวน 7 กองร้อย มาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยรอบทำเนียบฯ โดยกลุ่มผู้ชุมนุม มีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นหนังสือ และข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการปล่อยนักโทษทางการเมืองให้หมดจากเรือนจำ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดเส้นทางการจราจร ถ.พิษณุโลก ตั้งแต่สี่แยกมิสกวัน จนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ส่งผลให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัดเป็นอย่างมาก ทำให้รถต้องเปลี่ยนเส้นทางไปใช้เส้นทางอื่น

นางสุดา กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ เพื่อยื่นร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรม และการขจัดความขัดแย้ง ที่กลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ เช่น ให้ผู้ที่มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุนเฉิน จากพ.ร.บ.ความมั่นคง ให้พ้นจากความผิด ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 - 9 พ.ค.54

นอกจากนี้ เห็นว่า 6 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการยึดอำนาจจากคณะรัฐประหาร ทำให้ประเทศเกิดวิกฤตทางการเมือง ส่งผลให้ประเทศเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนถูกทำร้าย จับกุม และมีบางส่วนถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในปี 53 มีประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐออกหมายจับตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการักษาความสงบภายในสถานกาณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แล้ว 1,857 ราย

จากนั้น เวลา 10.00 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นตัวแทนมารับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากนายกฯ ติดภารกิจทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ครม.

โดยร.ต.อ.เฉลิมได้รับหนังสือพร้อมแจกันดอกไม้ ก่อนที่จะขึ้นเวทีปราศรัย บนรถที่จัดเป็นเวทีเคลื่อนที่ของกลุ่ม 29 มกรา ว่า ตนเป็นคนแรกที่ยอมรับว่า รัฐบาลกับคนเสื้อแดงเป็นพวกเดียวกัน ถ้าไม่มีคนเสื้อแดงวันนั้น จะไม่มีตนที่มาเป็นรองนายกฯในวันนี้ แต่ครั้งนี้ตนไม่ได้ปราศรัยเพื่อการปลุกระดม แต่มาเพื่อยุยง

ทั้งนี้ เมื่อได้รับหนังสือแล้วจะนำไปมอบ และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในทันที และที่ผ่านมา ตนได้เขียนกฎหมายไว้ 6 มาตรา เพื่อนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ยกเว้นผู้สั่งการให้สั่งฆ่าประชาชน ที่จะไม่ได้รับอานิสงส์ และนายกฯได้มอบหมายให้ตนติดตามผลคดีของกลุ่ม นปช. จึงได้เรียก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาเพื่อขอสำนวนการสอบสวนทั้งหมด พร้อมทั้งได้สั่งการให้มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อชันสูตรพลิกศพ ซึ่งคดีนายพัน คำกอง โชเฟอร์แท็กซี่ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต จากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 ที่ผ่านมา โดยศาลตัดสินว่า การเสียชีวิตมาจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ และมีการแจ้งข้อหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และผู้อำนวยการศอฉ. ในขณะนั้น ในข้อหาจ้างวาน ใช้ ฆ่าผู้อื่นเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ระหว่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงอยู่บนเวทีนั้น นายไม้หนึ่ง ก.กุนที แกนนำกลุ่ม 29 มกราฯ ได้ถามสวนว่า แล้วเรื่องดังกล่าวรัฐบาลจะมีคำตอบให้ได้เร็วที่สุดเมื่อไร และจะนำเข้าที่ประชุมครม. เลยหรือไม่ เนื่องจากทางกลุ่มต้องการให้รัฐบาลเร่งปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทันที อย่างไรก็ดี เมื่อการประชุมครม.เสร็จสิ้น จะสามารถให้คำตอบได้เวลา 18.00 น. หรือไม่ ทั้งนี้ อยากให้ร.ต.อ.เฉลิม หรือตัวแทนจากรัฐบาล เดินทางไปให้คำตอบกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่หมุดคณะราษฎร์ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

"หากรัฐบาลนิ่งเฉย หรือไม่ให้คำตอบภายในเวลาที่ทางกลุ่ม 29 มกรา กำหนด กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาปิดทำเนียบรัฐบาล และตั้งเวทีปราศรัยถาวร" นายไม้หนึ่ง กล่าว

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า อย่างเพิ่งเรียกว่าเป็นนักโทษทางการเมือง เนื่องจากศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ เมื่อรับเรื่องแล้ว จะขอนำเรื่องดังกล่าวไปอ่าน และศึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่คิดช่วย แต่มันมีหลักนิติรัฐ นิติธรรม ดังนั้น ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมใจเย็นๆ เพราะตนจะตัดสินคนเดียวไม่ได้ ต้องนำไปหารือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม พยายามจะขอลงจากเวทีหลายครั้งโดยอ้างว่า ต้องรีบนำข้อเรียกร้องทั้งหมดไปแจ้งให้ทางรัฐบาลรับทราบ แต่ทางแกนนำกลุ่มไม่ยอม พร้อมพยามยามคาดคั้นเอาคำตอบจาก ร.ต.อ.เฉลิมให้ได้ ทว่า ร.ต.อ.เฉลิม ได้กล่าวตัดบท และเดินลงจากเวทีทันที ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

ขณะที่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัว ได้นำรถส่วนตัวมาจอดรอรับ เพื่อขับพาไปร่วมประชุมครม. แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ปฏิเสธที่จะขึ้นรถ และเดินทางยังตึกบัญชาการ ซึ่งระหว่างเดินอยู่ ได้แจ้งให้นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง นำข้อเรียกร้องไปแจ้งกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการด่วน

ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์ถึงการกำหนดเส้นตายของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะรอรับคำตอบในเวลา 18.00น. ว่า คงเป็นไปไม่ได้

"วันนี้ต้องพูดความจริง จะไปเอาใจกัน เป๊ะๆ มันทำไม่ได้ มันจะทำอย่างไร 18.00 น.ได้ข้อยุติ แค่อ่านเอกสาร 7-8 ซอง ยังสรุปไม่ได้เลย เดี๋ยวก็อารมณ์ดี พวกกัน ไม่เป็นไร ถึงคนละพวกกัน รัฐบาลก็ไม่เคยทำร้าย ผมเป็นคนขี้กลัว ไม่นิยมความรุนแรง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

** 29มกรา มีเป้าหมายเดียวกันกับนปช.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่ม นปช. กล่าวถึงการชุมนุมครั้งนี้ว่า เป็นเสรีภาพที่สามารถจะแสดงออกทางการเมืองได้ และเชื่อมั่นในจิตวิญญาณการต่อสู้ของคนเสื้อแดงว่า จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ และไม่เกิดความวุ่นวาย

ส่วนแนวทางของกลุ่ม นปช. ที่ได้เสนอเป็น ร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรมนั้น หากดูเป้าหมายปลายทางแล้ว เป็นเรื่องเดียวกัน คืออยากให้ผู้ต้องขังทางการเมืองได้รับอิสรภาพ โดยไม่เกี่ยวกับแกนนำของทุกฝ่ายแต่อย่างใด

" ถือว่าเป้าหมายปลายทางเหมือนกัน คิดว่าหลังจากรัฐบาลรับเรื่องแล้ว คงจะมีการพิจารณากันต่อไป และยืนยันว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นกดดันรัฐบาล เพียงแต่สถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นบรรยากาศของความขัดแย้งอยู่ ใครมาเป็นรัฐบาลจึงอยู่ในภาวะกดดันทั้งสิ้น ซึ่งข้อเรียกร้องขอพี่น้องคนเสื้อแดงวันนี้ ไม่ใช่การกดดันหรือเป็นการเผชิญหน้ากับรัฐบาล แต่อย่างใด" นายณัฐวุฒิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขอร้องไม่ให้แกนนำนปช.คนสำคัญ มาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม29มกรา นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง และไม่เคยคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณในเรื่องนี้เลย ครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมของ “กลุ่ม 29 ม.ค. 10,000 ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ไม่ได้เป็นกิจกรรมของ นปช. เพียงแต่ประชาชนที่มาชุมนุมเป็นพี่น้องคนเสื้อแดง ที่มีอุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตยทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า รัฐบาลไม่ได้มีการระบุประเด็นนิรโทษกรรมไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกมากดดันเช่นนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องรัฐธรรมนูญยังไม่ปรากฏเรื่อง และมาตราใดที่แน่ชัดออกมาเลย จะเดินหน้าแก้ไขได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ ฉะนั้นเวลานี้หากพูดถึงรัฐธรรมนูญ ใครคิดเห็นอยากจะให้แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นใด เป็นเรื่องที่ทำได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการสร้างความขัดแย้งใดๆ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ขณะนี้มีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมกันหลายฉบับ จุดยืนของ นปช. จะสนับสนุนร่างใด นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เราเห็นว่า ร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม น่าจะดำเนินการได้ และจะทำการได้ด้วยรวดเร็ว จึงยังมีจุดยืนนี้อยู่

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่นั้น เรามองว่าการพยายามสร้างความปรองดองถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ เพราะหากความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ การเดินหน้าเรื่องใดก็ตามจะมีปัญหาติดขัด และหากการสร้างความปรองดองไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของประเทศ ตนก็เห็นว่าเราคงแสดงความแตกต่างในเรื่องนี้

เมื่อถามว่า รัฐบาลเองยังไม่ได้ตอบรับว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถือเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนเข้าใจรัฐบาล เพราะในจุดยืนเดียวกัน มีข้อเรียกร้องหลายเหตุการณ์ ทั้ง ร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นรัฐบาลคงจะรวบรวมเอาวิธีการเหล่านี้ไปหารือกันอีกที

** "นายกฯปู"ตีกรรเชียง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการออหกกม.นิรโทษฯ ว่า เท่าที่ทราบมีหลายแนวทางที่ส่งมาให้รัฐบาล โดยขั้นตอนหลังจากนี้คงจะรับข้อเสนอทั้งหมด รวบรวมส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูข้อดี ข้อเสีย ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าระหว่างการออกเป็นพ.ร.ก. -พ.ร.บ. หรือการแก้ไขรธน. เพื่อให้มีการนิรโทษกรรม แนวทางใดจะเหมาะสมที่สุด นายกฯ กล่าวว่า กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งขั้นตอนต่างๆ จะต้องช่วยดูว่าจะมีแนวทางอย่างไรให้เกิดความสงบมากกว่า นี่คือจุดมุ่งหมายที่อยากขอ

เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมยื่นคำขาด ขอคำตอบรัฐบาล 6 โมงเย็นวันนี้ นายกฯ กล่าวว่า อย่างที่เรียน มันมีขั้นตอนตามกฎหมาย และต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาก่อน เราไม่สามารถที่จะตอบได้ทันที

เมื่อถามว่า การยื่นข้อเรีกยร้องดังกล่าว ถือว่าคนเสื้อแดงกำลังกดดันรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถือว่าเป็นในแง่ของอุดมการณ์ และเป็นแนวทางที่นำเสนอรัฐบาล ทุกหน่วยงานไม่ว่ากลุ่มไหนส่งเรื่องมา รัฐบาลคงต้องรับเรื่องทั้งหมดไปดำเนินการตามขั้นตอน ตามกฎหมายต่อไป และเชื่อว่าปัญหาจะไม่กลายเป็นน้ำผึงหยดเดียว

**โปรยยาหอมเยียวยาผู้เสียหาย

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจสำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สำหรับผู้ที่ถูกคุมขังโดยให้ดูถึงกฎระเบียบที่พอจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง และยังได้ย้ำให้ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้ถูกคุมขัง ความเป็นอยู่ของญาติพี่น้อง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเยี่ยมด้วย

ทั้งนี้ เรื่องกฎหมายนริรโทษ มี 3 แนวทาง คือ แนวทางของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ. )ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน แนวทางของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และแนวทางที่ทำโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติได้ทำไว้

"ต้องศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของทั้ง 3 แนวทาง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะการเยียวยาบาดแผลให้มีความสมานกันได้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการทำ เรื่องการเยียวยาด้วยการอภัยโทษ ต้องนำกรณีที่เคยมีมาในอดีตมาศึกษาดูทั้งหมด อาทิ กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ซึ่งเคยมีการให้อภัยโทษนักศึกษาและผู้ชุมนุมเป็นต้น" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

**เลิกจับคนเสื้อแดงเป็นตัวประกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ที่วิปรัฐบาล นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) ให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาว่า อยากให้คนเสื้อแดงรับทราบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ขัดข้องและเห็นด้วยกับแนวทางนิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะต้องไม่มีการพ่วงคดีอาญา และคดีการทุจริต เข้ามาด้วย โดยเฉพาะกรณีของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้อง จึงไม่ควรเอากลุ่มคนเสื้อแดงมาเป็นตัวประกัน เพื่อที่จะนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท. ทักษิณ และหากรัฐบาลจะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามแนวคิดดังกล่าวก็สามารถมาคุยกับฝ่ายค้านได้ พร้อมให้การสนับสนุนโดยต้องคุยกันในจุดที่เห็นตรงกัน

แต่แนวทางการปรองดองที่ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะติดขัดอยู่ที่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเอาประโยชน์ของบางคนมาเกี่ยวข้อง แต่หากรัฐบาลยังดึงดันก็จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลควรตั้งหลักใหม่ เดินหน้าแนวทางการปรองดองจากจุดร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนยังรอฟังคำตอบ จากพ.ต.ท. ทักษิณ ในการรับคำท้าของตนเกี่ยวกับการที่จะไม่นิรโทษกรรมพ.ต.ท. ทักษิณ แลกกับไม่นิรโทษกรรมให้ตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป. และเดินทางกลับประเทศไทยมาสู้คดี

**ดันกม.หวังล้างโทษแกนนำแดง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุม ยื่นร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการนิรโทษกรรมฉบับนิติราษฎร์ ต่อนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นการกดดันรัฐบาล เพราะวันนี้ไฟลนก้นแกนนำแล้ว บางคนศาลตัดสิน อุทธรณ์ไม่ได้ แล้วก็ต้องถูกจำคุก คดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องรีบออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แกนนำ ไม่ใช่กลุ่มประชาชนที่เหลือประมาณ 30 คนเท่านั้น เนื่องจากบางคนที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลได้ตัดสิน และบางคนก็พ้นโทษแล้ว กลุ่มที่เหลืออยู่ก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้

ทั้งนี้ตนขอฟันธงว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างแน่นอน โดยจะนำเข้าสภา ก่อนที่จะแปรญัตติพ่วงให้กับแกนนำทุกคน รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกฯ แต่ยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการเรื่องนี้ เพราะจะเป็นจุดด่างให้พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะมีการนำไปอ้างว่า ครั้งหนึ่งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้รับนิรโทษกรรม ในความผิดสั่งฆ่าประชาชน แต่เมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะบังคับใช้ทั้งหมด
แดงบุกทำเนียบจี้นิรโทษฯ ก๊วน ขู่สรุปก่อน 6 โมงเย็น “เฉลิม” ขึ้นเวทีรับลูก แต่คงไม่ทันเส้นตาย
แดงบุกทำเนียบจี้นิรโทษฯ ก๊วน ขู่สรุปก่อน 6 โมงเย็น “เฉลิม” ขึ้นเวทีรับลูก แต่คงไม่ทันเส้นตาย
แก๊งแดง 29 มกราบุกทำเนียบ จี้ปล่อยก๊วนเผาเมืองพ้นคุก ยื่นร่าง รธน.ฉบับนิรโทษฯ ของนิติราษฎร์ ขู่ไม่จบก่อน 6 โมงเย็นก่อม็อบใหญ่ ด้าน “เฉลิม” ขึ้นเวทีรับเรื่อง หยอดถ้าไม่มีเสื้อแดงก็ไม่ได้เป็นรองนายกฯ ลั่นชงเรื่องทันที โวทำ “มาร์ค-เทือก” เจอข้อหาจ้างวานฆ่า ก่อนตีหน้าเครียดลงเวที สั่ง “แรมบ้า” ส่งเลขาฯ กฤษฎีกาเช็กด่วน รับเป็นไปไม่ได้ทันเดดไลน์ ชี้เอาอารมณ์หักล้างกฎหมายไม่ได้ ยันถ้าจะทำต้องเป็น พ.ร.บ. โยน “อำมาตย์เต้น” ช่วยแจง เชื่อพวกกันเดี๋ยวก็อารมณ์ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น