xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เผยเข้าพบ “เจริญ” แสดงจุดยืนค้านนิรโทษกรรม ชี้เสนอ กม.แนวทาง “นิชา” อีกฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ภาพจากแฟ้ม)
“ปานเทพ” แจงเข้าพบรอง ปธ.สภาฯ เพื่อแสดงจุดยืน ปรึกษา “สนธิ-ทนายสุวัตร” แล้ว เผย “ก่อแก้ว” เสนอยกเว้นความผิดมวลชน อ้างทำตามความเชื่อ-แกนนำปลุกเร้า แต่พันธมิตรฯ จุดยืนชัด ผิดว่าไปตามผิด ถ้าไม่ผิดพิสูจน์ตามกฎหมาย ต้องฟัง ปชป.-พท.-ภรรยา พ.อ.ร่มเกล้าด้วย ชี้วงสนทนาเสนอออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามข้อเสนอภรรยา พ.อ.ร่มเกล้า อีกฉบับ เชิญฝ่ายค้าน-รัฐบาลถก อีกด้านฝั่ง นปช. จ่อออก พ.ร.บ.อีกฉบับตั้งคณะกรรมการพูดคุย แต่พันธมิตรฯ ลั่นไม่ขอเข้าร่วมด้วย ไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือ


วันนี้ (8 ก.พ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” กล่าวชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าได้เข้าพบนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ระบุว่า ประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โทรศัพท์หาตน เห็นว่าตอนนี้จะมีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ซึ่งมีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน แต่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า กรณีดังกล่าวนั้นเป็นการครอบคลุมถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย แต่กลับไม่ได้ฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าว จึงขอฟัง และขอพูดคุยกันในเรื่องนี้กับผมก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปมีความขัดแย้งนอกสภาในวันข้างหน้า โดยถือว่าการพูดคุยครั้งนี้เป็นการพูดคุยหารือกันแบบไม่ผูกพันองค์กรของแต่ละฝ่าย เพื่อหาแนวทางออกในเรื่องดังกล่าว

ผมได้ปรึกษาหารือกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และทนายสุวัตร อภัยภักดิ์ จึงเห็นว่าอย่างน้อยเพื่อไปแสดงจุดยืนของตัวเอง และทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ดีกว่าไปมีความขัดแย้งนอกสภาโดยไม่จำเป็น จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปในวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ห้อง นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยในการประชุมครั้งนี้ นอกจากมี นายเจริญ จรรย์โกมล และผมแล้ว ก็ยังมีนายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวรชัย เหมะ เป็นผู้แทนจาก นปช. และมี ดร.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายมหาชนมาให้ความเห็นทางกฎหมายด้วย

นายก่อแก้ว พิกุลทอง เห็นว่า มวลชนของแต่ละฝ่ายที่ได้กระทำความผิดไปนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำตามความเชื่อ คำสั่ง และปลุกเร้าบนเวทีเท่านั้น ดังนั้น จึงควรจะหาทางในการยกเว้นความผิดให้แก่มวลชน และให้แกนนำเป็นผู้รับผิดชอบแทนทั้งหมด

ส่วนผมเอง ได้แสดงจุดยืนไปว่า สำหรับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น มีจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ให้ทุกอย่างดำเนินไปตามหลักนิติรัฐ เพราะผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายก็จำเป็นต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายก็ต้องได้รับโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองตามกระบวนการยุติธรรม มิใช่ไปยกเว้นความผิดทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้

เพราะในทัศนะของผมเองมีความเชื่อว่าผู้ที่ตัดสินใจ “อารยะขัดขืน” ย่อมรู้ และตระหนักว่าตัวเองได้มีการไตร่ตรองที่ฝ่าฝืนกฎหมายอะไร และเพื่อเป้าหมายอะไร และต้องพร้อมที่จะรับโทษเหล่านั้นตามกฎหมาย

แต่ถ้าสังคม และผู้มีส่วนได้เสียจะเห็นว่าจะมีใครควรได้รับยกเว้นความผิดได้ ก็ควรจะเป็นกรณีที่มีความเห็นพ้องต้องกัน และมีคำอธิบายได้ต่อสังคมด้วย

สำหรับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่า การประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ครอบพื้นที่การชุมนุมของผู้ชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรม เพราะถือว่ามีเจตนาในการกลั่นแกล้งผู้ใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธให้ได้รับโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น ซึ่งแม้ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่า การออกกฎหมายเหล่านี้เป็นการกลั่นแกล้ง ก็เลือกหนทางในการต่อสู้คดีความตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริง

แต่ถ้าเห็นว่าจะมีการล้างความผิดให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องฟังคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียด้วย เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย รวมถึงผู้ที่สูญเสียอย่าง ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ฯลฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยว่าให้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะถือว่าหากเป็นภาวะปกติผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมจะไม่มีความผิด

ส่วนคุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ได้เขียนอยู่ใน เฟซบุ๊ก เป็นเงื่อนไข 4 ข้อ ซึ่ง “ผมได้อ่านให้ผู้ที่อยู่ให้ห้องประชุมฟัง” ความว่า:

ข้อเสนอ/เงื่อนไขการนิรโทษกรรม ของ คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม

1.หากมีการเร่งนิรโทษกรรมผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องไม่ครอบคลุมถึงผู้ทำผิดคดีอาญา คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรม เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดคดีอาญา และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดังกล่าวจะต้องดำเนินอยู่ต่อไป

2.หากจะมีการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เข้าร่วมชุมนุมโดยมิได้ใช้ความรุนแรง หรือมีส่วนในการทำความผิดคดีอาญา/คดีหมิ่นฯ ต้องนิรโทษกรรมอย่างมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

2.1) ผู้ที่จะได้รับนิรโทษกรรมต้องยอมรับว่าตนได้ละเมิดกฎหมาย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการทำทัณฑ์บนว่าจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ละเมิดฝ่าฝืนกฎหมายอีก

2.2) ผู้ที่จะได้รับนิรโทษกรรมต้องเปิดเผยข้อมูล-ความจริงของเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง แก่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง หรือคณะกรรมการชุดอื่นที่มีความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซง ซึ่งมีการแต่งตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้สมบูรณ์เติมเต็มจากรายงานข้อเท็จจริงของ คอป. (โปรดศึกษาตัวอย่างความสำเร็จของกรณีการสร้างความปรองดองของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งอยู่บนรากฐานของการค้นหาความจริง โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาองค์ประกอบของผู้ที่จะได้รับนิรโทษกรรมที่ต้องยอมเปิดเผยความจริง ที่สำคัญคือ ประธาธิบดีเนลสัน แมนเดลา เป็นผู้นำที่มีความจริงใจ และมีความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่าย)

3.รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องไม่พยายามทำให้สังคมหลงประเด็นว่า การนิรโทษกรรม หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการปรองดอง เพราะการนิรโทษกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรองดองเท่านั้น และพึงทำเมื่อบริบทสังคมมีความพร้อม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แต่ในกรณีของไทย ยังมีขั้นตอนกระบวนการปรองดองอีกมากซึ่งสังคมไทยยังไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านั้น ยังไม่เกิดการเรียนรู้บทเรียนร่วมกัน สังคมไทยไม่มีวันปรองดองกันได้ ตราบใดที่ผู้ชนะยังใช้อำนาจความได้เปรียบที่ตนมีอยู่ในมือ กดขี่-ข่มเหง-รังแกฝ่ายตรงข้าม หรือใช้หลัก “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เฉกเช่นที่เรารู้สึกกันอยู่ทุกวันนี้

4.ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศแผนการสร้างความปรองดองของคนในชาติให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะชี้แจงขั้นตอนการปรองดองที่จำเป็น ดังนี้

4.1) การค้นหาข้อเท็จจริง - รัฐบาลมีผลสรุปว่าอย่างไร จะทำอย่างไรกับความจริงของเหตุการณ์ที่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ จะทิ้งไว้ให้เป็นข้อกังขาเช่นนี้หรือ นายกรัฐมนตรีตอบสักคำได้หรือไม่ว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นไปอย่างสงบสันติ หรือฝ่าฝืนกฎหมาย? แล้วจะทำอย่างไรกับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงในอนาคต ตามมาตรการต่างๆ ที่ คอป.ได้เสนอไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 สิ่งนี้จำเป็นต้องใช้ political will ไม่ใช่มอบหมายให้ข้าราชการประจำรับไปทำ และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ เลย

เรื่องนี้ต้องขอพูดซ้ำๆ เพราะเชื่อว่าถ้าพรุ่งนี้มีม็อบอีก ก็คงต้องล้มตายกันอีก (โดยเฉพาะถ้าเป็นการชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น ม็อบเสธ.อ้ายเมื่อวันที่ 24 พ.ย.55 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานที่เดียวกัน ทำไมจึงได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากม็อบของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 29 ม.ค.56 ราวฟ้ากับดิน)

4.2) กระบวนการยุติธรรม - ขอหลักประกันจากนายกรัฐมนตรีว่าหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม คดีของ พล.อ.ร่มเกล้า ไม่เคยได้รับคำอธิบายใดๆ จากดีเอสไอ ยกเว้นครั้งเดียวที่ รมว.ยุติธรรมส่งเอกสารมาให้ระบุว่า “ยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้” ดิฉันตะโกนถามผ่านสื่อไปหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีคำตอบจาก DSI เลยสักครั้ง

4.3) การเยียวยา - หากภายหลังการสอบสวนพบว่า ผู้ได้รับเงินเยียวยาเป็นผู้กระทำความผิด จะมีมาตรการอย่างใด เพราะโดยหลักการผู้ได้รับเงินเยียวยาต้องไม่ใช่ผู้กระทำความผิด

4.4) การสานเสวนา ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะรอนำผลสรุปของการสานเสวนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน มาประกอบการพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ รวมถึงเรื่องต่างๆ ที่โยงกับการปรองดองอย่างไร มิฉะนั้นแล้ว จะเสียงบประมาณเกือบร้อยล้านบาททำไปเพื่ออะไร และหากให้เกียรติเสียงประชาชน กลไกฝ่ายต่างๆ ของพรรครัฐบาลก็ต้องหยุดรอฟังเสียงประชาชนก่อนที่จะไปดำเนินการใดๆ รวมถึงการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา

อันที่จริงแล้ว รัฐบาลควรหันไปเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยหยุดสร้างประเด็นร้อนๆ ที่มีแต่จะสร้างความขัดแย้งมากกว่าปรองดอง (หากนายกรัฐมนตรีเชื่อผลโพล โปรดลองกลับไปดูผลสำรวจความต้องการของประชาชนว่าไม่ได้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ)

4.5) เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้มีการชุมนุมเกินขอบเขตในอนาคต ขอให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุม เพื่อควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบสันติตามแบบอย่างนานาประเทศ

ทั้ง 4 ประการนี้ผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่จะต้องพิจารณา และจำเป็นต้องปฏิบัติตามหากมีความคิดที่จะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากทำตามได้ก็ไม่น่าจะมีข้อขัดแย้งจากทุกฝ่าย

ด้วยเหตุผลนี้ หากสามารถดำเนินตามข้อเสนอ และเงื่อนไขของ คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรมแล้ว ก็สามารถดำเนินการออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ทันที ซึ่งจะทำให้มีคนบางกลุ่มได้รับการเยียวยา และช่วยเหลือได้

อย่างไรก็ตาม แม้นายก่อแก้ว พิกุลทอง ยังมีความเห็นอยากจะช่วยคนทุกกลุ่ม แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธข้อเสนอ และเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ในการพูดคุยจึงมีข้อเสนอว่าน่าจะให้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บนเงื่อนไขของคุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม แยกเป็นฉบับหนึ่ง ซึ่งนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะขอเชิญประชุมตัวแทนฝ่ายค้าน และรัฐบาลเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมตามนี้ หากไม่มีฝ่ายใดขัดข้อง

ส่วนอีกด้านหนึ่งดูเหมือนว่าทางแกนนำ นปช.จะมีความกังวลที่ตอบคำถามผู้ที่กระทำความผิดของคนเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้ จึงเห็นว่าน่าจะมี พ.ร.บ.อีก 1 ฉบับ ที่จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพูดคุย และการพิจารณาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผมได้ชี้แจงไปว่า เนื่องจากการออกกฎหมายลักษณะเช่นนี้ก็จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการซึ่งทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะไม่ขอเข้าร่วมด้วยเพราะเป็นการตั้งไปตามสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก จึงไม่ต้องการไปเป็นเครื่องมือ หรือใช้เป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม และผมได้แสดงความเห็นว่ากฎหมายลักษณะเช่นนี้ก็จะมีปัญหา และความขัดแย้งอีกในตอนตั้งคณะกรรมการ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกนาน หรือหากไม่ฟังเสียงคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องเกิดการเผชิญหน้านอกสภาอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่าหากพิจารณาร่างทั้ง 2 ฉบับ เสร็จสิ้นแล้ว จะให้ทุกฝ่ายได้ลองอ่าน และพิจารณาก่อน (เพราะในวันนี้ยังไม่รู้ว่าเขาจะร่างอะไรออกมา) เพื่อไม่ต้องการให้ไปขัดแย้ง และเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น

ที่ผมได้อธิบายไปข้างต้นเพื่อเป็นการยืนยันว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงมีจุดยืนของตัวเองไม่ได้เปลี่ยนแปลง และการเดินทางไปนั้นก็เพื่อแสดงจุดยืนของตัวเองให้ฝ่ายรัฐบาลได้ทราบ และได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากดึงดันโดยไม่ฟังเสียงคนกลุ่มอื่นๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น