xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจหลักของยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใกล้เข้ามาทุกที การพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรม พูดถึงกฎหมายปรองดอง หรือแม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเงียบไป เพราะรู้ว่า ความพยายามที่จะนิรโทษกรรมจะกระทบกระเทือนต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลแน่นอน

เพราะถ้าหากจะนิรโทษกรรมให้กับคนเผาบ้านเผาเมือง คนที่บงการ “เกิดอะไรขึ้นให้ไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดแล้วในที่สุดศาลากลางจังหวัดก็ถูกเผาไป 3-4 แห่ง” คนกรุงเทพฯ ที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไม่เอาด้วยแน่นอน

แต่ก็อย่าชะล่าใจ เพราะการช่วยให้ ทักษิณ ชินวัตร ให้กลับบ้านโดยไม่ติดคุก และได้สมบัติคืนเป็นภารกิจของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รับหน้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองอยู่แล้ว

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายอุกฤษ มงคลนาวิน อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อซื้อเวลา เพื่อจะบอกกับคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งที่เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมในขณะนี้ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งดูดาย รัฐบาลพยายามที่จะช่วยคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีอยู่ (แต่ขอพ่วงแกนนำ ขอพ่วงคนที่สั่งการให้เผาบ้านเผาเมืองเอาขวดมาคนละใบ น้ำมันมาหาเอาข้างหน้าให้กรุงเทพฯ เป็นทะเลเพลิง และขอพ่วง ทักษิณ ชินวัตร ด้วยอีกคน)

การนิรโทษกรรมก็เลยยังไม่คืบหน้า แต่อย่าได้ชะล่าใจว่า เขาจะไม่เดินหน้าต่อ ขณะนี้ก็ได้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตรับหน้าเสื่อจัดเวทีเสวนา เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วเขียนใหม่สมควรนิรโทษกรรมให้ทุกผู้ทุกคนรวมทั้งทักษิณ ดังที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ เปิดเผยแผนการเมื่อกลางปีที่แล้ว

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านแสดงจุดยืนของพรรคในเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแต่ต้องมีเงื่อนไข ไม่นิรโทษกรรมให้คนเผาบ้านเผาเมือง ยิงคน ฆ่าคน ไม่นิรโทษกรรมให้คนทุจริต ไม่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เหมารวมว่าความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีนั้นถึงปีนั้นโดยที่ไม่แยกแยะความผิด

ครั้นมีเสียงจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณซึ่งถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังเล่นงานที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่าไม่ต้องการนิรโทษกรรม แต่ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็มีเสียงจากผู้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ใครที่ไม่ต้องการให้นิรโทษกรรม ก็ให้มาลงชื่อไว้

บ้าไปแล้วครับ บ้าไปแล้วจริงๆ ที่ท้ากันไปท้ากันมา 2 ต่อ 1 ไม่นิรโทษกรรมให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ ทักษิณ ชินวัตร เอาไหม?

หรือใครที่ไม่ต้องการนิรโทษกรรมให้มาลงชื่อไว้ นั่นบ้าไปแล้วละครับ

เพราะเมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องใช้กับทุกคน จะยกเว้นใครคนใดคนหนึ่งทำไม่ได้หรอกครับ

รัฐธรรมนูญมาตรา 29 เขียนไว้ว่า

การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และจะไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

จะมาเว้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้หรอกครับ เรื่องอย่างนี้มีหรือที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน จะไม่รู้

เรื่องของเรื่องก็คือ ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ คนโน้นคนนี้เสนอกฎหมายเข้าไป รัฐบาลก็มีร่างของรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนจะให้ใครเป็นคนเสนอก็อยู่ที่รัฐบาล หรืออาจจะมีมือปืนรับจ้างจากพรรคเล็กๆ ก็ได้ ทำให้ประชาชนงงสับสน เข้าใจแต่ว่า เออ นิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องดีจะได้หมดเรื่องหมดราวกันเสียที ไม่เกี่ยวกับทักษิณนี่

แต่พอสภารับหลักการก็จะมีผู้เสนอให้พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมนี้รวมกันไป มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา มีการแก้ไขด้วยการแปรญัตติ

ถึงตอนนี้แหละครับ ก็จะเอากรณีของทักษิณมารวมอยู่ในเข่ง เอาแกนนำที่สั่งให้เผาบ้านเผาเมือง เผาศาลากลางจังหวัด เอากรณีที่ยิงวัดพระแก้ว ฯลฯ มารวมอยู่ด้วย แทนที่จะเอาเฉพาะผู้ที่ทำผิดกฎหมายห้ามชุมนุม หลงเข้าใจผิดออกจากคุก ออกจากสารบบที่จะดำเนินคดี

ซึ่งถึงตอนที่ว่านี้เมื่อไรบ้านเมืองก็จะไม่สงบอีก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เขาไม่ยอมหรอกครับ คนที่ทำความผิดอาญา โกงบ้านโกงเมือง เผาบ้านเผาเมือง เผาศาลากลางก็ต้องรับโทษทัณฑ์เสียซิครับ จะมานิรโทษกรรมให้ได้อย่างไร

นี่เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งหลายทั้งปวงจะต้องจับตาดู

บอกแล้วว่า เป็นภารกิจของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับคำสั่งมา จะต้องช่วยพี่ชาย ให้พี่ชายรอดคุก ให้พี่ชายได้สมบัติที่ถูกยึดคืน เป็นภารกิจตั้งแต่ที่เป็นตัวเลือกของทักษิณก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น