xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.พอใจผลงานปี 55 คลี่คลายข้อขัดแย้งการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - “ศาลรัฐธรรมนูญ” แถลงพอใจผลงานรอบปี 55 มองแนวโน้มคดีปี 56 ไม่ซับซ้อน สะท้อนสังคมเรียนรู้ใช้หลักนิติรัฐในการสร้างความมั่นคง เชื่ออนาคตบ้านเมืองเดินไปด้วยความเรียบร้อย แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องแก้ รธน. เปลี่ยนสถานะองค์กรเป็นแผนกในศาลฎีกา ชี้ไม่สิทธิกำหนดสถานะตนเอง

วานนี้ (26 ธ.ค.) นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2555 ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณา 121 เรื่อง พิจารณาแล้วเสร็จ 109 เรื่อง คงเหลือ 12 เรื่อง โดยคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จ และเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3 คดี คือ

1. พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่มาตรา 45 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า กรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิด ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรค 2 หลักนิติธรรม

2. พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) เฉพาะในส่วนที่บัญญัติว่า มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการนั้น เป็นการจำกัดสิทธิ์คนพิการ มิให้ได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ

3. ประมวลรัษฎากรที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภรรยานั้น ถ้าสามีและภรรยาอยู่ร่วมกันตลอดปี ภาษีที่ล่วงมาแล้วให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภรรยาเป็นเงินได้ของสามี ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. การวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร คุ้มครองไม่ให้มีการละเมินพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐ และสถาบันหลักของประเทศ

2. การวินิจฉัยว่าการตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 2555 และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2555 เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส่วนที่เป็นการการวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบด้วย

1. การวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจรับคำร้องโดยตรงจากประชาชน กรณีมีผู้ทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยังไม่เข้าข่าย เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

2. การวินิจฉัยไม่รับคำร้องกรณีสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าคำร้องไม่เป็นไปตามรูปแบบของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับคดีที่ค้างการพิจารณา จำนวน 12 คดีนั้น เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพียง 2-3 คดี ในจำนวนนี้คือ คดีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากกรณีต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี และรอลงอาญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยได้มีการอภิปรายในที่ประชุมตุลาการในวันนี้ แต่ยังไม่ได้มีการนัดวินิจฉัยและลงมติ

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการดำเนินงานในปีนี้ ถือเป็นที่น่าพอใจ และเห็นถึงแนวโน้มของคดีที่จะเข้ามาในปีหน้าไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรค หรือซับซ้อนเหมือนในอดีต สะท้อนว่าสังคมได้เรียนรู้ที่จะใช้หลักนิติรัฐในการสร้างความมั่นคง และเชื่อว่ากฎหมายบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์ ศาลเป็นที่พึ่งของฝ่ายต่างๆ ได้ อนาคตบ้านเมืองน่าจะเดินไปด้วยความเรียบร้อย

เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รู้สึกกังวลกับการที่ในอนาคตจะมีผู้ใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในการยื่นเรื่องเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าประชาชนสามารถยื่นคำร้องดังกล่าวได้โดยตรงต่อศาล ซึ่งในปี 55 ก็มีการยื่นคำร้องตามมาตราดังกล่าวถึง 25 คำร้อง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้วินิจฉัย โดยมีคดีที่ศาลรับไว้วินิจฉัยเพียง 2 คดีเท่านั้น

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะมีการเปลี่ยนที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะให้ไปเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา นายเชาวนะกล่าวว่ายังไม่ทราบ แต่โดยตรรกะแล้ว องค์กรศาลวินิจฉัยคดีโดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่การจะให้ศาลไปกำหนดสถานะของตนเองนั้น ศาลไม่สามารถทำได้ หากจะถามว่า วิตกหรือไม่ คิดว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกคน ศาลไม่คิดจะไปเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไปเป็นคู่กรณีกับใคร เพราะถ้าคิดเช่นนั้น ก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง

“ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาลเหมือนศาลอื่น จะเห็นได้ว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าไม่ใช่ในเชิงวิชาการ แต่เป็นการก้าวล่วงในการใช้ดุลพินิจของตุลาการ ศาลและสำนักงานก็ต้องไปพึ่งกลไกยุติธรรมทั่วๆ ไป เพื่อคุ้มครองการทำหน้าที่ของศาล ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มีเจตนาที่จะไปปรามให้บุคคลใดเสียสิทธิ เพราะศาลก็จะใช้กลไกยุติธรรมเหมือนคนทั่วไปที่ถูกละเมิด สะท้อนว่าศาลไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆ”

นายเชาวนะยอมรับว่า การวินิจฉัยคดีสำคัญหลายเรื่องในปี 55 ตุลาการฯ มีความหนักใจ แต่ก็ต้องไม่หวั่นไหว เพราะต้องเป็นที่พึ่งให้กับสังคมที่ต้องการทางออกของปัญหา อีกทั้งจากการที่ศาลได้มีการลงพื้นที่พบปะกับประชาชนตามจังหวัดต่างๆ ก็พบว่าประชาชนจะรู้จักศาลรัฐธรรมนูญจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน แต่สิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจสอบถามเมื่อพบปะคือมีข้อสงสัยในเรื่องการใช้ดุลยพินิจของตุลาการในแต่ละเรื่องที่มีคำวินิจฉัยไป ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีได้อธิบายทำความเข้าใจเมื่อเขารับรู้รับทราบ ก็มีความเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ศาลไม่เคยคิดว่าเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง หรือไปเพื่อสร้างมวลชนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนตนเอง เพราะการทำงานและการวินิจฉัยคดีของศาลจะไม่นำปัจจัยภายนอกหรือการกดดันจากมวลชนกลุ่มต่างๆ มามีส่วนในการวินิจฉัยอยู่แล้ว การลงพื้นที่จึงเป็นการไปความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงศาลได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น