ศาลรัฐธรรมนูญแถลงผลงานรอบปี 55 เผยคดีเข้าศาล 121 เรื่อง แล้วเสร็จ 109 ค้างศาล 12 ชี้น่าพอใจ ปีหน้าไม่น่าซับซ้อน ไม่กังวลวินิจฉัยแก้ รธน. ปัดให้ความเห็นเปลี่ยนสถานะองค์กรเป็นแผนกในศาลฎีกา ชี้ไม่สิทธิกำหนดสถานะตนเอง ส่วนการลงพื้นที่พบชาวบ้านสงสัยดุลพินิจของศาล ถือโอกาสชี้แจงสร้างความเข้าใจกันดี ยันไม่ได้ไปสร้างมวลชนหนุนตัวเอง
วันนี้ (26 ธ.ค.) นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2555 ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีคดีที่เข้าสู่การพิจารณา 121 เรื่อง พิจารณาแล้วเสร็จ 109 เรื่อง คงเหลือ 12 เรื่อง โดยคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จและเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3 คดี คือ 1. พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่มาตรา 45 ของกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า กรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิด ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรค 2 หลักนิติธรรม 2. พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) เฉพาะในส่วนที่บัญญัติว่า มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการนั้น เป็นการจำกัดสิทธิคนพิการ มิให้ได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ 3. ประมวลรัษฎากรที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภรรยานั้น ถ้าสามีและภรรยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้วให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภรรยาเป็นเงินได้ของสามี ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. การวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร คุ้มครองไม่ให้มีการละเมินพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ 2. การวินิจฉัยว่าการตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 2555 และพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 2555 เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด และที่เป็นการการวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบด้วย 1. การวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องโดยตรงจากประชาชน กรณีมีผู้ทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยังไม่เข้าข่าย เป็นการล้มล้างการปกครองฯ 2. การวินิจฉัยไม่รับคำร้องกรณีสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าคำร้องไม่เป็นไปตามรูปแบบของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนคดีที่ค้างการพิจารณา จำนวน 12 คดีนั้น เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพียง 2-3 คดี ในจำนวนนี้คือคดีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากกรณีต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี และรอลงอาญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยได้มีการอภิปรายในที่ประชุมตุลาการในวันนี้แต่ยังไม่ได้มีการนัดวินิจฉัยและลงมติ
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการดำเนินงานในปีนี้ถือเป็นที่น่าพอใจ และเห็นถึงแนวโน้มของคดีที่จะเข้ามาในปีหน้าไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคหรือซับซ้อนเหมือนในอดีต สะท้อนว่าสังคมได้เรียนรู้ที่จะใช้หลักนิติรัฐในการสร้างความมั่นคง และเชื่อว่ากฎหมายบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์ ศาลเป็นที่พึ่งของฝ่ายต่างๆ ได้ อนาคตบ้านเมืองน่าจะเดินไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รู้สึกกังวลต่อการที่ในอนาคตจะมีผู้ใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในการยื่นเรื่องเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าประชาชนสามารถยื่นคำร้องดังกล่าวได้โดยตรงต่อศาล ซึ่งในปี 55 ก็มีการยื่นคำร้องตามมาตราดังกล่าวถึง 25 คำร้อง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้วินิจฉัย โดยมีคดีที่ศาลรับไว้วินิจฉัยเพียง 2 คดีเท่านั้น
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและจะมีการเปลี่ยนที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะให้ไปเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา นายเชาวนะกล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่โดยตรรกะแล้ว องค์กรศาลวินิจฉัยคดีโดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่การจะให้ศาลไปกำหนดสถานะของตนเองนั้น ศาลไม่สามารถทำได้ หากจะถามว่าวิตกหรือไม่ คิดว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกคน ศาลไม่คิดจะไปเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไปเป็นคู่กรณีกับใคร เพราะถ้าคิดเช่นนั้นก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาลเหมือนศาลอื่น จะเห็นได้ว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าไม่ใช่ในเชิงวิชาการ แต่เป็นการก้าวล่วงในการใช้ดุลพินิจของตุลาการ ศาลและสำนักงานก็ต้องไปพึ่งกลไกยุติธรรมทั่วๆ ไป เพื่อคุ้มครองการทำหน้าที่ของศาล ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีเจตนาที่จะไปปรามให้บุคคลใดเสียสิทธิ เพราะศาลก็จะใช้กลไกยุติธรรมเหมือนคนทั่วไปที่ถูกละเมิด สะท้อนว่าศาลไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆ”
นายเชาวนะได้กล่าวยอมรับว่า การวินิจฉัยคดีสำคัญหลายเรื่องในปี 2555 ตุลาการฯ มีความหนักใจ แต่ก็ต้องไม่หวั่นไหว เพราะต้องเป็นที่พึ่งให้แก่สังคมที่ต้องการทางออกของปัญหา อีกทั้งจากการที่ศาลได้มีการลงพื้นที่พบปะกับประชาชนตามจังหวัดต่างๆ ก็พบว่าประชาชนจะรู้จักศาลรัฐธรรมนูญจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน แต่สิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจสอบถามเมื่อพบปะคือมีข้อสงสัยในเรื่องการใช้ดุลยพินิจของตุลาการในแต่ละเรื่องที่มีคำวินิจฉัยไป ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีได้อธิบายทำความเข้าใจเมื่อเขารับรู้รับทราบก็มีความเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น ทั้งนี้ การลงพื้นที่ศาลไม่เคยคิดว่าเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง หรือไปเพื่อสร้างมวลชนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนตนเอง เพราะการทำงานและการวินิจฉัยคดีของศาลจะไม่นำปัจจัยภายนอกหรือการกดดันจากมวลชนกลุ่มต่างๆ มามีส่วนในการวินิจฉัยอยู่แล้ว การลงพื้นที่จึงเป็นการไปความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงศาลได้มากขึ้น