xs
xsm
sm
md
lg

นัดพิพากษา"สมยศ"หมิ่น DSIจัดให้ตั้งศูนย์รับคดี99ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กำหนดวันชี้ชะตา "สมยศ" หมิ่นสถาบัน ศาลนัดพิพากษา 23ม.ค.56 ด้าน"ธาริต"วืดลงมติแจ้งข้อหาพยายามฆ่า "มาร์ค-เทือก" เหตุอัยการติดธุระ พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการคดี 99 ศพ หลังประเมินมีคนรอร้องทุกข์กล่าวโทษอีกกว่า 2 พันราย

วานนี้ (19 ธ.ค.) ศาลอาญารัชดา ได้นัดอ่านคำพิพากษา เป็นครั้งที่ 2 ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อประชาธิปไตยและอดีตบรรณาธิการหนังสือ วอยซ์ ออฟ ทักษิณ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีเมื่อวันที่ 1-15 มี.ค.2553 นิตยสาร VOICE OF TUKSIN : เสียงทักษิณ ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 ปักษ์หลัง ก.พ.2553 ได้ลงบทความ คมความคิดของผู้ใช้นามปากกาว่า "จิตร พลจันทร์" เรื่องแผนนองเลือด กับยิงข้ามรุ่น หน้าที่ 45-47 ซึ่งเนื้อหาของบทความมีเนื้อหาแสดงความเกลียดชัง และมุ่งปองร้ายต่อสถาบัน

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาได้ตรวจสำนวนก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้รับหนังสือจากสำนักงานศาลยุติธรรมว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า มีคำสั่งรับคำร้อง แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัย กรณีที่นายสมยศ ขอให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และมาตรา 112 สอดคล้องกับประชาธิปไตยตามหลักสากลหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าความผิดมาตรา 112 มีอัตราความผิดใกล้เคียงกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญา 326 แต่มาตรา 112 กลับไม่มีการบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดไว้ ซึ่งเท่ากับไม่ให้โอกาสฝ่ายที่ถูกกกล่าวหาได้พิสูจน์ความจริงว่าไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลอาญาจึงมีอำนาจอ่านคำพิพากษาได้ ทั้งนี้ ศาลจึงได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 ม.ค.2556 เวลา 09.00 น.

นายคารม พลพรกลาง ทนายความจำเลย กล่าวว่า ได้ปรึกษากับนายสมยศ รวมถึงครอบครัวแล้ว สรุปว่าในขณะนี้จะไม่ดำเนินการยื่นขอประกันตัวจำเลยและจะรอฟังคำพิพากษาจากศาลก่อนว่าจะมีคำพิพากษาออกมาเช่นใด

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีการเสียชีวิตผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 จำนวน 91 ศพ กล่าวว่า ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติแจ้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่า ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กรณีมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ จากการสลายการชุมนุม โดยเป็นการประชุมร่วมกับพนักงานสอบสวนสองฝ่าย คือ ดีเอสไอ และตำรวจ เนื่องจากพนักงานอัยการติดภารกิจจึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้

"กรณีต้องขอความเห็นพนักงานอัยการเรื่องการแจ้งข้อหาพยายามฆ่าที่เกิดจากคำสั่งของ ศอฉ. จำเป็นต้องรอมติของที่ประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ธ.ค.นี้อีกครั้ง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมได้มีการตกลงตั้งศูนย์ปฏิบัติการกลางเพื่อการสอบสวนคดีพิเศษเหตุความไม่สงบเมื่อปี 2553 ขึ้น เพื่อการเร่งรัด การประสานงาน ทั้งคดีพยายามฆ่า และคดีทำร้ายร่างกาย ที่คาดว่าจะมีผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บเข้ามาแจ้งความเป็นจำนวนมาก โดยแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร เป็นหัวหน้าศูนย์ดังกล่าว นอกจากนั้น ยังมีความเห็นร่วมกันให้แต่งตั้ง พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดี 91 ศพด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ถูกทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัสเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อีกกว่า 2,000 ราย จึงจำเป็นต้องตั้งศูนย์ปฎิบัติการกลางฯ ดังกล่าวขึ้นมา เพื่อดูแลในแง่ของเนื้อหาคดีและข้อเท็จจริงทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม นายธาริตได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า ในฐานะผู้นำองค์กรและในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ขอให้ความมั่นใจกับพนักงานสอบสวนทุกคนและเพื่อนตำรวจให้ทำงานอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำเป็นต้องออกมาปกป้องเพื่อนร่วมงานทุกคนให้ทำงานด้วยความสบายใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น