xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยุเสื้อแดง” ฟ้อง กสทช.เพิกถอนประกาศทดลองออกอากาศ ร้อง “ปู” ช่วยคุ้มครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายวิทยุเสื้อแดง ในนามสภาผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง ร้องเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ชี้จำกัดสิทธิ ปิดกั้นการประกอบอาชีพ อีกด้านยื่นหนังสือถึงนายกฯ จี้สอบอีกทาง วอนขอให้ช่วยคุ้มครองสื่อภาคประชาชน อ้างเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล-ต่อสู้ประชาธิปไตย ขู่กระทบฐานเสียงแน่

วันนี้ (19 ธ.ค.) นายนิคม บุญวิเศษ ประธานสภาผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายธงชัย แก้วรมย์และพวก ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชน ได้เข้ายื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง 2555 และระงับการดำเนนการจับกุม ดำเนินคดีโดยอาศัยกฎเกณฑ์อันมิชอบตามประกาศดังกล่าว และให้สั่งให้ กสทช.เปิดลงทะเบียนประเภทประกอบกิจการทางธุรกิจให้กับผู้ฟ้องคดี หรือผู้ที่มิได้ลงทะเบียนประเภทชุมชนชั่วคราวหรือมิได้ขยายระยะเวลาไว้ ยกเลิกการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นที่สร้างภาระที่เกิดกับผู้ฟ้องหรือประชาชนที่เป็นผู้ประกอบกิจการ

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า ประกาศดังกล่าวจำกัดสิทธิและปิดกั้นเสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดย กสทช.ได้กำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขในประกาศให้เฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริหารชุมชนชั่วคราวซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 52 เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอทดลองประกอบกิจการตามประกาศฉบับดังกล่าวเท่านั้น โดยที่การออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 ไม่ได้จัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกันตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทำให้กลุ่มผู้ฟ้องต้องเสียสิทธิในการประกอบกิจการเนื่องจากต้องกลายเป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์และตามประกาศเงื่อนไข

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ในประกาศดังกล่าวยังมีลักษณะเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม โดยสำนักงาน กสทช.ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ แต่กลับประกอบกิจการสถานีวิทยุแข่งกับผู้ประกอบกิจการเสียเองถึง 6 สถานี โดยที่สถานีของผู้ถูกฟ้องไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขณะที่ผู้ฟ้องต้องถูกกำหนดให้ใช้เครื่องส่งกำลังคลื่นมีค่าไม่เกิน 500 วัตต์ ความสูงของสายอากาศวัดจากพื้นดินไม่เกิน 60 เมตร ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องต้องเดือดร้อนจากการถูกกำจัดขอบเขตการเผยแพร่ด้านการสื่อสาร รวมทั้งสำนักงาน กสทช.ยังได้กำหนดกฎเกณฑ์ การอบรม และการทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศ โดยให้ผู้มีสิทธิ์เข้าอบรมจะต้องสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาสื่อสารมวลชน (วิทยุ-โทรทัศน์ฯ) ตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป และมีอายุไม่ตำกว่า 18 ปี ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเข้าอบรม 3 ขั้นตอน คือ ระดับต้น 4,000 บาท ระดับกลาง 5,000 บาท และระดับสูง 6,000 บาท รวมทั้งยังเสียค่าทดสอบผู้ประกาศอีก 1,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น

ขณะเดียวกัน ประกาศของผู้ถูกฟ้องดังกล่าวยังออกมาใช้บังคับไม่ถูกต้องตามรูปแบบที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 41 โดยให้มีการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการ เพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหาก กสทช.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้ว ให้ถือว่าอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียง และอนุญาตให้มี ให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคมด้วย ซึ่งเท่ากับว่ามีใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ใบเดียวก็จะครอบคลุมถึงใบอนุญาตอื่นๆด้วย ซึ่งวิทยุของผู้ฟ้องเป็นประเภทวิทยุกระจายเสียง ไม่ใช่วิทยุคมนาคม แต่ผู้ถูกฟ้องกลับแจ้งขอกล่าวหา และดำเนินคดี ในความผิดเกี่ยวกับวิทยุคมนาคม ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายกับผู้ฟ้อง ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาและมีคำพิพากษาตามที่ร้องขอ

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล นายนิคมได้นำสมาชิกประมาณ 50 คนเดินทางมายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีที่คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้บริหารกำกับคลื่นความถี่และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้กฎหมายขัดนิติธรรม ขาดความโปร่งใส ในการใช้งบประมาณ โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนมารับหนังสือดังกล่าว

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุว่า กสทช.ขาดประสิทธิภาพในการบริหารกิจการ ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้อย่างแท้จริงได้ ผลเสียหายตามมาจากการออกประกาศดังกล่าวมีการกำหนดแรงส่งไม่เกิน 500 วัตต์ และความสูงของเสาอากาศไม่เกิน 60 เมตรจากพื้นดิน เฉพาะวิทยุชุมชน นอกนั้นถือว่าเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้กสทช.ออกประกาศหลักเกณฑ์เก็บค่าธรรมเนียมไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด โดยเรียกเก็บซ้ำซ้อนและเรียกค่าธรรมเนียมพิจารณาคำขออนุญาตอีก 1 หมื่นบาท เมื่อพิจารณาไม่ผ่านก็ไม่คืนเงิน และการใช้งบประมาณของ กสทช.ก็ไม่โปร่งใสชอบธรรม แม้แต่การกำหนดอัตราเงินเดือนให้ที่ปรึกษา เงินตอบแทนพิเศษ เงินประจำตำแหน่ง และเบี้ยประชุมเป็นต้น

หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การดำเนินการของ กสทช.ส่งผลกระทบกับรัฐบาล เนื่องจากวิทยุภาคประชาชนเป็นกระบอกเสียงที่ดีให้กับรัฐบาลเสมอมา เคยร่วมต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ฝ่าฟันผ่านวิกฤตยากลำบากมาด้วยกันทุกรูปแบบ แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะมีความมั่นคงแต่วิทยุที่เป็นสื่อภาคประชาชนกลับถูกคุกคามจากหน่วยงานของภาครัฐ จึงขอให้รัฐบาลคุ้มครองเสรีภาพสื่อภาคประชาชนด้วย หากรัฐบาลไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือเกรงว่าจะกระทบต่อฐานเสียงและเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอให้นายกฯ ใช้สิทธิตามกฎหมายเรียก กสทช.มาชี้แจงตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 มาตรา 5 เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น