xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สมชาย คุณปลื้ม ตัวอย่างทางรอดคุก นักโทษวี.ไอ.พี.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายสมชาย คุณปลื้ม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากต้องหามกันเข้าห้องไอ.ซี.ยู. อย่างปัจจุบันทันด่วนเพราะอาการป่วยกำเริบ “กำนันเป๊าะ” นายสมชาย คุณปลื้ม นักโทษคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินเขาไม้แก้วและจ้างวานฆ่า “กำนันยูร-นายประยูร สิทธิโชติ” ก็เริ่มมีอาการดีวันดีคืน และหากไม่มีอะไรแทรกซ้อนอีกไม่นานก็คงถูกส่งตัวกลับเข้าห้องขังที่เรือนจำกลางชลบุรี แต่เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ให้การรักษาว่าเห็นควรให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับเรือนจำได้หรือไม่

ฟังจาก นพ.อัษฎา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กล่าวว่า กำนันเป๊าะอาการเริ่มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมปอด หรือปอดบวม ส่วนความ ดันโลหิตค่อนข้างดี ปัญหาก็คือ โรคหัวใจ เพราะหัวใจยังเต้นเร็วสลับเต้นผิดปกติ ต้องให้ยาทำให้หัวใจเต้นช้าลงเพื่อควบคุมให้เป็นปกติ สรุปสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาของโรคหัวใจที่สามารถล้มเหลวได้ตลอดเวลา

นั่นหมายความว่า กำนันเป๊าะ มีสิทธิ์พักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกยาว เพราะอาการโรคหัวใจที่สามารถล้มเหลวได้ตลอดเวลาอย่างที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ประเมินอาการ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกส่งตัวกลับเรือนจำกลางชลบุรี ด้วยอิทธิพล ความกว้างขวางและบารมีของกำนันเป๊าะ ไม่นับว่าลูกชายดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรี เชื่อว่าเขาคงได้รับการปฏิบัติเสมือนหนึ่งเป็นนักโทษวี.ไอ.พี เพราะก่อนนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่ากรมราชทัณฑ์ให้สิทธิพิเศษกับกำนันเป๊าะ เช่น กรณีไม่ใส่โซ่ตรวนทั้งที่เป็นผู้ต้องขังรายสำคัญ

กระทั่งนายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องออกมาแก้ต่างว่า ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบกรมราชทัณฑ์ทุกประการ การตีตรวนมีข้อยกเว้นกรณีผู้ต้องขังป่วยหรือเป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปห้ามใส่เครื่องพันธนาการทุกชนิด เว้นแต่ว่าผู้ต้องขังรายนั้นมีพฤติการณ์จะหลบหนีการควบคุม ซึ่งกำนันเป๊าะไม่ได้แสดงพฤติการณ์เช่นว่านั้น

นอกจากนั้น นายอำนาจ ปรัชญาพันธ์ ผบ.เรือนจำกลางชลบุรี ยังระบุว่า การควบคุมตัวกำนันเป๊าะหลังออกจากโรงพยาบาลกลับเข้าเรือนจำกลางชลบุรีนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกจำแนกไปอยู่ใน 2 แดน คือ แดนผู้สูงอายุ หรือแดนผู้ป่วย ซึ่งชัดเจนว่าเป็นแดนที่นักโทษมีสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษ

แต่ไม่ว่าจะอยู่แดนไหน เมื่ออาการป่วยกำเริบ “กำนันเป๊าะ” ก็สามารถใช้ช่องทางกฎหมายบรรเทาโทษ ตามมาตรา 106 แห่งระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักขัง พ.ศ. 2549 ที่ระบุว่า "เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าผู้ต้องกักขังคนใดเจ็บป่วยและถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ใน สถานที่กักขังและไม่ทุเลา ให้แพทย์รายงานต่อ ผอ.สถานที่กักขัง เพื่อให้ออกไปรักษาตัวนอกสถานที่กักขังตามสมควร" ได้ตลอดเวลา ดังเช่นที่ได้รับอนุญาตให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลชลบุรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา หลังการย้ายนายสมชาย มาที่เรือนจำกลางชลบุรีแล้วอาการป่วยกำเริบ

เมื่อเคลียร์เรื่องการย้ายตัวกลับมารับโทษที่เรือนจำกลางชลบุรี และสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้ดูแลอาการป่วยได้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาแล้ว หลังจากนี้ จะเหลือก็แต่เพียงว่าบรรดาลูกๆ และตัวกำนันเป๊าะเอง จะหาทางขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อพ้นคดีได้อย่างไร

ในการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ลูกชายของกำนันเป๊าะ ยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่า ทำแน่ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะช่วยผู้เป็นบิดาให้พ้นโทษได้ โดยเตรียมปรึกษาหารือกับพี่ๆ น้องๆ และทีมที่ปรึกษากฎหมาย หลังจากนายสมชาย อาการป่วยทุเลาลง

ช่องทางในการขอพระราชทานอภัยโทษ และการขอพักการลงโทษ ซึ่งเป็นทางรอดคุกทางเดียวของกำนันเป๊าะนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้

ทั้งนี้ เกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวมี 2 ลักษณะ คือ 1.การขอพระราชทานอภัยโทษแบบทั่วไป ซึ่งต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เป็นการขออภัยโทษในวโรกาสสำคัญ หากผู้ต้องขังมีอายุครบ 70 ปี ก็เข้าเงื่อนไขตามบัญชีแนบท้ายแห่งพระราชกฤษฎีกาขออภัยโทษของปีนั้นๆ ว่า มีคดีประเภทใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์ ถ้าคดีลักษณะใดไม่เคยมีในบัญชีแนบท้าย ก็เพิ่มเข้าไป ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษผ่านช่องทางนี้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในแต่ละปี

2. การขอพระราชทานอภัยโทษแบบรายบุคคล โดยผู้ต้องขังต้องทำเรื่องเสนอผ่านเรือนจำมายังกรมราชทัณฑ์ จากนั้นจะส่งต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานำขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งนี้ การขอพระราชทานอภัยโทษทั้งสองแบบต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด จึงจะมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษ แต่การขอพระราชทนอภัยโทษเฉพาะรายนี้ ไม่มีรัฐบาลใดกล้าดำเนินการ

"การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นสิทธิของนักโทษเด็ดขาดทุกราย ที่สามารถยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลได้" นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้การขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นสิทธิของนักโทษเด็ดขาดทุกรายที่พึงได้รับ แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ต้องรับโทษตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ 2 ใน 3 ของจำนวนโทษที่ได้รับก่อน ดังนั้นหากจะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว กำนันเป๊าะ ต้องถูกจำคุก 20 ปี จากจำนวนโทษทั้งหมด 30 ปี 4 เดือนเสียก่อน

ส่วนการพักโทษ ก็เช่นเดียวกัน นายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ รักษาการผอ.ทัณฑปฏิบัติ อธิบายถึงหลักเกณฑ์การพักการลงโทษว่า แม้จะเป็นนักโทษชรา อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป แต่ขณะนี้นายสมชาย ยังมีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์พักการลงโทษ

นอกจากนั้น ระเบียบราชทัณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่านักโทษที่มีสิทธิพักการลงโทษต้องได้รับการจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเมื่อรวมโทษจำคุกที่คงเหลือทั้งหมดต้องเหลือโทษไม่เกิน 5 ปี โดยมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาพักการลงโทษจะเป็นผู้แทนจากศาล อัยการ ตำรวจ กรมราชทัณฑ์ไม่ได้พิจารณาตามลำพัง

เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์การปฏิบัติเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษและการพักโทษข้างต้น ดูเหมือนกำนันเป๊าะ จะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหนก็ตาม

ทางเลือกของกำนันเป๊าะ จึงอาจเหลือเพียงการใช้ชีวิตบั้นปลายในคุกเยี่ยงนักโทษวี.ไอ.พี. ทั้งหลายเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่า เขาจะเป็น "แมวเก้าชีวิต" ดังฉายา กำนันเป๊าะถึงจะรอดคุกแบบมีชีวิตออกมาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น