xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อัปยศ!! ฮั้วประมูลสร้างโรงพัก หมัดน็อก “คู่กรรม” แห่ง “ปชป.”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.พร้อมคณะตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างโรงพักสภ.ธัญบุรี ที่ยังไม่แล้วเสร็จ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในแวดวงสีกากีอีกครั้งกับปัญหาการก่อสร้าง สถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่งทั่วประเทศ ที่ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษก็จะครบกำหนดตามสัญญาในวันที่ 14 มี.ค. แต่ความคืบหน้าการก่อสร้างในแต่ละหน้างาน กลับดำเนินการไปน้อยมาก ขณะที่หลายแห่งยังไม่เริ่มดำเนินการก่อสร้างด้วยซ้ำ บางแห่งมีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน จึงอาจกล่าวได้ ว่า ห้วงระยะเวลาที่เหลือ บริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จอย่างแน่นอน

ปัญหาที่ถูกกล่าวถึงอันดับแรก คือ ในการก่อสร้างมีการทุบทำลายสถานีตำรวจหลังเก่า เพื่อสร้างสถานีตำรวจหลังใหม่ทับในพื้นที่เดิม จนเป็นเหตุให้ตำรวจไม่มีสถานที่ทำงาน เพราะแม้จะมีการสร้างสถานีตำรวจชั่วคราว แต่นั่นก็ไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน หลายแห่งมีการปลูกสร้างที่ทำการชั่วคราวในลักษณะของเต็นท์ หรือ เพิงพัก บางแห่งมีการดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ ขณะที่บางโรงพักห้องควบคุมผู้ต้องหามีการก่อสร้างแบบชั่วคราวแบบตามมีตามเกิด หรือใช้บ้านพักตำรวจเป็นห้องขังจำเป็น ที่อนาถกว่านั้นในบางพื้นที่ถึงกับมีการนำผู้ต้องหาไปควบคุมในห้องน้ำก็มี

และยิ่งการก่อสร้างล่าช้าออกไป ความเดือดร้อนของตำรวจยิ่งมากขึ้นไปอีก เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญได้ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความน่าความเชื่อถือ คนในแวดวงสีกากีหรือ แม้แต่ประชาชนทั่วไปถึงกับเบือนหน้าหนี เมื่อเห็นสภาพของสถานีตำรวจเหล่านี้

อีกประเด็นที่ถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไม่แพ้กัน คือ การประมูลงานจัดจ้างที่ดำเนินการโดยบริษัทผู้รับเหมาเพียงรายเดียว คือ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ทั้งๆ ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 500 ล้านบาทแต่สามารถรับงานอภิมหาโปรเจ็กต์ ซึ่งมีไซต์งานก่อสร้างสถานีตำรวจที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมของประเทศได้

ขณะเดียวกันหลังมีการตีแผ่ปัญหานี้ จึงเริ่มได้กลิ่นการทุจริต การฮั้วประมูล รวมทั้งความไม่ชอบมาพากลในการทำสัญญาที่เดิมทีมีการทำสัญญา 9 สัญญา ก่อนที่จะมีการรวบมาไว้เป็นสัญญาเดียว และให้บริษัทเดียวดำเนินการก่อสร้าง มิหนำซ้ำบริษัทแห่งนี้ ยังได้งานก่อสร้างแฟลตตำรวจทั่วประเทศกว่า 163 หลัง มูลค่ากว่า 3,800 ล้านบาท จนหลายฝ่ายเกิดความกังขาว่า บริษัทนี้ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 500 ล้านบาท แต่กลับได้รับการว่าจ้างให้สร้างโปรเจ็กต์ยักษ์ถึง 2 โครงการ รวมมูลค่าของโครงการเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันก็ได้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่ากรรมการของบริษัทพีซีซีฯ คือ นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานกรรมการ และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพ่อตาของนักการเมืองใหญ่ทางภาคอีสานจึงทำให้ได้งานดังกล่าว

ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นการเดินเกมของฝ่ายการเมือง เริ่มจากการเดินหน้าจี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตรวจสอบปมการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ว่ามีการฮั้วประมูล หรือ มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ขณะเดียวกันยังได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ของบริษัทผู้รับเหมา และข้าราชการที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

สอดรับกับท่าทีของ “บิ๊กเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ออกโรงกำชับตำรวจให้ส่งข้อมูลการฮั้วประมูลกับดีเอสไอ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องนี้
 
การเดินเกมของพรรคเพื่อไทย ย่อมทำให้ถูกมองว่าเรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโครงการนี้ริเริ่มในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน

หลังรับลูกจากฝ่ายการเมือง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ดีเอสไอ เดินหน้าเต็มสูบในการตรวจสอบ โดยเตรียมเรียกอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาให้ข้อมูลเรื่องนี้ โดยมีประเด็นสอบถาม พล.ต.อ.พัชรวาท ตั้งแต่การร่างสัญญาสัมปทาน ส่วน พล.ต.อ.ปทีป จะถูกสอบถามประเด็นการเปลี่ยนแปลงสัญญา จากสัญญาที่แยกตามสำนักงานตำรวจ 9 ภาค และให้รวมเป็นสัญญาเดียว โดยมีบริษัทเดียวได้รับสัมปทาน และพล.ต.อ.วิเชียร จะถูกสอบถามประเด็นการลงนามสัญญาจ้าง และการติดตามงาน และสุดท้ายที่ถือเป็นไฺฮไลท์ของคดีนี้ คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามอนุมัติโครงการนี้ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย

ทั้งนี้ อธิบดี ดีเอสไอ ตั้งข้อสังเกต 6 ข้อ ว่าการสัญญาว่าจ้างครั้งนี้ เข้าข่ายฮั้วประมูล คือ การเสนอราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคากลางถึง 540 ล้านบาท และยังพบว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่า หจก.สามประสิทธิ์ คู่แข่งถึง 247 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขผิดปกติ ประเด็นการรวบสัญญา จาก 9 สัญญาให้เป็นสัญญาเดียว การจ่ายเงินงวดแรกเต็มเพดานร้อยละ15 ซึ่งปกติ หลายหน่วยงาน จะจ่ายเพียง ร้อยละ 7-8 ของมูลค่าโครงการ รวมทั้ง ประเด็นการจ้างบริษัทอื่นทำงานแทน และการทิ้งงาน

“เมื่อเห็นข้อมูลพิรุธทั้ง 6 กรณี จะเห็นว่าพฤติการณ์เรื่องนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูล มาตรา 11, 13 และ 8 ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเกี่ยวข้องกับมาตรา 11 ประเด็นเรื่องการกำหนดเงื่อนไข คือ มีเพียงบริษัทเดียว ไม่มีการแข่งขันกัน 9 ภาค ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าข่าย มาตรา 13”นายธาริตระบุ

นอกจากนี้อธิบดีดีเอสไอ ยังได้ อนุมัติให้มีการสืบสวนในเรื่องของการฉ้อโกง เนื่องจากวิเคราะห์จากการกระทำทั้ง 6 ขั้นตอน ที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตว่าทางบริษัทพีซีซีฯ รู้อยู่แล้วว่าไม่มีความสามารถที่จะสร้างสถานีตำรวจให้แล้วเสร็จตามสัญญา เพราะบริษัทเดียวรับผิดชอบงานก่อสร้างทั่วประเทศ ประกอบกับบริษัทมีทุนจดทะเบียนแค่ 500 ล้านบาท ไม่เคยรับงานใหญ่ขนาดนี้ แต่มีการสู้ราคาที่ต่ำมาก เพราะต้องการแค่ชนะ ให้ได้สัญญา เพื่อต้องการแค่สัญญา เบิกเงินล่วงหน้า และถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นจะสู้ว่าเป็นความผิดทางแพ่ง เพราะมีการประมูลตามขั้นตอน เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย สร้างไม่ได้ หรือไม่ทันเวลา ก็ปล่อยบริษัทล้มละลาย ผู้บริหารไม่ต้องรับผิดทางอาญา ดังนั้น จึงสงสัยว่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ทำสัญญาทางแพ่งตามปกติ ทั้งนี้ คดีฉ้อโกงเป็นคดีเกี่ยวพัน พ.ร.บ.ฮั้ว ดีเอสไอ สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะถือเป็นการอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง

สำหรับโครงการนี้ย้อนไปเมื่อปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง วงเงินงบประมาณ 6,672,000,000 บาท แยกเป็นอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ 88 หลัง ขนาดกลาง 136 หลัง และ ขนาดเล็ก 172 หลัง ซึ่งตรงกับสมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. จากนั้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2552 มีการอนุมัติคำสั่งก่อสร้างครั้งแรกให้แยกเป็นรายกองบัญชาการ 1-9 แต่หลังจากนั้น 5 เดือน ในวันที่ 18 พ.ย. 2552 ในสมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. ได้มีการยกเลิกคำสั่งเดิมเป็นอนุมัติให้ประกวดราคารวมเข้าด้วยกันจากส่วนกลาง ก่อนมีการกำหนดประกวดราคาก่อสร้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ๊อคชั่น) โดยบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 5,848,000,000 บาท ต่ำ กว่าราคากลางถึง 540 ล้านบาท เอาชนะหจก.สามประสิทธิ์ จำกัด ที่เข้าร่วมเสนอราคา โดยเสนอราคาสู้ที่ 6,095 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 293 ล้านบาท

ในส่วนงบประมาณที่ใช้ดำเนินการก่อสร้าง สำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างเป็นงบผูกพัน ตั้งแต่ปี 2552-2555 แยกเป็น ปี 2552 จำนวน 311,500,000 บาท, ปี 2553 จำนวน 1,174,000,000 บาท, ปี 2554 จำนวน 2,199,852,800 บาท และปี 2555 จำนวน 2,162,647,200 บาท โดยสัญญาก่อสร้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2554 สิ้นสุดวันที่ 17 มิ.ย. 2555 รวมเวลาก่อสร้างตามสัญญา 450 วัน แต่มีการขยายสัญญาเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยอ้างปัญหาน้ำท่วม ครั้งแรกขยายออกไปอีก 30 วัน ครั้งที่ 2 ขยายไป 180 วัน และล่าสุดครั้งที่ 3 ขยายไป 60 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญา ในวันที่ 14 มี.ค. 2556 นี้

ทั้งนี้ ตามสัญญากำหนดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทผู้รับเหมาร้อยละ 15 ของราคาค่าจ้างคิดเป็นเงินจำนวน 877,200,000 บาท รวมทั้งมีการเบิกเงินค่างวดไปแล้วทั้งสิ้น 656,251,000 บาท รวมเป็นเงินที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 1,533,451,000 บาท แต่จากข้อมูลของสำนักงานส่งกำลังบำรุง หรือ สกบ.ระบุความคืบหน้าการก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมามีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 280 หลัง แต่ยังไม่มีหลังใดก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนอีก 116 หลัง ที่เหลือยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง

ขณะที่เรื่องนี้มีความเคลื่อนไหวในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการติดตามการดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ที่มี พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. เป็นประธานได้มีมติให้ยกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับเหมา โดยให้เหตุผลว่าอีกฝ่ายมีการทำผิดสัญญาที่ชัดเจน 2 ประการ ได้แก่ การฝ่าฝืนข้อห้ามในสัญญาที่ระบุว่าห้ามมีการจ้างช่วง ที่สำคัญที่สุด คือ การไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา โดยมีแนวโน้มเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่จะบอกเลิกสัญญาหลังวันที่ 14 มี.ค.2555 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดตามสัญญา และเตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทพีซีซีฯ

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายอำนวยการดำเนินการเตรียมการทางธุรการเพื่อจัดการประมูลใหม่ ซึ่งครั้งนี้จะมีการกระจายสัญญา และเร่งดำเนินการก่อสร้างให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้สั่งการให้มีการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงสถานีตำรวจชั่วคราวที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม ให้สามารถดำเนินการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ เนื้อหาในหนังสือที่นายพิบูลย์ทำชี้แจงถึงผบ.ตร. มีใจความสำคัญ สรุปได้ว่า ประเด็นการรวมสัญญา ทางบริษัท พีซีซีฯไม่เห็นด้วยกับการประมูลโดยการรวมสัญญาทั้งประเทศ ทางบริษัทและพวกมีความประสงค์จะเข้าร่วมประกวดราคา โดยวิธีแยกประมูล จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในขณะนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯในขณะนั้น เพื่อขอให้ใช้วิธีแยกประมูลเป็นรายภาค

คำชี้แจงดังกล่าวเมื่อผนวกรวมกับสิ่งที่ดีเอสไอตั้งเป็นประเด็น ก็ต้องบอกว่า ทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์เต้นเป็นเจ้าเข้า ทั้งตัวหัวหน้าพรรคคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐตรีในขณะนั้นที่เป็นผู้ลงนามในการเปลี่ยนสัญญาจากวิธีแยกประมูลเป็นวิธีรวมประมูล ทั้ง 2 คนกลายเป็น “คู่กรรม” ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนต้องมีการเปิดโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความฉาวโฉ่ที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในขณะนี้ได้ส่งผลกระเทือนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ไม่น้อย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ลงชิงชัย เพราะไม่ว่าสุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่นี่คือการดิสเครดิตทางการเมืองที่ทรงประสิทธิภาพยิ่ง

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา นายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์จึงเปิดชี้แจงรายละเอียดถี่ยิบ

“การพยายามดึงนายอภิสิทธิ์มาเป็นจำเลยในคดีนี้ เป็นการแสดงเจตนาชัดเจนว่าทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ถ้าตั้งข้อหาผมก็จะดำเนินคดีกับนายธาริตเพิ่มแน่นอน และเชื่อว่า พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.อ.ปทีป ก็ไม่เกี่ยวข้อง เพราะการประมูลเสร็จสิ้นในสมัย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. แต่ผมไม่ได้กล่าวหาว่าใครผิด เพียงแต่สงสัยว่าเหตุใดดีเอสไอจึงไม่มีการพิจารณาผู้ที่ต้องบริหารสัญญาว่าทำไมไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับเอกชน โดยเห็นว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร.ในช่วงการบริหารสัญญาต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ผมจึงอยากให้มีการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงต่อไป ผมฝากไปถึงนายธาริตด้วยว่า หากยังปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ หลังจากที่ผมชนะคดีอาญาแล้วจะดำเนินคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินให้เท่ากับบ้านหรูราคาหลักสิบล้านของนายธาริตด้วย เพราะที่ผ่านมาการกระทำของนายธาริตจงใจทำลายภาพลักษณ์การเมืองของผมและนายอภิสิทธิ์ ซึ่งผมก็ทำใจแล้วว่ามีรัฐบาลอธรรมก็จะถูกเล่นงาน จึงต้องพร้อมต่อสู้ทุกอย่าง”นายสุเทพแจกแจง

นี่คือสงครามการเมืองที่ร้อนแรงที่สุดในห้วงนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสุดท้ายแล้วผลจะออกมาอย่างไร ข้าราชการหรือนักการเมืองคนไหนมีความผิด แต่ที่แน่ๆ คือ โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจถือเป็นความอัปยศที่คนในแวดวงตำรวจไม่อาจลืมเลือน และเป็นประเด็นร้อนที่ประชาชนให้ความสนใจ ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการดำเนินการทางแพ่งกับบริษัทผู้รับเหมาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการดำเนินการสอบสวนหาตัวคนผู้กระทำผิด ทั้งในส่วนข้าราชการประจำ และนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการดังกล่าว ของ ดีเอสไอ ขณะที่ในมุมของการเมือง โครงการนี้อาจถือเป็นรอยด่างพร้อยของรัฐบาลประชาธิปัตย์ และกำลังถูกพรรคเพื่อไทยไล่บี้อย่างหนัก โดยฝ่ายหลังคาดหมายว่านี่จะเป็นหมัดเด็ดน็อก "สุเทพ เทือกสุบรรณ" คีย์แมนคนสำคัญของพรรค

ส่วนใครอยู่ใครจะไปต้องติดตาม...


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเปิดแถลงข่าวแก้ข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556
สภาพของโรงพักที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จในหลายพื้นที่
นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานกรรมการผู้จัดการพีซีซี ดีเวลล็อปเม้น แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานก่อสร้างสถานีตำรวจที่กำลังฉาวโฉ่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น