อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงโชว์หลักฐานหนังสือคัดค้านการประมูลการก่อสร้างโรงพักของผู้รับเหมาที่รวมตัวกันยื่นต่อ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สมัยเรืองอำนาจกำกับดูแล สตช.
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวประจำสัปดาห์กรณีความคืบหน้าการสอบสวนโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจ (ทดแทน) และการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า ล่าสุดดีเอสไอพบหลักฐานสำคัญว่าก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกคำสั่งอนุมัติก่อสร้างเป็นรายกองบัญชาการ 1-9 มาเป็นการประมูลแบบรวมสัญญา บริษัทผู้รับเหมาเคยรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล สตช.ในขณะนั้น ซึ่งมีสาระสำคัญระบุว่า หาก สตช.จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิมจากการประมูลรายภาคมาเป็นสัญญาเดียวทั้ง 2 โครงการ ก็ขอให้นายกฯ อย่าได้ลงนามอนุมัติหรือเห็นชอบโดยเด็ดขาด เพราะการจัดซื้อจัดจ้างวิธีดังกล่าวจะเป็นการกีดกันผู้รับจ้างในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รับจ้างส่วนใหญ่ของประเทศ นายกฯ เห็นชอบและอนุมัติจะเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างเพียงรายเดียวทันที เพราะผู้รับจ้างในภูมิภาคมีผลงานการก่อสร้างและวงเงินค้ำประกันสัญญาไม่สูงพอที่จะรับงาน อีกทั้งการก่อสร้างโดยรวมเพียงสัญญาเดียวก็ขัดต่อความเป็นจริงโดยทั่วไป เพราะผู้รับจ้างรายเดียวไม่สามารถก่อสร้างอาคารในสถานที่ห่างไกลทั่วประเทศได้ภายในระยะเวลาพร้อมกัน
นายธาริตยังกล่าวต่อว่า ในหนังสือฉบับดังกล่าวยังยกตัวอย่างความล้มเหลวการจัดจ้างแบบรวบสัญญาที่ สตช.เคยประสบมาแล้ว คือ แฟลตตำรวจ ที่มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการแล้วไม่สามารถแล้วเสร็จตามสัญญา เช่น ในจังหวัดภาคเหนือ และชายแดนภาคใต้ ที่ใช้เวลาก่อสร้างนาน 4-5 ปี อีกทั้งที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานหรือกระทรวงใดใช้แนวทางจัดจ้างแบบรวมงบประมาณเป็นสัญญาเดียว เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล หอพักแพทย์ พยาบาลทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (เอสพี 2) เช่นเดียวกับ สตช.ก็ไม่ใช้วิธีจัดจ้างแบบรวมสัญญา ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายฮั้วประมูล โดยหนังสือฉบับดังกล่าวมีการเข้าชื่อกันเป็นหางว่าวรวม 8 บริษัท โดยชื่อแรกที่ร่วมคัดค้านคือบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ทั้งนี้ ดีเอสไอจึงเห็นควรว่าจำเป็นต้องเรียกนายอภิสิทธิ์เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเช่นกัน และหากพบว่ามีมูลความผิดก็ต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ไต่สวนต่อไป
“ขณะนี้มีเอกสารหลักฐานชัดเจนว่ามีการส่งหนังสือฉบับดังกล่าวส่งบุคคลทั้งสอง แต่การคัดค้านไม่เป็นผล ฝ่ายการเมืองยังคงสั่งอนุมัติยกเลิกให้รวมเป็นสัญญาเดียว เมื่อมีหลักฐานโยงไปถึงนายอภิสิทธิ์ ดังนั้นจึงได้หารือพนักงานสอบสวนแล้วว่า นอกจากนายสุเทพแล้วจำเป็นต้องเชิญนายอภิสิทธิ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม” นายธาริตกล่าว
นายธาริตยังกล่าวว่า หลังได้รับเรื่องร้องทุกข์ซึ่งดีเอสไอยังพบการกระทำความผิดเข้าข่ายข้อหาฉ้อโกง ซึ่งล่าสุดมีบริษัทรับเหมาช่วง 5 บริษัทเข้ามาให้ถ้อยคำและร้องทุกข์ฐานฉ้อโกงต่อบริษัท พีซีซี ซึ่งมีพฤติการณ์ทั้งฉ้อโกงงบประมาณ สตช.ที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วมากกว่า 1,500 ล้านบาท รวมถึงฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วง ด้วยการจ่ายเงินไม่ครบ หรือไม่จ่ายเงินค่าจ้าง แต่ได้งานไปของบจาก สตช.เพิ่ม จากกรณีดังกล่าวดีเอสไอจึงได้อนุมัติให้สอบสวนกรณีฉ้อโกงเป็นคดีพิเศษทันที โดยเชื่อว่ายังมีผู้รับเหมาอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ร้องทุกข์ ซึ่งดีเอสไอขอให้มาร้องทุกข์ต่อเนื่องได้ทันที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสอบสวนพบข้อเท็จจริงพอสมควรว่ามีการหลอกลวง ปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณของ สตช.ในวันนี้จึงได้ทำหนังสือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะที่ สตช.เป็นเสียหายโดยตรงเข้ามาร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกงกับดีเอสไออย่างเป็นทางการ
เมื่อถามว่าขณะนี้การสอบสวนพบมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า จากการสอบสวนพบมีข้อมูลบางอย่างเชื่อมโยงกันแต่ดีเอสไอยังไม่ขอเปิดเผยเพราะเกรงว่าพยานจะไม่ได้รับความปลอดภัยและอาจกระทบต่อรูปคดี