xs
xsm
sm
md
lg

ราคาของความไม่เท่าเทียมทางสังคม

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะจากภาคการเมืองเนื่องจากนักการเมืองมักไม่มีเจตจำนงทางการเมือง (political will) ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมที่สร้างความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม เช่นกันกับไม่อาจคลี่คลายวิกฤตความไม่เท่าเทียมทางสังคมภายในระยะเวลาอันสั้นอันเนื่องมาจากรากฐานปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมของสังคมไทยเป็นเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่นอกจากซุกซ่อนสัดส่วนมโหฬารไว้ใต้ผืนทะเลครามแล้ว ยังยากจะกร่อนกัดพังทลายลงได้ด้วยการกำนหนดนโยบายหรือกฎหมายแค่ฉบับเดียวด้วย

ดังนี้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงต้องการพลังของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในระดับของโครงสร้าง เพราะไม่เพียงประชาชนจะเป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยทั้งในห้วงยามของการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งโดยการใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองไปเลือกตัวแทน (representative) เพื่อทำหน้าที่แทนตนเองเท่านั้น แต่ทว่าประชาชนยังเป็นพลังสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจต่างๆ ไม่ให้ฉ้อฉลทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลโดยการกำกับให้นโยบายสาธารณะต่างๆ ที่ออกมาสร้างประโยชน์ต่อสาธารณชนเป็นสำคัญด้วย เพื่อจะสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรมและเท่าเทียม

ทั้งนี้ในการถมช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างอย่างมากระหว่างกลุ่มคนบนสุดจำนวนน้อยนิดกับกลุ่มล่างสุดจำนวนมากที่มีรายได้และการถือครองทรัพย์สินต่างกันนับพันเท่าหมื่นเท่าจนประเทศไทยได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจากการที่มีอภิมหาเศรษฐีติดอันดับโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์จำนวนหนึ่งในขณะที่มีผู้คนอีกจำนวนมหาศาลยากจนข้นแค้นใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) นั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรการเมือง ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรธรรมชาติ ‘ใหม่’ ให้มีความเป็นธรรมกับคนเล็กคนน้อยมากขึ้น รวมถึงทบทวนแนวทางการพัฒนาประเทศที่เติบโตบนเส้นทางการใช้ทรัพยากรแบบเดิม (business as usual) ที่มีแต่จะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะมุ่งเน้นการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติโดยปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนทำชีวิตผู้คนพังพินาศจากการเข้ามารุกรานของอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นจนหมด

ราคาของความไม่เท่าเทียมทางสังคมของคนไทยจึงไม่ได้ปรากฎเป็นรูปธรรมแค่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้หรือเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการพัฒนาแบบอุตสาหกรรมอันมีกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นผู้เล่นหลักและมีบรรษัทข้ามชาติ (Transnational Corporations: TNCs) เป็นกลจักรสำคัญในการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติไปจากชุมชนท้องถิ่นจนเกิดปรากฎการณ์ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ เท่านั้น ทว่าราคาของความไม่เท่าเทียมทางสังคมยังส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงความเป็นธรรมทางกฎหมายที่ภายใต้สายธารกระบวนการยุติธรรมเดียวกันคนข้นแค้นยากจนจะถูกเลือกปฏิบัติต่างจากคนร่ำรวยหรือกลุ่มกุมอำนาจและทรัพยากร ตลอดจนปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพด้านต่างๆ ตั้งแต่การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม จนถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) และเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะ (freedom of assembly) ที่ถือเป็นวิถีทางประชาธิปไตย

ในการกำหนดอนาคตประเทศไทยจึงจำเป็นต้องก้าวข้ามกับดักความเหลื่อมล้ำ (inequality trap) ด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเพื่อจะสามารถเปลี่ยนประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคม ควบคู่กับการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap) เพื่อไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศโลกที่หนึ่งซึ่งอุตสาหกรรมไม่เป็นพิษภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกการพัฒนาประเทศในทิศทางของเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (knowledge based economy) หรือเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่จะมาแทนเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากร (resource based economy) จะสามารถตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของไทยที่กำลังพังทลายลงได้ ในขณะเดียวกันการกำหนดนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางสังคมบนผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนก็จะตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกตักตวงผลประโยชน์ผ่องถ่ายไปสู่กลุ่มกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองได้เช่นกัน

เพื่อจะสานฝันวันที่ประเทศไทยใช้แนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้และมีความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคมเป็นตาข่ายรองรับประชาชนทุกคน ข้อเสนอแนะและประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยในระดับปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงควรมาจากกระบวนการที่ทุกภาคส่วนสังคมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนถึงผลิตออกมาเป็นชุดข้อเสนอเชิงนโยบายที่นำไปปฏิบัติการได้จริงเพื่อจะต้านการกลืนกินทุนทรัพยากรของสังคมไทยในทุกด้านผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมและการครอบงำทางความคิดทั้งในเชิงของระเบียบกฎหมายการค้าการลงทุน ข่าวสารข้อมูล จนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ดังที่สมัชชาปฏิรูปประเทศไทยพยายามผนวกทุกภาคส่วนสังคมเข้ามาสร้าง ‘มติฉันทามติปฏิรูปประเทศไทย’ ร่วมกันผ่านเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ สมัชชาปฏิรูประดับจังหวัด และสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น เพื่อจะระดมความคิดเห็นก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อหยุดยั้งความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำที่ทำสังคมไทยไม่ก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ภายใต้ราคาของความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ประชาชน โดยเฉพาะคนข้นแค้นยากจนต้อง ‘จ่าย’ ที่หลายคราวครั้งหมายถึงทั้งชีวิต ครอบครัว เพื่อนมิตร หรือกระทั่งอิสรภาพต้องสิ้นสูญไปนั้นจักคลี่คลายลงได้ก็ด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ควบคู่กับประชาชนตื่นตัวเป็นกลจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเป็นกำลังหลักในการ ‘ปฏิรูปประเทศไทย’
กำลังโหลดความคิดเห็น