ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันร่วมประชุมที่ภูเก็ต ระดมสมองจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่แผนงาน IMT-GT ต้อนรับสู่ประชาคมอาเซียน เน้นชูจุดขายแต่ละจังหวัด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ห้องจามจุรี 1 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดมสมอง เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตามแผนงาน IMT-GT และการขับเคลื่อนโครงการตาม IMT-GT Implementation Blueprint ปี 2012-2016 ครั้งที่ 1 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมี นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายเจริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายไพโรจน์ โพธิวงศ์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และระนอง ตลอดจนผู้แทนจากสภาธุรกิจภาคใต้เข้าร่วมประชุม
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ความสำคัญของอนุภูมิภาค IMT-GT ต่อการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยเฉพาะในด้านการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ภายใต้การดำเนินการจัดทำ ทั้งยุทธศาสตร์ประเทศไทยในอนาคตที่มีแนวคิดในการกำหนดบริบทใหม่ของประเทศ ใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดกรอบแนวคิด และทิศทางสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง และยั่งยืน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีบทบาทสูงต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการเกษตรซึ่งเป็นรายได้หลักของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และภาคบริการที่เป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ของประเทศ พร้อมยังได้พิจารณาถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร ประกอบกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อนซึ่งกระทบต่อรูปแบบการบริโภค จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ ประเทศ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง, การลดความเหลื่อมล้ำ, การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างสมดุลและปรับระบบบริหารจัดการภายในของรัฐ
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนงาน IMT-GT เป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการบูรณาการศักยภาพของพื้นที่ การสนับสนุนซึ่งกันและกันในเชิงเศรษฐกิจ และโอกาสทางธุรกิจในอนุภูมิภาคของ 3 ประเทศ ได้แก่ 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย 8 รัฐตอนเหนือ และตะวันตกของมาเลเซีย และ 10 จังหวัดในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง เพื่อให้เป็นพื้นที่การพัฒนาที่ต่อเนื่อง ก้าวหน้า มั่งคง และมีสันติภาพ โดยประชาชนได้มีการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง โดยผู้นำ 3 ประเทศได้เน้นย้ำบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัด และมุขมนตรีของพื้นที่ IMT-GT ในการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการนำเสนอโครงการที่มีศักยภาพจากระดับพื้นที่สู่การพิจารณาระดับนโยบาย
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังกล่าวต่อว่า ผู้แทนจังหวัด และกลุ่มจังหวัดอันดามันได้นำเสนอความก้าวหน้า และศักยภาพการพัฒนาพื้นที่จังหวัดกลุ่มอันดามัน อันมีวิสัยทัศน์การพัฒนาตนเองไปสู่ “การท่องเที่ยวทางทะเลที่มีคุณภาพระดับโลกบนฐานความเข้มแข็งของภาคเกษตร และชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยสามารถแบ่งทิศทางการพัฒนาจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดในกลุ่มอันดามันตามศักยภาพรายจังหวัด ได้ดังนี้ ภูเก็ต ท่องเที่ยวทางทะเล, ระนอง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, พังงา ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน, กระบี่ ท่องเที่ยวทางทะเล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และตรัง ยางพารา ท่องเที่ยวทางทะเล แปรรูปอาหารทะเล
โดยผลสรุปจากการประชุมระดมสมองเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่แผนงาน IMT-GT และการขับเคลื่อนโครงการตาม IMT-GT Implementation Blueprint ปี 2012-2016 ในครั้งนี้ จะนำสู่การสรุปรวบรวมเข้ากับยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ชายแดนเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 18 มี.ค.2556 ณ จังหวัดสงขลาต่อไป
ด้าน นายธีระยุทธ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้อันดามัน ก็เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ IMT จะต้องเคลื่อนพลตัวเองมาสู่จังหวัดที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ทุกครั้งที่ให้จังหวัดหา IMT ระหว่างประเทศ ความสำคัญ ความรู้สึกของผู้บริหารแต่ละจังหวัด เกิดความไม่พร้อม ให้ความสำคัญน้อยไป ฉะนั้น IMT ต้องให้ความสำคัญของแต่ละจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ให้มากขึ้น ผู้บริหารของจังหวัดต้องให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจ IMT มากขึ้นด้วย ทำให้การทำเรื่องทุกเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันได้ คิดว่าการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมาที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นศูนย์กลางอันดามันน่าจะเป็นประโยชน์ เนื่องจากจะได้ข้อมูลโครงการ และความเป็นจริงต่างๆ เพื่อยกแผนงาน IMT ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยตอนใต้ให้เกิดความเป็นจริงเป็นจัง ขณะเดียวกัน อยากร้องขอให้หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญของแผนงาน โครงการจังหวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ IMT ให้มากขึ้น โดยการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม