xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุค“นายกฯยิ่งลักษณ์” ข้าราชการโกงน้อยลงจริงหรือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรี ยังไม่มีมีวาระแต่งตั้ง คณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทั้งหมด จึงยังไม่รู้ว่า จะมีใครบ้าง

แต่แว่วว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี จะเข้ามานั่งเป็นประธาน รวมทั้ง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ก.พ.ร. จะนั่งเป็นรองประธาน

ส่วนกรรมการอื่น ๆ ที่ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านเงินเดือนและค่าตอบแทน จำนวน 6 คน รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเปิดชื่อในครม.ครั้งต่อๆไป

หลังจากที่ ครม.มีตัวเลข การสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2555ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบตัวเลขที่น่าสนใจ พบว่า

“5 ปี พบหนี้สูงขึ้น 18 เท่า หรือ 1,111,425 บาทต่อครอบครัว” เรื่องนี้ต้องดูกันอีกยาว

การประชุม ครม.สัปดาห์ก่อน มีวาระที่น่าสนใจ เรื่องที่ สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอให้ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ รายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2554 ยุคที่พรรคเพื่อไทย ที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลทุกหน่วยราชการ

หากเปรียบกับรายงานการพัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2553 ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นศูนย์กลางกระจายนโยบาย

พบว่าส่วนรายการ มีหน่วยงานเพิ่มขึ้นและลดลง ในส่วนกลางเท่าเดิม 177 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค รวม

954 หน่วยงาน เพิ่มขึ้น 1 หน่วยงาน คือ จ.บึงกาฬ ขณะที่ส่วนท้องถิ่น ถูกปรับลดลงเหลือ 7,853 หน่วยงาน จากเดิม 8,316 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง องค์การมหาชน เพิ่มขื้น 66 องค์การ จากเดิม 57 องค์การ และหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ (หน่วยธุรการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ) เท่าเดิมที่ 8 แห่ง

ขณะที่กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนทั้งข้าราชการและบุคลากรประเภทอื่น ปี 2553 มีจำนวน 2,036,176 คน ในปี 2554 เพิ่มจำนวน 2,112,684 คน

เรื่องบุคลากรนี้ ก.พ.ร.แจ้งว่า ปรากฎว่า คนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบราชการได้น้อยลง เนื่องจากกรณีที่มีการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งทั้งประเภทวิชาการและประเภททั่วไป ทำให้ต้องยุบตำแหน่ง ระดับการบรรจุ ทั้งประเภทวิชาการและประเภททั่วไป เพื่อนำอัตราเงินเดือนมาพอกเป็นเงินเดือนของตำแหน่งที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้มีเงินเดือนสอดคล้อง คนรุ่นใหม่จึงมีโอกาสในการเข้าสู่ระบบราชการได้น้อยลง โอกาสที่คนเก่งคนดีจะเข้ามาเป็นกำลังของระบบจึงเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้ระบบราชการไทยอยู่ในสภาวะที่ยากแก่การปรับตัว

แต่ที่น่าสนใจสุด ๆของรายงานฉบับปี 2554 ก.พ.ร. ระบุว่า สมรรถนะในการแข่งขันของระบบราชการไทยเชิงเปรียบเทียบ ในส่วนเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 19 จาก 183 ประเทศ และได้มีการตัดปัจจัยในการประเมินบางตัวออกไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยทำได้ดีมีคะแนนสูง ทำให้ลำดับของประเทศไทยจึงถูกปรับลดลงไปอยู่ที่ 19

ในส่วนดัชนีสภาวะธรรมาภิบาล มิติประสิทธิผลของภาครัฐ และมิติคุณภาพของมาตรการควบคุม ยังคงอยู่ใน Percentile Rank ที่ 50-75 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยพบว่าอยู่ในอันดับที่ 27

สำหรับอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของนานาประเทศ ซึ่งประเทศที่มีค่าดัชนีสูงสุดคือ ประเทศที่มีคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด ซึ่งการจัดอันดับปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 80 (ค่าดัชนี 3.4) โดยปรับลำดับลดลงมาจากปี พ.ศ. 2553 ซึ่งอยู่ที่ลำดับที่ 78 (ค่าดัชนี 3.5) หากพิจารณาจากค่าดัชนี เมื่อเทียบกับปีก่อน จะปรับดีขึ้น 0.1 คะแนน แต่ลำดับกลับลดลง

ตรงนี้ พูดง่ายๆ ก็คือหมายถึงการคอร์รัปชั่นในไทยลดลงเล็กน้อย แต่ภาพลักษณ์กลับด้อยลงเมื่อเทียบกับนานาประเทศ

อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 ดูดีขึ้น เมื่อพิจารณาย้อนไปในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมีลำดับอยู่ที่ 84 ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในลำดับเดียวกับประเทศโคลัมเบีย เอลซัลวาดอร์ กรีซ โมร็อคโค และเปรู ซึ่งมีค่าดัชนี 3.4 เท่ากัน

เมื่อเทียบ กับรายงานของปี 2553 พบว่า สมรรถนะในการแข่งขันของระบบราชการไทยเชิงเปรียบเทียบในส่วนความเป็นประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนประกอบธุรกิจในปี 2553 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 12 จาก 183 ประเทศ และธนาคารโลกได้มีการปรับลดปัจจัยที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมิน และปัจจัยที่ลดไปเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยมีขีดสมรรถนะสูง ทำให้อันดับของประเทศไทยเปลี่ยนไปอยู่ในอันดับที่ 16

ในส่วนดัชนีสภาวะธรรมาภิบาลโดยรวมของประเทศไทย ปี 2553 ยังอยู่ในกลุ่ม Percentile Rank เดิม คือ Percentile Rank 50 -57 ส่วนมิติประสิทธิผลของภาครัฐ และมิตินิติธรรม ลดลงเล็กน้อย อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยพบว่าอยู่ในอันดับที่ 26 อันดับ ประสิทธิภาพระบบราชการไทยพบว่าอยู่ในอันดับที่ 3 จาก 12 ประเทศ รองจาก สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยมีประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และจีน อยู่รองลงมาตามลำดับ ความพร้อมในการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พบว่าอยู่ในลำดับที่ 76 จากจำนวน 184 ประเทศ

อย่างไรก็ตามในส่วนรายงานปี 2554 ยังชี้ถึง ความพร้อมในการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 64 และ76 ในปี พ.ศ. 2551 และปี พ.ศ. 2553 ตามลำดับ ปัจจัยความพร้อมแต่ละด้านของการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ยังเป็นประเด็นท้าทายที่จะต้องเพิ่มความเร่งในช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2558 ให้มากกว่าความเร็วในการพัฒนาของช่วงที่ผ่านมา มิฉะนั้น โอกาสการเป็นผู้นำในภูมิภาคของอาเซียนของประเทศไทยในด้านนี้คงเป็นไปได้ยาก อันดับประสิทธิภาพระบบราชการไทยพบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศแรกที่ระบบราชการมีประสิทธิภาพ รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง

ขณะที่ความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบราชการไทย พบว่า ส่วนราชการมีผลการประเมินเฉลี่ยสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากมีหลายส่วนราชการที่ผลการประเมินสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก ในส่วนของจังหวัดมีผลการประเมินเฉลี่ยสูงกว่าเป้าหมาย ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาพบว่า ค่าคะแนนต่ำสุดและค่าคะแนนเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และคะแนนเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำลง ผลการประเมินการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนในภาพรวมการ ปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

นี้คือบางส่วนในรายงาน พัฒนาระบบราชการไทย ประจำปี พ.ศ. 2554 ยุคพรรคเพื่อไทย ที่พยายามอ้างว่า มีการคอร์รัปชั่นในไทยลดลงเล็กน้อย แต่ภาพลักษณ์กลับด้อยลงเมื่อเทียบกับนานาประเทศ
 
เหมือนกับว่า ยุค“นายกฯยิ่งลักษณ์”ข้าราชการ โกงกันน้อยลงเท่านั้น!


กำลังโหลดความคิดเห็น