xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งรับคดี"มาร์ค-สุเทพ"-ฟ้อง“ธาริต”ยัดข้อหาฆ่าคนตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลอาญารับคำฟ้อง พร้อมนัดไต่สวนมูลฟ้อง 29 เม.ย. คดี“มาร์ค-เทพเทือก”ฟ้อง “ธาริต”อธิบดีดีเอสไอกับลูกน้อง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ม.157 กลั่นแกล้ง ยัดข้อหาฆ่าคนตายทำเสื่อมเสียชื่อเสียง

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วานนี้ (24 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวนเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และเจ้าพนักงานที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200, 90 และ 83

โจทก์ฟ้องว่า สืบเนื่องจากกรณี แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เริ่มชุมนุมตั้งแต่ต้นปี 2552 เนื่องจากไม่พอใจมติสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบให้โจทก์ที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี มีการรวมตัวต่อต้านรัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา หรือลาออกจากตำแหน่ง โดยการยุยงสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้วิธีโฟนอินและวิดีโอลิงก์ปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดง จนในที่สุดเดือน เม.ย. 2552 นายอริสมันต์นำคนเสื้อแดงบุกเข้าไปยังโรงแรมรอยัลคลิฟบีช อ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 10-12 เม.ย. 2552 เพื่อล้มการประชุมได้สำเร็จ และยังสร้างความวุ่นวายในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่ง มีการปลุกระดมคนเสื้อแดงที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลไปทำร้ายนายอภิสิทธิ์ ขัดขวางไม่ให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2552 จนนำไปสู่การปิดล้อมและทุบรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 และ 2 เพื่อมุ่งร้ายเอาชีวิต

ต่อมารัฐบาลได้ควบคุมสถานการณ์ได้จึงเป็นผลให้วันที่ 14 เม.ย. 2552 แกนนำคนเสื้อแดงตัดสินใจยุติการชุมนุมและมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหามั่วสุมกันเกิน 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนต่อเนื่องถึงปี 2553 มีการใช้กองกำลังที่มีอาวุธสงคราม หรือที่เรียกว่ากองกำลังชายชุดดำ สร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ใช้อาวุธสงครามและเครื่องยิงระเบิดใส่สถานที่ราชการหลายแห่ง, ขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าไปยังสถานสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งธนาคารกรุงเทพหลายสาขา ใช้เครื่องยิงระเบิดใส่ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่โจทก์ที่ 1 และ 2 รับผิดชอบดูแลฝ่ายความมั่นคงได้ขออำนาจศาลแพ่งคุ้มครอง แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยังสร้างสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงวันที่ 7 เม.ย. 2553 กลุ่มเสื้อแดงได้ทำการปิดล้อมและพังรั้วของรัฐสภาในขณะที่มีการประชุมรัฐสภาทำให้ ส.ส.ต้องหลบหนีออกจากที่ทำการรัฐสภาอีกด้วย

จากเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าว โจทก์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 7 เม.ย. 2553 เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ปกติโดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นและมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 เป็น ผอ.ศอฉ. โดยมีการมอบหมายนโยบายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอย่างชัดเจน ไม่ให้มีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ปฏิบัติการหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการของ ศอฉ.อยู่ด้วยนั้นก็ทราบอย่างดี และคำสั่งดังกล่าวไม่มีข้อความใดระบุให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้อาวุธปืนทำร้ายประชาชน เว้นแต่ป้องกันตัวเอง ชีวิตทรัพย์สินของประชาชน และการออกคำสั่งของ ศอฉ.เป็นไปตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทำหน้าที่ระงับป้องกันการกระทำผิดกฎหมายเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายซึ่งมีอาวุธสงครามร้ายแรงแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย มีการใช้อาวุธสงครามทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจึงเป็นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องปิดล้อมผู้ชุมนุมไม่ให้เพิ่มขึ้น

จากมาตรการดังกล่าว ทำให้นายจตุพรได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งไต่สวนฉุกเฉินห้ามโจทก์ทั้งสองใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม ต่อมาศาลแพ่งมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร การที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมืองโดยมีอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นก็สามารถนำมาระงับยับยั้งไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ด้วยเหตุผลดังกล่าว คำสั่งของ ศอฉ.จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และพนักงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาหรือทางวินัย เพราะเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่ให้เกินสมควรแก่เหตุ ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นดังที่บัญญัติในมาตรา 17 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และตามคำสั่งของศาลแพ่ง

เมื่อระหว่างเดือน ก.ค. 2554 - 13 ธ.ค. 2555 จำเลยทั้งสี่ ในฐานะพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญาโดยตั้งข้อกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองสั่งฆ่าประชาชนโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล จากกรณีที่ ศอฉ.เข้ากระชับขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.หรือคนเสื้อแดงที่ชุมนุมโดยผิดกฎหมายเมื่อช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. 2553 ที่บริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ รวมทั้งอีกหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยจำเลยทั้งสี่ต่างทราบดีว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.เป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าขอบเขตรัฐธรรมนูญ ก่อการร้าย ก่อการจลาจล สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน การกระทำของพวกจำเลยเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย มีอคติ ยอมตนเป็นเครื่องมือของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กลั่นแกล้งเจตนามุ่งหมายทำลายชื่อเสียงของโจทก์ทั้งสอง และพรรคประชาธิปัตย์ในทางการเมือง และเพื่อให้รับโทษทางอาญามีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งนี้ ศาลอาญาได้รับคำฟ้องไว้ พร้อมนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์วันที่ 29 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น