“เป็ดเหลิม” หวังบารมีผู้นำท้องถิ่น จชต.แก้ไฟใต้ แย้มได้ผลดีมีตบรางวัล เผย 7 ม.ค.เข้าพบจุฬาราชมนตรี ขอทำความเข้าใจ ปชช. ส่ง กต.แจ้งประเทศมุสลิม ประณามเหตุโจรใต้ฆ่าครู หวังตัดท่อน้ำเลี้ยง พร้อมไปมาเลย์-อินโดฯ อุบไต๋เหตุบิน ปัดยกระดับปัญหาจี้ปราบเงินหนุน ชี้ทั่วโลกรู้ใครอยู่เบื้องหลัง แฉมีการเปลี่ยนวิธีส่งเงินหนุน ส่วนใหญ่เป็นสกุลริงกิต ยันต้องฟันธงประเทศใดก่อปัญหา เลี่ยงตอบเยียวยาครูเท่าม็อบแดง แจงเหตุใบปลิวขู่ฆ่าครูเรื่องปกติโจร เตรียมสืบอ้างแกนนำโทร.จากสวีเดน-ยันไม่เป็นผล 2 แกนนำ ปชป.ไม่เซ็นรับข้อหาฆ่าแดง ย้ำไร้แทรกแซง เย้ยไม่กลัวถูกฟ้องกลับ
วันนี้ (14 ธ.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตนในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ให้เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา โดยให้บอกว่าตนหวังพึ่งบารมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหวังให้ช่วยเหลือ ซึ่งหากแก้ปัญหาได้ประสบความสำเร็จถือเป็นเครดิตของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านส่วนหนึ่งและถือเป็นส่วนสำคัญ ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรวบรวมสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการ โดยให้แจ้งมาที่ตนเพื่อจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ นอกจากนี้ จุฬาราชมนตรีได้อนุญาตให้ตนเข้าพบในวันที่ 7 ม.ค. 56 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานจุฬาราชมนตรี โดยตนจะขอความกรุณาจุฬาราชมนตรีให้บันทึกเทปหรือแสดงอะไรก็ตามเพื่อสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการสังหารครูไทยพุทธเสียชีวิต 2 ราย ที่โรงเรียนบาโง อ.มายอ จ.ปัตตานีนั้น ตนจะทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้แจ้งไปยังประเทศมุสลิมทั่วโลกให้รู้ถึงพฤติกรรมอันโหดเหี้ยมของผู้ก่อการที่ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์และสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม หวังผลให้ใครก็ตามที่เคยให้เงินก็อย่าให้ อย่าสนับสนุน และตนจะดำเนินการแก้ไขปัญหาจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศ โดยจะเดินทางไปประเทศมาเลเซียและหากมีโอกาสก็จะไปประเทศอินโดนีเซียด้วย ส่วนจะไปพบใคร เมื่อใดขอยังไม่บอกเพราะอยู่ในขั้นตอนของการประสาน ทั้งนี้เรื่องกำหนดการจะต้องดูจังหวะเวลาและความพร้อมของประเทศดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อตนได้รับมอบหมายจะทำงานเต็มที่ ซึ่งจะใช้แนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ใช้การบูรณาการทุกภาคส่วน แต่ทั้งนี้ให้ใช้ทหารเป็นหลักเหมือนเดิม
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะไปขอให้ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียช่วยในเรื่องอะไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ แต่ปัญหานี้แก้ไขในประเทศไม่สำเร็จ ยืนยันว่าไม่ใช่การยกระดับปัญหาแต่เป็นการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องแก้ให้ตรงจุด เพราะหากไม่มีเงินจะมาเคลื่อนไหวได้อย่างไร เมื่อถามว่า พูดได้หรือไม่ว่าผู้สนับสนุนอยู่บริเวณรอบประเทศไทย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า เขารู้กันทั้งโลก และเขาอาจจะเข้าใจผิดคิดว่ารัฐใช้ความรุนแรงและข่มเหงรังแกซึ่งไม่ใช่ เมื่อถามว่า การเดินทางไปประเทศมาเลเซียถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่บอก แต่ตนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น เมื่อถามว่า ได้ตรวจสอบน้ำเลี้ยงที่เข้ามาจากต่างประเทศหรือไม่ว่าแต่ละปีมีจำนวนเท่าไหร่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนไม่ทราบ มันเหมือนกับการค้ายาเสพติดวันนี้ มันเปลี่ยนวิธีการ เมื่อก่อนโอนเงินเข้าบัญชี ตอนนี้ใช้ขนเงินสด มันก็ตรวจสอบไม่ได้ และขนเงินสดไม่มีสายรัด ใช้หนังสติ๊กรัด การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อะไรที่ทำมาแล้วดีก็ทำต่อไป ถ้าอะไรที่เพิ่มเติมแล้วมันจะดีบ้าง ก็ต้องเพิ่มเติม เมื่อถามว่า เงินที่เข้ามาเป็นเงินสกุลใด ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นริงกิต
“คือบางครั้งเรานึกอย่างเดียวว่าจะกระทบความสัมพันธ์ มันต้องดูด้วยว่าความทุกข์ยากมันอยู่ในบ้านเรา อย่างกรณีที่ผมบอกพม่าผลิตยาเสพติด คนก็มาว่าผมไม่มีมารยาทไปกล่าวหาพม่า ก็มันผลิตจากพม่าจริงๆ ก็ฟันธงไปเลยการแก้ปัญหามันก็ดีขึ้น สำหรับแนวทางไปขอความร่วมมือกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นอย่างไรยังบอกไม่ได้ แต่ผมมีวิธีของผม” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการปูนบำเหน็จให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะที่เข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า บนพื้นฐานความเป็นจริงใครจะรู้จักพื้นที่ดีเท่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเขารู้หมด หากให้ความร่วมมือก็จบ ซึ่งตัวชี้วัดตรงนี้จะดูจากคดีลดลงหรือไม่ อาชีพครูดีขึ้นหรือไม่ โดย 6 เดือนประเมินผล 1 ครั้ง ส่วนเรื่องรางวัลในตำแหน่งหน้าที่การงานหลังจากเข้ามาช่วยเหลือแล้วนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปถามแล้ว และก็มีระเบียบกฎเกณฑ์อยู่แล้ว
เมื่อถึงความเป็นไปได้จะจ่ายเงินเยียวยาครูที่เสียชีวิตในจำนวนที่เท่ากับผู้เสียชีวิตจากการความสงบทางการเมือง รองนายกฯ กล่าวว่า ตนพูดเองไม่ได้ แต่ส่วนตัวถือเป็นชีวิตที่มีค่า อะไรที่รัฐทำได้จะต้องทำ โดยตนจะรวบรวมปัญหาทั้งหมดเสนอนายกฯ อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนประเมินค่าไม่ได้ แต่กรณีไหนที่เป็นกรณีตัวอย่างและไม่ขัดต่อกฎระเบียบก็ต้องช่วย
ส่วนกรณีที่การโปรยใบปลิวระหว่างที่นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า “สงครามยังไม่จบ อย่างเพิ่งนับศพครู” นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ธรรมดาเพราะอยู่คนละฝ่าย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่วิธีการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อความไม่สงบไม่มีความเกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้วแน่นอน เพราะวันนี้ใครเอามวลชนได้มากคนนั้นชนะ ใครลงมือทำก่อนแพ้ ใครใจเย็นชนะ ซึ่งวันนี้มวลชนส่วนใหญ่อยู่ข้างรัฐบาล แต่รัฐบาลใช้อำนาจในทางปราบปรามไม่ได้ ต้องเจรจา สำหรับกรณีที่มีคนโทรศัพท์มาหาตนบอกว่าเป็นแกนนำผู้ก่อความไม่สงบซึ่งอยู่ที่สวีเดนนั้น ขณะนี้กำลังเช็กอยู่ว่าเป็นของจริงหรือไม่
รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงสถานการณ์หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนายการศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน เดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” กรณีลงนามในคำสั่งสลายการชุมนุมปี 2553 จนทำให้นายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่เสียชีวิตว่า ตนเชื่อว่าไม่วุ่นวายทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย แต่ตนไม่อยากแสดงความเห็นเรื่องนี้ เดี๋ยวจะหาว่าเอาการเมืองไปแทรกแซง แต่ย้ำกี่ครั้งก็เป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่จะเซ็นรับหรือไม่เซ็นรับข้อกล่าวหาจะแตกต่างกันอย่างไร เพราะมีข้อถกเถียงในเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่แตกต่าง สมัยตนเป็นร้อยตำรวจตรี ร้อยตำรวจโทก็เยอะแยะ ผู้ต้องหาให้การเสร็จก็ไม่ขอลงรายมือชื่อเขาก็บันทึกต่อท้าย ได้อ่านคำให้การผู้ต้องหาฟังแล้วผู้ต้องหาไม่ลงรายมือชื่อ จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐานก็เท่านั้น และไม่มีผลทางคดีด้วย เพราะคำให้การผู้ต้องหานั้นจะให้การอย่างไรก็ได้ หรือไม่ให้การก็ได้ จะเซ็นชื่อก็ได้ไม่เซ็นชื่อก็ได้เป็นสิทธิ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้นนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะนำไปฟ้องร้องต่อ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานไปห้ามไม่ได้ ก็ไปฟ้องนายธาริต แต่ถ้าอยากสนุกก็ฟ้องตนด้วยก็เป็นเรื่องการฟ้องเท็จ