ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายกฯ ทำใจกล้านำคณะลงถกแก้ปัญหาความไม่สงบ รับปากช่วยครูใต้เต็มที่ทั้ง "เบี้ยเสี่ยงภัย-การเยียวยา" ด้านสมาพันธ์ครูฯ พอใจเสนอตั้ง CCTV ในโรงเรียน "สกสค." จวก! รัฐเมินครูใต้ปล่อยตายไม่เว้นวันร้องขอเงินเยียวยา 7.75 ล้านบาทเท่ากับคนเสื้อแดง "สปต." เผยตัวเลขครูใต้ขอย้ายออกตั้งแต่ปี 2545 จำนวน 6,176 รายแต่ย้ายได้จริง 1,843 ราย ขณะที่ใบปลิวขู่ว่อน ระทึกเรือเหาะ 300 ล้านดูแล “ปู” ตกพังยับ
เมื่อเวลา 08.00 น.วานนี้ (13 ธ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผบ.ทบ.และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังรายงานสรุปปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบและพบกับตัวแทนครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใค้มีมติหยุดการเรียนการสอนระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงปรับแผนมาตรการดูแลความปลอดภัยให้รัดกุมและชัดเจนมากขึ้น
โดยเดินทางด้วยเครื่องบินซี 130 กองทัพอากาศมาลงที่สนามบินบ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในเวลา 11.00 น. ก่อนเดินทางด้วยรถยนต์หุ้มเกราะไปศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยมีกำลังทหาร ตำรวจ ดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทางกว่า 10 กม. เมื่อมาถึงศาลากลางมีข้าราชการและประชาชนกว่า 100 คนมารอต้อนรับก่อนขึ้นไปประชุมร่วมกับหลายหน่วยงานโดยมี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา และผู้นำภาคประชาชน ร่วมประชุมหารือในเรื่องการรักษาความไม่สงบในพื้นที่โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยของครู ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่ต้องแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
เวลา 13.30 น.เดินทางไปประชุมร่วมกับสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดยมีนายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมคณะ ร่วมหารือ หลังจากนั้นนายกฯได้เปิดเผยว่า ปัญหาครูจะดูแลความปลอดภัยโดยต้องเริ่มจากบ้านสู่โรงเรียน จะมีการบูรณาการคณะทำงานทุกฝ่ายในการดูแลความปลอดภัย มีการตั้งคณะทำงานดูแล ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะเดียวกันต้องให้ภาคประชาชน ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง จะต้องร่วมกันทำงานเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดความมั่นคงสันติสุขและความปลอดภัย และทั้งในระยะสั้นและ ระยะยาว ซึ่งการดูแลที่สำคัญต้องให้ขัวญกำลังใจครู รวมทั้งการเยียวยา ดูแลสวัสดิการ รวมถึงต้องหามาตรการดูแลความปลอดภัยครู
"ส่วนการเรียนที่เกิดการยุติการสอนนั้น ทางสมาพันธ์ฯยืนยันว่าต้องให้เด็กนักเรียนมีการเรียนการสอน เมื่อผ่านประชุมก็เข้าใจ และจะเปิดเรียนในวันที่ 17 ธ.ค. ย้ำว่ารัฐจะดูแลระยะยาว ทั้งด้านการพัฒนาด้านคุณภาพสถานศึกษา และคุณภาพบุคลากรให้ดีขึ้น รวมถึงคุณภาพของเด็กให้มีคุณภาพ โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษามาดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด ร่วมกับ ศอ.บต.และผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะนี้ ทางสมาพันธ์ครูฯสบายใจ ซึ่งจากนี้ไปก็ต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นอย่างดีที่สุด"
**เสนอติดตั้ง CCTV ในโรงเรียน
ด้านนายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะนายกฯว่า มีความพอใจระดับหนึ่งที่ได้มีการเสนอถึงแนวทางการดูแลความปลอดภัยครูตามที่ได้เคยได้เสนอไปยังหน่วยงานต่างๆ และประเด็นเรื่องขวัญกำลังใจครูสวัสดิการต่างๆ ซึ่งนายกฯ เห็นด้วย และได้มอบนโยบายให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลครูความปลอดภัยครูโดยเฉพาะ ประกอบด้วย รมว.ศึกษาธิการ ศอ.บต. สมาพันธ์ครูฯ และ กอ.รมน. ส่วนเรื่องสวัสดิการ นายกฯรับปากที่จะผลักดันสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งเรื่องเบี้ยเสี่ยงภัย และการเยียวยา
"ผมพร้อมตัวแทนครูได้ยื่นข้อเสนอตามมติ 8 ข้อ ซึ่งนายกฯรับที่จะนำทุกเรื่องไปดูแลให้ ส่วนการเปิดเรียนนั้นจะต้องหารือจากสมาพันธ์ครูฯ และหน่วยงานความมั่นคงในวันนี้ (14 ธ.ค.) ก่อน จึงจะสามารถบอกว่าจะเปิดเรียนตามปกติได้ในวันจันทร์หรือไม่"
นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า นายกฯ จะสนับสนุนทุกด้านเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดสันติสุข ส่วนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงมีข้อสรุปตรงกันว่า คงต้องแยกเป็นรายจังหวัด รายพื้นที่ พื้นที่ล่อแหลมหรือเสี่ยงให้ใช้กำลังทหารเข้าไปดูแล ส่วนพื้นที่เบาบางให้ทาง ศอ.บต. ชุมชน เข้าไปสนับสนุนทำการพัฒนา นอกจากนี้ ในส่วนของการดูแลความสงบเรียบร้อยได้เสนอให้มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เสนอให้มีการจัดตั้ง CCTV ในโรงเรียนเพื่อให้สามารถเห็นความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางถึงสนามบินกองบิน 6 ดอนเมือง กทม. เมื่อเวลา 20.30 น.
**ร้องเยียวยาครูใต้7.75ล้านเท่าแดง
นายอุตสาห์ พาสกุล ประธานชมรมเครือข่ายพัฒนาครูสู่ประชาคมอาเซียน เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเป็นรองผู้อำนวยศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครูของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวง เพื่อขอเพิ่มสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา โดยขอให้จ่ายเงินเยียวยาให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 157 คน รวมทั้งนางสาวจูหลิง ปงกันมูล ด้วย ซึ่งครูจูหลิงได้รับเงินชดเชยแค่ 4 แสนบาท
"ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ผ่านการหารือกับตัวแทนครูใต้ทั้งในระดับประถม มัธยมศึกษา และอนุบาลแล้ว และต่างก็เห็นว่า มาตรการนี้จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูใต้ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ยังมีผู้ที่มองเห็นความเดือดร้อนของพวกเขาอยู่และไม่ได้ทอดทิ้งกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก และมีการพุ่งเป้าหมายไปที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา จนตอนนี้โรงเรียนทุกระดับในพื้นที่ 1,200 โรงเรียน ปิดการเรียนการสอนแบบไม่มีกำหนดหมดแล้ว เพราะ เปิดสอนไปก็โดนฆ่า เลยไม่มีใครมีกะจิตกะใจจะสอน ครูใต้อยากให้ทางรัฐบาลส่งครูอิสลาม ที่มีความประสงค์ต้องการกลับไปประจำที่บ้านอยู่แล้ว มาสอนแทนพวกเขา พวกครูพุทธจะได้กลับบ้าน"
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีงบกลางเหลืออยู่ 7.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกฯ มีอำนาจที่จะขอใช้งบกลางได้ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยที่จะให้มีการจ่ายเงินเยียวยาครูที่เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาทแล้ว ก็สามารถเสนอเรื่องขอความเห็นชอบจาก ครม.ได้ทันทีในสัปดาห์หน้า
"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ครม.ยังอนุมัติเงิน 2,000 ล้านบาทเพื่อเยียวยาเสื้อแดงที่เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นก็น่าจะอนุมัติงบกลางเพื่อเยียวยาครูได้ เพราะครูก็คงมีศักดิ์ศรีไม่น้อยกว่าคนเสื้อแดง"
**เผยตั้งแต่ปี 45 ครูใต้ของย้ายอื้อ
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล กรรมการสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.55 มีครูที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 5 ราย ข้อเท็จจริงครูไม่ได้เป็นเหยื่อสถานการณ์ ในการสู้รบระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างที่เป็นอยู่ใน 9 ปี แต่ครูคือเหยื่อตลอดกาล นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางความคิดจนถึงการจับอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่เกิดความขัดแย้ง ในพื้นที่ชายแดนใต้
นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า กลุ่มครูเป็นกลุ่มคนที่ป้องกันได้อยาก เนื่องจากอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ห่างไกลและไปกลับเป็นเวลา รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันและคุ้มครองครู ให้ครบวงจร โจทย์ที่นำมาสู่การสูญเสียของครูเกือบทุกครั้ง คือถ้าฝ่ายของบีอาร์เอ็นโคออร์นิเนต สูญเสียบุคคลระดับแกนนำ ครูจะต้องสูญเสียเพื่อเป็นการเอาคืน และในการเปิดยุทธการกวาดล้าง ตรวจค้นในพื้นที่ของทหารตำรวจ จนฝ่ายตรงข้ามมีความสูญเสีย กลุ่มครูในพื้นที่นั้นต้องเป็นผู้รับเคราะห์ภายในไม่เกิน 3 วัน การโยกย้ายครูไทยพุทธ ออกจากโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงเป็นช่องทางหนึ่งในการลดความสูญเสียที่เกิดแก่ครูไทยพุทธ พบว่าครูไทยพุทธ ตั้งแต่ปี 2545 ต้องการย้ายออก 6,176 ราย แต่ย้ายได้ 1,843 ราย
**โปรยใบปลิวขู่ครู4อำเภอสงขลา
สำหรับบรรยากาศของโรงเรียนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ภายหลังสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมติให้หยุดเรียนเป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากครูถูกสังหารรายวันต่อเนื่องโดยวานนี้โรงเรียนในพื้นที่สังกัดสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสทั้ง 3 เขต รวม 378 โรงได้หยุดเรียนรวม 346 โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย อาทิ อ.ระแงะ จะแนะ เจาะไอร้อง รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร ส่วนโรงเรียนที่ยังเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติมี 32 โรงเรียน ขณะที่กองกำลังผสม 3 ฝ่ายคุมเข้ม
ส่วนในพื้นที่ จ.ปัตตานี โรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีทั้ง 3 เขต ยังมีโรงเรียนประมาณ 50 แห่งที่เปิดการเรียนการสอนปกติ โดยมีกองกำลังผสม 3 ฝ่ายคุมเข้มเช่นกัน เช่นเดียวกับโรงเรียนในพื้นที่ จ.ยะลา
ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนสงขลาทั้ง อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 3 ได้ปิดการเรียนการสอนทั้งหมดรวม 125 โรงเรียน ยกเว้นโรงเรียนในพื้นที่ อ.สะเดา ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลาเขต 3 จำนวน 35 โรงเรียน ที่ยังคงเปิดเรียนตามปกติ
ขณะที่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมโดยเฉพาะ อ.สะบ้าย้อย 31 โรงเรียน และ อ.เทพา 20 โรงเรียน เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังเข้มเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนสงขลา ได้มีการโปรยใบปลิวข่มขู่ครูระบุข้อความสงครามยังไม่สงบอย่าเพิ่งนับศพครูด้วย
**"เฉลิม"รับกลัวหลังปูให้ดูไฟใต้
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่าตนเองรู้สึกกลัวหลังจากได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ดูแลปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ตอนนี้เริ่มลดลงแล้วเพราะต้องทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ยืนยันว่าตนเองจะลงไปยังพื้นที่ภาคใต้แน่นอน โดยเบื้องต้นจะขอความร่วมมือไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้นำท้องถิ่นให้ทำความเข้าใจกับประชาชน ส่วนการดูแลความปลอดภัยนั้นเป็นหน้าที่ของทหาร
**เรือเหาะ 300 ล้านดูแลปูตกพังยับ
เมื่อเวลา17.00 น.ที่ จ.ปัตตานี ขณะที่คณะของนายกรัฐมนตรีและผบ.ทบ.ยังอยู่ในภารกิจลงตรวจเยี่ยมพื้นที่จ.ปัตตานี ทางเรือเหาะตรวจการณ์ของกองทัพบกที่กำลังจะกลับหน่วยที่ตั้งภายหลังเสร็จภารกิจเพื่อร่อนลงจอดที่รันเวย์สนามบินบ่อทอง จ.ปัตตานีได้เกิดเหตุขัดข้อง ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้นักบินต้องนำเครื่องทำการลงจอดฉุกเฉิน โดยต้องนำเครื่องลงจอดกลางรันเวย์ทันที ทำให้นักบินและทหารที่อยู่ภานในเรือเหาะได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนตัวเรือเหาะได้รับความเสียหายเกือบ50 เปอร์เซ็นต์ โดยสันนิษฐานว่า ตัวเรืออาจเกิดการรั่วหรือแตกจากการเสื่อมสภาพ เนื่องจากเรือเหาะไม่ได้บินปฏิบัติภารกิจมานาน
มีรายงานว่า เริอเหาะ ได้ร่อนลงฉุกเฉิน ลักษณะเหี่ยวร่วงกราวรูด เหมื่อนกับก๊าซฮีเลี่ยมไหลออกอย่างรวดเร็ว หรืออาจมีลอยรั่ว แตก เพราะไม่ได้บินมานาน