xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรรม “ครูใต้” ในสงครามประชาชนที่ปลายด้ามขวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพการก่อเหตุกับครู ซึ่งกลายเป็น เหยื่อ ของการต่อรองความขัดแย้ง
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
ความไม่สงบที่เกิดขึ้นครั้งใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงขณะนี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ในปี 2556 ยังไม่เห็นหนทางที่จะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นได้นี้ แม้ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ว่ากล่าวว่า เป็นการก่อความไม่สงบไม่ใช่การก่อการร้าย แต่โดยข้อเท็จจริงของสถานการณ์ คือการ “ก่อการร้าย” และเป็น “สงครามประชาชน” ซึ่งในขณะนี้กองทัพเองยอมรับว่าเป็นสงคราม “อสมมาตร” ซึ่งหมายถึงเป็นสงครามการสู้รบแบบ “กองโจร” ที่ทำลายชีวิตของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐไปแล้วกว่า 5,000 คน บาดเจ็บกว่า 7,000 คน การสูญเสียของทรัพย์สินทั้งของประชาชนและราชการมหาศาล ในขณะที่รัฐใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน “ดับไฟใต้” ไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท

นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกฆ่าทั้งแบบประกบยิง ไล่ยิง แบบอาชญากรรมธรรมดา จนถึงการฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เช่นฆ่าแล้วจุดไฟผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2555 จำนวน 157 ศพ บาดเจ็บ พิการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2555 มีครูที่ตกเป็น “เหยื่อ” ของสงครามประชาชน 5 ราย คือ นางนันทนา แก้วจันทร์ ผอ.โรงเรียนท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, นางฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านตาโง๊ะ ต.มะรือบือออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, นางตติยารัตน์ ช่วยแก้ว ผอ.โรงเรียนบ้านบาโง และนายสมศักดิ์ ขวัญมา ครูโรงเรียนบ้านบาโง และนายธีรพล ชูส่งแสง ครูโรงเรียนบ้านบอเกาะ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งโชคดีที่ไม่เสียชีวิตและถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส
ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ต้องสูญเสียครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาแล้ว 5 ท่าน
โดยข้อเท็จจริงครู คือ “เหยื่อ” ตลอดกาลนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้ง “ทางความคิด” จนถึงการ “จับอาวุธ” เพื่อแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มคนที่ “เห็นต่าง” จากรัฐ กว่า 40 ปีที่เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ที่ขบวนการใช้ในการ “ต่อรอง” กับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นการจับตัวครูฟอง บุญเพ็ชร เมื่อ 30 ปีก่อน เพื่อต่อรองให้เจ้าหน้าที่ปล่อย “แนวร่วม” ที่ จ.ยะลา, การจับตัวครูปรีชา แซ่ลิ้ม และฆ่าทิ้งบนเทือกเขาบูโด จ.นราธิวาส เพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่ซึ่งฆ่าคนของขบวนการ และอีกหลายคนที่ต้องเซ่นสังเวย ถ้าจะผิดก็ตรงที่เขาเหล่านั้นมีอาชีพของการเป็นครู และมีอุดมการณ์ในการที่จะ ยืนหยัด เพื่อเป็น “ประทีป” ในพื้นที่ “ไกลปืนเที่ยง” เพื่อความ “มั่นคง” ของประเทศชาติ

9 ปีที่ผ่านมา การ รปภ.ครู เป็นหน้าที่ของ “ทหาร” ภายใต้ “ยุทธการ” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทุกเช้าครูจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ รอกำลังของทหารในการคุ้มกันส่งไปส่งยังโรงเรียน ในช่วยบ่ายแก่ๆ ก็จะมีทหารในชุดคุ้มครองครูไปรับครูกลับจากโรงเรียนเพื่อส่งกลับที่พัก คนที่ไม่อยู่ในพื้นที่เมื่อมาเห็นภาพเหล่านี้เขาจะบอกว่า “ยิ่งกว่าสงคราม” แต่ก็ไม่ได้ปลอดภัยได้ 100 เปอร์เซ็น ครูส่วนใหญ่ที่เป็น “เหยื่อ” จึงถูก “อาร์เคเค” ปลิดชีพในขณะที่เดินทางและสอนหนังสืออยู่ภายในโรงเรียน ซึ่งเป็น “ช่องว่าง” ที่เป็น “จุดอ่อน” ในการคุ้มครองครูมาโดยตลอด

แต่การที่จะให้ “ทหาร” อยู่กับครูตลอด 12 ชั่วโมง และวางกำลังบนถนนทุกสาย เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับโรงเรียนและกับครูคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะวันนี้กำลังทหาร 65,000 นายในพื้นที่ก็ต้องใช้กำลังกว่าครึ่งหนึ่งในการคุ้มครองครู ถนน ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือใช้กำลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมรับผิดชอบ และที่สำคัญต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล กำลังจากภาคประชาชน และต้องมีการฝึกให้มีขีดความสามารถในการ “รับมือ” กับ “อาร์เคเค” ได้ รวมทั้งต้องมีค่าตอบแทนที่ต้องพออยู่พอกิน เพื่อให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

ในขณะเดียวกัน “โจทย์” ที่นำมาสู่การสูญเสียของครูเกือบทุกครั้ง ล้วนมาที่มาที่ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ ถ้าฝ่ายของ “บีอาร์เอ็นฯ” ต้องสูญเสียบุคคลระดับ “อิหม่าม” และ “โต๊ะครู” รวมทั้ง “อุสตาส” สิ่งที่จะเกิดขึ้นในทันทีคือ “ครู” จะต้องสูญเสียเพื่อเป็นการ “เอาคืน” จากฝ่ายของ “บีอาร์เอ็นฯ” และในการเปิด “ยุทธการ” กวาดล้างตรวจค้นในพื้นที่ของทหาร ตำรวจ จนฝ่ายตรงข้ามมีความสูญเสีย “ครู” ในพื้นที่นั้นต้องเป็นผู้รับเคราะห์ ภายในไม่เกิน 3 วัน

ดังนั้น กอ.รมนภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องมีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ หลังการสูญเสียของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ครูระมัดระวังตัวในการเดินทาง รวมทั้งวางกำลังป้องกันการสูญเสียของครูหลังจากที่ฝ่ายตรงข้ามเกิดการสูญเสีย และถ้าต้องการหยุดความสูญเสียของครูให้ได้จริงๆ ครูจะต้องไม่เป็นกำลังพลของ กอ.รมน. เพื่อหวังค่าตอบแทน เพราะครูที่ทำงานให้กับ กอ.รมน. คือเป้าหมายของ “บีอาร์เอ็นฯ”

นอกจากนั้น การโยกย้ายครูไทยพุทธ ออกจากโรงเรียนในพื้นที่ “เสี่ยง” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลดความสูญเสียที่เกิดแก่ครูไทยพุทธ เพราะถ้าดูจากตัวเลขของการสูญเสียจะพบว่า ครูไทยพุทธ สูญเสียมากกว่าครูที่เป็นมุสลิม ซึ่งหากดูตัวเลขการขอย้ายของครูในพื้นที่ 3 จังหวัดจะพบว่า ในปี 2545 เป็นต้นมา มีครูต้องการย้ายออกจำนวน 6,176 ราย แต่ย้ายได้จริงเพียง 1,843 รายเท่านั้น
มาตรการดูแลครูสะท้อนจุดบอดและช่องโหว่จากเหตุคนร้ายก่อเหตุยิงครูเสียชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า
ในขณะเดียวกัน สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีจุดยืนในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน โดยต้องเน้นให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันชีวิตของครู ป้องกันการเผาโรงเรียนเป็นด้านหลัก ด้วยการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อให้หน่วยงานทุกหน่วย สามารถปิดช่องว่างรับมือกับสถานการที่เกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย นอกจากนั้นในบริหารสถานศึกษาต้องมีแนวทางในการดึงชุมชนมามีส่วนร่วมในการคุ้มครองครู โรงเรียน และใช้วิธีการในการสร้าง “สะพาน” ทอดไปสู่ชุมชน มากกว่าการของบเพื่อสร้าง “กำแพง” เพื่อกั้นชุมชนออกจากโรงเรียน

ปัญหาของครูใน 3 จังหวัดคือ ทำอย่างไรอย่างให้ครูกลายเป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ให้การศึกษาการเรียนรู้แก่ตามวิถี วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เพราะจากสถานการณ์ของสงครามประชาชนที่เกิดขึ้นได้ทำให้สัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของเยาวชนใน 3 จังหวัดตกต่ำ จนกลายเป็นปัญหาอุปสรรคในการสอบเข้าเรียนต่อของนักเรียน และที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่สามารถแก้เรื่องการศึกษาให้สำเร็จ เท่ากับไม่สามารถแก้ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เลย

ส่วนเรื่องเงินค่าตอบแทนที่ขอเพิ่มทุกครั้งที่เกิดการสูญเสียก็ดี การยกเว้นเงินภาษีก็ดี การยกเว้นการทำวิทยฐานะ และการยกเว้นการประเมินต่างๆ ก็ดี การขอเงินค่าเยียวยาจำนวน 4 ล้านบาท จากกรณีความสูญเสียของครูจำนวน 155 ราย ล้วนแต่เป็นเรื่องปลีกย่อยที่อาจจะนำมาให้สังคมเคลือบแคลงใจในการเคลื่อนไหวองค์กรครูในทุกครั้งที่เกิดความสูญเสีย ดังนั้นองค์กรครูต้อง ยึดหลักในการต่อสู้ให้มั่นคง คือ ต้องหยุดการสูญเสียชีวิตของครูเป็นที่หนึ่ง เพราะหากหยุดการสูญเสียชีวิตของครูได้ผล นั่นคือการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และถูกจุด อย่าให้สังคมเห็นว่าองค์กรครูกำลังเดินบนซากศพของครูด้วยกัน เพราะมีผลประโยชน์อื่นๆ แอบแฝงอยู่

แน่นอนว่า ครู คือบุคลากรที่สำคัญยิ่งในการสร้างชาติ และเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาที่ครูได้รับวันนี้ คือปัญหาของประเทศชาติ ที่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและกองทัพต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในด้านการจัดการศึกษา ละการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของครูทุกคน เพราะหากการจัดการศึกษาในแผ่นดินด้ามขวานล้มเหลว หมายถึงการสูญเสียอธิปไตยของแผ่นดิน โดยที่ไม่ต้องมีการประกาศแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น