xs
xsm
sm
md
lg

แฉพณ.จ่ายลูกจ้าง ร้านถูกใจแค่200บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- รองโฆษกปชป.แฉ ก.พาณิชย์ หมดปัญญาจ่ายค่าแรง 300 ตามนโยบายรัฐบาลให้ลูกจ้างร้านถูกใจได้แค่วันละ 200 สะท้อนความล้มเหลว ครม.รับทราบแนวทางการกำกับดูแลราคาสินค้า จากกระทรวงพาณิชย์ ประธานชมรมโรงแรม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ชี้ขึ้นค่าจ้างกระทบกับโรงแรมขนาดใหญ่อ่วมแน่

นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำหลักฐานหนังสือราชการในช่วงปลายปี 55 ที่รายงานถึงความคืบหน้าของโครงการร้านถูกใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจ้างพนักงานเพียงแค่ 200 บาท ต่อวัน ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายให้จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยอ้างงบประมาณมีจำกัด จึงจำเป็นต้องลดค่าจ้างลงจาก 300 บาท เหลือ 200 บาท ของสำนักบริหารกิจการการค้าภูมิภาค แต่มีการปกปิดข้อมูลว่า รัฐบาลก็ไม่สามารถจ้างแรงงาน 300 บาทได้ ทั้งที่เป็นโครงการของรัฐบาลเอง

ทั้งนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากชาวเชียงราย และลำปาง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิก ที่ต้องปิดโรงงานอย่างน้อย 7 แห่ง เพราะไม่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ ทำให้แรงงานทยอยตกงานจากการเลิกจ้างดังกล่าวโดยไม่มีงานรองรับ

ล่าสุด เอสเอ็มอี ที่พยายามเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ตั้งกองทุนชดเชยเงินส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำแต่รัฐบาลไม่ตอบรับนั้น ทางทีดีอาร์ไอ ได้ทำการวิจัยพบว่ากระทบจีดีพี ประเทศ 1.7% โดยเกษตรกรได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม 21.7-29.99% ด้านก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7-10% ยังไม่นับอุตสาหกรรมด้านอื่น นอกจากนี้ค่าครองชีพประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่าทางด่วนจะเพิ่มอีก 5 บาท

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในขณะที่รายได้ของประชาชนกำลังจะลดลงหรือไม่มีรายได้ แต่ต้องเผชิญกับปัญหารายจ่ายเพิ่มขึ้นซ้ำเติมทุกข์ของประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเบี้ยวสัญญาที่ให้ไว้กับเกษตรกรสวนปาล์ม ที่จะรับซื้อในราคา 4 บาท แต่ยังไม่มีการดำเนินการตามสัญญา และยังต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปแก้ปัญหากับนโยบายที่ผิดพลาดของตัวเองในการนำเข้าน้ำมันปาล์ม เพื่อดูดซับส่วนเกินในตลาดที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล

**รัฐเร่งดูราคาสินค้า

วานนี้ (15ม.ค.) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมครม. ถึงเรื่องการกำกับดูแลราคาสินค้า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า ครม.มีมติรับทราบการกำกับดูแลราคาสินค้า ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. นโยบายการดูแลราคาสินค้า การดูแลราคาสินค้าเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1) ที่บัญญัติให้รัฐสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และได้ดูแลราคาสินค้าโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

2. แนวทางการกำกับดูแล ด้านราคาสินค้า ตรึง หรือชะลอการปรับราคาสินค้า โดยจะมีการกำกับดูแลราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าสูงขึ้นเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค

ทั้งนี้ มาตรการกำกับดูแล มาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ 1. การกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุด 2. การปรับราคาสูงขึ้นต้องได้รับอนุญาต 3. การให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บต้นทุน ค่าใช้จ่าย และ 4. ห้ามมิให้มีการกักตุน ปฏิเสธการจำหน่าย และประวิงการจำหน่ายสินค้าควบคุม

ส่วนผลกระทบการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำครั้งนี้ ต่อต้นทุน และราคาสินค้า ดังนี้

ด้านต้นทุนการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน วันที่ 1 ม.ค.56 เช่น สินค้าน้ำมันพืช สบู่ ผงซักฟอก ปูนซีเมนต์ และเหล็กเส้น เป็นต้น เนื่องจากได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 2 - 6 เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องหนัง เป็นต้น

ด้านราคาจำหน่าย อาจมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกปรับราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จะมีมาตรการจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด

**คาดราคาสินค้าปี56ทรงตัว

ทั้งนี้ แนวโน้มราคาสินค้าในปี 2556 สินค้าส่วนใหญ่มีราคาทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปี 55 เนื่องจากวัตถุดิบซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตสินค้าคาดว่าราคายังคงทรงตัว สำหรับปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ น้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะอยู่ที่ 100 - 120USD/บาร์เรล ( ปี55 อยู่ที่ 88.98 - 124.09 USD/บาร์เรล) และอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ที่ 28.50 - 32.50 บาท/USD (ปี 55 อยู่ที่ 30.38 - 32.05 บาท/USD) คาดว่ารัฐบาลยังคงมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

** ภท.จัดเสวนาค่าแรง 300 ก่อนเสนอรัฐบาล

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ เวลา 09.00 น. พรรคภูมิใจไทยจะจัดสัมมนา เรื่อง ค่าแรง 300 บาท กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ณ.ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ถนนพหลโยธิน เพื่อนำเสียงสะท้อนจากเจ้าของโรงงาน เจ้าของสถานประกอบการ รวมถึงลูกจ้างและผู้เกี่ยวข้อง ในเรื่องการขึ้นค่าแรง 300 บาท นำเสนอต่อรัฐบาลให้รับทราบ และนำกลับไปแก้ไขนโยบาย

***ชมรมโรงแรมโก-ลก อ่วม

นายแสงทอง ปรีชาวุฒิเดช ประธานชมรมโรงแรม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จากการหารือในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่พบว่าในส่วนของโรงแรมขนาดเล็กอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีพนักงานจำนวนไม่มาก บางแห่งมีเพียง 5-10 คน แต่สำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีพนักงานประมาณ 50-100 คน เชื่อว่าจะมีปัญหาแน่นอน เนื่องจากต้องมีการปรับระบบการทำบัญชีใหม่ รวมทั้งบัญชีการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้วย เพราะที่ผ่านมานายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

ดังนั้น 5% ที่หักเข้าประกันสังคมหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พนักงานจะมีเงินเดือนคนละ 9,000 บาท ซึ่งนายจ้างจะต้องรับผิดชอบค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นการแบกภาระที่หนักมากเมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังคงซบเซา

อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องมีการหารือในระดับพื้นที่เพื่อหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ซึ่งภายในเดือน ม.ค. นี้ หอการค้า จ.นราธิวาส จะเปิดเสวนาในเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เห็นความชัดเจนในเรื่องผลกระทบและมาตรการร่วมในการแก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น