xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จากเตี้ยวอี๋ว์ถึงพระวิหาร ความอ่อนแอของรัฐไทย ใต้เงื้อมมือ “แมลงสาบ-เผาไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คงไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะกล่าวว่า การสาดโคลนและใส่สีตีไข่เข้าใส่กันระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ในกรณีปราสาทพระวิหาร เป็นสิ่งที่น่า “ขยะแขยง” ที่สุด และยิ่งนานวันไปสังคมไทยก็ยิ่งเห็นธาตุแท้ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่านักการเมืองได้ชัดเจนทุกทีว่า ในหัวสมองมีแต่การเล่นเกมการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเลยแม้แต่เพียงนิดเดียว

ทั้งนี้ เนื่องจากท่าทีต่อปัญหาปราสาทพระวิหารทั้งจากฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มิได้ทำให้คนไทยมั่นใจได้เลยว่า จะสามารถรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเองได้ เพราะทั้งสองฝ่ายยังคงใช้วิธีแก้ปัญหาเดียวกันคือ เลือกที่จะยอมรับคำพิพากษาของ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ”(International Court of Justice-ICJ) หรือศาลโลก

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทางออกที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวภายหลังจากถูกนักการเมืองทำให้ฉิบหายก็คือ ไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลก

เหตุผลที่พรรคเพื่อไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอ้างก็คือ การไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกจะทำให้ไทยมีปัญหาในสายตาของชาวโลก และเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา

นั่นคือ เหตุผลที่น่าอนาถใจที่สุดเท่าที่มนุษยชาติจะสามารถสดับตรับฟังได้เฉพาะในประเทศไทยที่มีนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าไม่กระแดะหรือดัดจริตทำตัวเป็นเด็กดีจนเกินเลยไปนัก หากย้อนกลับไปตรวจสอบข้อพิพาทในเรื่องดินแดนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็จะเห็นชัดเจนว่า ไม่มีประเทศใดเลือกหนทางอันโง่เขลาเบาปัญญาเฉกเช่นที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยการยอมรับชะตากรรมจากศาลโลกเลยแม้แต่กรณีเดียว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนคือ ข้อพิพาทระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่นในกรณี “หมู่เกาะเซงกากุ” หรือ “เตี้ยวอี๋ว์” หรือกรณีข้อพิพาทระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นในกรณี “เกาะต็อกโต” หรือ “ทาเกชิมะ”

กรณีข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นกรณีหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์นั้น ตอกย้ำ ชัดเจน ถึงความอ่อนหัดของรัฐบาลไทย ทั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์และรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อข้อพิพาทกับกัมพูชาในการปกป้องอธิปไตยของราชอาณาจักรเหนือปราสาทพระวิหารได้อย่างทุเรศทุรังที่สุดจนไม่น่าเชื่อว่าเป็นรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

ในความเป็นจริงแล้ว ต้องบอกว่า กรณีหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ซึ่งเป็นหมู่เกาะร้างที่ประกอบไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยจำนวน 5 เกาะนั้น ประเทศญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2438 ทว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาล สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยังคงประกาศความเป็นเจ้าของโดยอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาเป็นข้อโต้แย้ง เฉกเช่นเดียวกับประชาชนคนจีนที่พร้อมใจกันต่อต้านประเทศญี่ปุ่นมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก รัฐบาลญี่ปุ่นได้ซื้อเกาะที่เหลือสามเกาะในหมู่เกาะดังกล่าวจากตระกูลคูริฮารา (Kurihara) ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของเกาะเหล่านี้ด้วยงบประมาณราว 816 ล้านบาท เมื่อเดือนกันยายน 2555 จนทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นครั้งใหญ่ในจีน เริ่มจากมีการบอยคอตไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น การประท้วงที่เกิดขึ้นในฉางซา มณฑลหูหนันเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2555 ที่เหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นเผาห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น จนกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นทั่วประเทศจีน หลายร้อยแห่ง ต้องปิดโรงงานหยุดกิจการชั่วคราว

นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า ประกาศชัดเจนว่า “เกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็น “ส่วนหนึ่งของดินแดนอธิปไตยจีน” และให้คำมั่นว่า จีนจะ “ไม่ถอยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว”

นาย สี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีน ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็ให้สัมภาษณ์ระหว่างการพบหารือกับ นายลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะเดินทางเยือนจีน ที่กรุงปักกิ่งว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่น ยื่นขอซื้อเกาะจากเจ้าของเอกชน ถือเป็นเรื่องตลก และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวความขัดแย้งบานปลาย และหวังว่าญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศโดยเร็ว

ขณะที่ นายพล เหลียง กวง เลี่ย รัฐมนตรีกลาโหมจีน ก็ประกาศชัดเจนรัฐบาลจีนมีสิทธิที่จะตัดสินใช้วิธีอื่นๆในการเข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งมิต้องตีความให้ยุ่งยากก็เข้าใจได้ว่า รัฐบาลจีนส่งสัญญาณเพื่อข่มขู่ญี่ปุ่นว่าพร้อมที่จะใช้กำลัง

ขณะที่ทางด้านญี่ปุ่นนั้น การที่รัฐบาลญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะวางแผนเพิ่มงบประมาณก้อนมหึมา 180,500 ล้านเยน หรือราว 2,100 ล้านบาทเพื่อจัดซื้ออาวุธทันสมัยจำพวกขีปนาวุธ เครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์มาเสริมสมรรถนะในการป้องกันประเทศ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มงบประมาณครั้งแรกรอบ 11 ปี ก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนของเขาเช่นกัน

ซังเกอิ ชิมบุง หนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันพุธที่ 9 มกราคม 2556 ว่า จีนได้ส่งเครื่องบินทหารเฉียดใกล้พรมแดนญี่ปุ่นบ่อยครั้งขึ้นนับจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นซื้อหมู่เกาะเซงกากุและกองทัพอากาศญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินขึ้นไปสกัดหลายครั้งหลายคนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งด้วยเหตุดังกล่าวส่งผลทำให้กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นกำลังเริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการยิงเตือน

แต่สิ่งที่เราได้ยินจากนักการเมืองไทยก็คือ ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชามาตั้ง 50 ปีแล้ว หรือประเทศไทยต้องเคารพคำสั่งของศาลโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คำให้สัมภาษณ์ของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอกย้ำซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ระบุว่า “คดีนี้มีแต่แพ้กับเสมอตัว คือ ถ้าแพ้ก็เสีย แต่ถ้าอยู่แบบเดิมคือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ส่วนพื้นที่รอบปราสาทเป็นแบบเดียวกับปี 2505 ก็คือเสมอตัวเท่านั้น แต่คนที่อยู่ตามแนวชายแดนทั้งไทยและกัมพูชาต้องอยู่กันอย่างนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน ยิ่งในอนาคตที่เราก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเหมือนประชาคมยุโรป เรื่องเขตแดนแทบจะไม่มีความหมาย และไม่อยากเห็นการปะทะตามแนวชายแดนเกิดขึ้น เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ควรอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข ไม่อยากให้มีการแบ่งแยก อยากฝากไว้ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต้องยอมรับ”

หรือเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2556 ซึ่งอ้ายปึ้งให้สัมภาษณ์ตอกย้ำอีกครั้งว่า “ไทยอยู่ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติต้องเคารพคำสั่งศาลโลก ขอวอนคนไทยอย่าใช้อารมณ์ เพราะเกรงจะถูกคว่ำ บาตรจากสหประชาชาติ”

นอกจากนี้ อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คำให้สัมภาษณ์ของนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย นช.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้เซ็นลงนามในแถลงการณ์ร่วม(Joint communiqué) พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2556 ว่า... “ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและเป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตามที่ศาลโลกมีคำตัดสิน”

นี่คือชุดความคิดที่เป็นอันตรายยิ่งต่ออธิปไตยเหนือดินแดน

คำถามที่มีถึงนายสุรพงษ์และนายนพดลก็คือ กรณีข้อพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติหรือไม่

คำตอบก็คือ อยู่ มิหนำซ้ำยังเป็นหนึ่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่ง สหประชาชาติเสียด้วยซ้ำไป

แต่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่นก็ไม่คิดที่จะให้ศาลโลกเป็นผู้ตัดสิน เพราะทุกประเทศรับรู้ว่า ศาลโลกไม่ใช่ศาลยุติธรรม หากแต่เป็นศาลที่การเมืองสามารถล็อบบี้คำพิพากษาได้ ไม่เช่นนั้น คงไม่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ทั้งๆ ที่ในทางภูมิศาสตร์แล้วหรือสันปันน้ำแล้ว ปราสาท พระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนของไทยอย่างชัดเจน

ไม่เพียงแต่ปัญหาหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์เท่านั้น กรณีปัญหา “หมู่เกาะสแปรตลีย์” ที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศจีน ประเทศมาเลเซีย และประเทศบรูไน ก็เป็นไปในท่วงทำนองเดียวกัน โดยปัจจุบัน เกาะ 45 เกาะในหมู่เกาะสแปตลีย์เป็นที่ตั้งกองกำลังทหารของกองทัพเวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิในพื้นที่พิพาท ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งมาแต่เดิมระหว่าง อินโดจีนของฝรั่งเศส สาธารณรัฐจีน ไต้หวันและญี่ปุ่น มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

เหตุผลในการอ้างสิทธิครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ไม่ต่างจากรณีปราสาทพระวิหารของไทย เพราะมีผลทางด้านเขตแดนและอุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

และที่ต้องย้ำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ นายสุรพงษ์ นายอภิสิทธิ์เข้าใจก็คือ ทั้ง 6 ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิก็ไม่เห็นมีใครนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลโลก

ตัดกลับมาที่คดีปราสาทพระวิหาร ประเด็นสำคัญที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับร่วมกันคือ ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา รวมถึงผลประโยชน์ก้อนโต ได้ทำให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยกระทำการซึ่งทำให้ราชอาณาจักรไทยตกอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบในทุกประตู

ผลพวงของการลงนามในแถลงการณ์ร่วม(Joint communiqué) พ.ศ.2551ของนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลหุ่นเชิดสมัคร สุนทรเวช ซึ่งทำให้กัมพูชาประสบความสำเร็จในการนำปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยฝ่ายเดียวคือหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่แนบท้ายมาในแถลงการณ์ร่วม

ผลของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ.2543” หรือ MOU43 ร่วมกับกัมพูชา ซึ่งลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นกับนายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนของกัมพูชาในขณะนั้น ก็คือหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ของรัฐบาลไทย

และผลพวงของความดื้อตาใสของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เล่นตามเกมของกัมพูชา โดยไม่ยอมยกเลิก MOU43 ทั้งๆ ที่สามารถกระทำได้ ก็คือสิ่งที่ตอกย้ำการยอมรับแผนที่ มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ของราชอาณาจักรไทย

ที่สำคัญคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีรู้ทั้งรู้ว่า ปมปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการยกเลิก MOU43 ในห้วงที่ตนเองมีอำนาจ แต่นายอภิสิทธิ์กลับไม่ทำ มิหนำซ้ำยังเพลี่ยงพล้ำในเกมการเมืองระหวหว่างประเทศด้วยการยอมรับอำนาจศาลโลกให้เข้ามาจุ้นจ้านในข้อพิพาทดังกล่าว

ซ้ำร้ายถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว พรรคประชาธิปัตย์อาจมีส่วนทำให้ราชอาณาจักรไทยสุ่มเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียดินแดนมากกว่าจากหลักฐานชั้นดีที่ชื่อ MOU2543

ดังนั้น ไม่ต้องฟังคำพิพากษาของศาลโลกก็เห็นความพ่ายแพ้ที่รออยู่เบื้องหน้าได้ชัดเจนยิ่ง

แต่ทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นายอภิสิทธิ์ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงมุ่งมาดปรารถนาที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ดาหน้ากันออกมาแก้ตัว พร้อมทั้งเล่นเกมทำลายศัตรูทางการเมืองด้วยการโยนบาปให้กัน

ถามว่า ไทยมีสิทธิไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกได้หรือไม่
คำตอบก็คือ ได้

เพราะต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการประกาศยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมากว่า 50 ปีแล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องรับอำนาจของศาลโลก

และเมื่อประเทศไทยไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลกในการตีความแล้ว รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก ไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย แถมยังต้องเร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามา โดยเฉพาะวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระให้พ้น ออกไปจากดินแดนของไทย

เพราะได้ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนแล้วว่าตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมามีประเทศคู่พิพาทให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 คดี แต่ศาลรับให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 10 คดี ผลปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลยแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งรวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

จากนั้นรัฐบาลไทยต้องอาศัยกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 วรรค 7 และให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องภายในอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย และให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันตามข้อ 2 (ก) และ 2 (ง) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการในการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากจะไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องดินแดนของไทยแล้ว รัฐบาลไทยโดยนางสาวยิ่งลักษณ์แห่งพรรคเพื่อไทยยังทำงามหน้าด้วยการมีมติคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติงบประมาณให้กองทัพของสมเด็จฮุนเซ็นอีกต่างหาก

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาว่า “ครม.อนุมัติหลักการให้กระทรวงกลาโหม(กห.) ดำเนินการตามแผนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศในภารกิจทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กรอบวงเงินงบประมาณ 50 ล้าน โดยรมว.กลาโหมเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการดำเนินการ”

งานนี้ไม่มีประโยคใดเหมาะสมกว่า “แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจคนไทยทั้งชาติ” อีกแล้ว

ถึงตรงนี้ ถ้าถึงที่สุดรัฐบาลไทยและกองทัพไทยไม่สามารถปกป้องอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยได้ ก็คงมีแต่ประชาชนคนไทยเท่านั้นที่จะลุกขึ้นมารักษาผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษ เหมือนดังเช่นที่ นายโชคชัย สายแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประกาศเอาไว้ว่า “หากมีการชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านอำนาจศาลโลก ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน จ.ศรีสะเกษก็พร้อมเข้าร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านไม่ให้ชาติไทยต้องเสียดินแดนเพราะคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลโลกอย่างเด็ดขาด”

หรือดังที่คุณตานักสู้อย่าง “นายผัน กิ่งแสง” อายุ 75 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านโศกขามป้อม ตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานหมู่บ้านสมัชชาธรรมยาตราพิทักษ์สยาม ทวงคืนเขาพระวิหาร มณฑลบูรพาโดยอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941” เพื่อปกป้องและรักษาผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ด้วยชีวิต

เพราะต้องไม่ลืมว่า ผลที่จะตามมาจากคำพิพากษาของศาลโลกนั้น จะส่งผลสั่นสะเทือนต่อราชอาณาจักรไทยที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินว่าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชาแล้ว ละครบทต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ กัมพูชาจะใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ตร.ม. ในคำสั่งศาลโลกลากเส้นเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับกัมพูชาใหม่ ทำให้ ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่อีก 1.8 ล้านไร่บนบก และพื้นที่ในอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งพลังงานมูลค่า 5 ล้านล้านบาทจากเดิมที่เคยเป็นของไทย 3 ใน 4 เหลือเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น


นพดล ปัทมะ
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
กษิต ภิรมย์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


กำลังโหลดความคิดเห็น