“ชวนนท์” ฝาก รบ.โต้เขมรจ้อเท็จศาลโลก ยันไทยไม่รุกราน แต่ถูกยั่วลอบโจมตีหลักฐานชัด แจงไม่ถอนทหารตามคำศาล เพราะกลไกทวิภาคี อัดทำศรีธนญชัยเหตุไทยถูก กม.ปิดปากเสียแค่ตัวปราสาทไม่รวมพื้นที่ ย้ำเรื่องจบปี 51 แต่เขมรขึ้นทะเบียน หวังฮุบพื้นที่ไทย ยัน MOU43 ห้ามศาลจุ้น ชี้ไม่นำมาเล่นการเมือง พร้อมชม “ปู” หากค้านขึ้นทะเบียนรักษาดินแดน-อัดนายกฯ เลิกสองหน้า หลังปล่อยขี้ข้าลุย พ.ร.บ.นิรโทษฯ ยัน ปชป.ไม่ร่วม
วันนี้ (16 เม.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแถลงด้วยวาจาในคดีปราสาทพระวิหารรอบแรกของฝั่งกัมพูชา ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า ฝ่ายไทยมีเวลาในการแถลงตอบโต้ในวันที่ 17 เมษายนนี้ ซึ่งจากคำแถลงของฝ่ายกัมพูชาตนมีข้อสังเกตที่อยากให้รัฐบาลไทยและผู้แทนไทยระมัดระวังการตอบโต้ในสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชากล่าวหาด้วยความเท็จ ซึ่งไทยต้องตอบโต้อย่างทันท่วงทีเพื่อไม่ให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำใน 5 กรณีที่ขอฝากถึงรัฐบาลไทยและทีมกฎหมายไทยคือ
1. กัมพูชาพูดหลายครั้งว่าไทยรุกรานกัมพูชา โดยเริ่มต้นพูดตั้งแต่ปี 2551 หลังมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยกล่าวหาว่าไทยเริ่มต้นใช้อาวุธก่อน เรื่องนี้รัฐบาลต้องประท้วงและชี้แจงให้ชัดเจนว่าทุกครั้งที่่เกิดเรื่อง ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้น แต่กัมพูชายั่วยุพยายามสร้างให้เกิดความรุนแรงบริเวณแนวชายแดน โดยยังมีหลักฐานความเสียหายที่ยืนยันได้ว่ากัมพูชารุนรานไทยในพื้นที่หมู่บ้านภูมิซรอล ส่วนความเสียหายเกี่ยวกับตัวปราสาทพระวิหารเพราะกัมพูชานำทหารไปอยู่ในปราสาทและยิงโจมตีฝ่ายไทยจึงต้องยิงตอบโต้ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องประท้วงเพื่อให้มีการบันทึกว่าไทยไม่ได้เริ่มต้นสงครามหรือความรุนแรงแต่เป็นกัมพูชาที่พยายามใช้เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่การเจรจาในเวทีต่างประเทศ ทั้งนี้ยังปรากฏหลักฐานว่าหนังสือที่กัมพูชาแจ้งไปยังสหประชาชาติเพื่อแจ้งบางเหตุการณ์นั้นไปถึงก่อนเกิดเหตุการณ์จริง เหมือนรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดความรุนแรงในพื้นที่และมีการเตรียมหนังสือไว้เพื่อร้องเรียน จึงเป็นการตอกย้ำว่าเป็นเจตนากัมพูชาที่จะสร้างภาพว่าไทยรุกราน ดังนั้นไทยต้องยืนยันสิ่งเหล่านี้เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำ
2. กัมพูชาพยายามสร้างภาพว่าไทยรุกรานกัมพูชาและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก โดยย้ำว่ามาตรการคุ้มครองของศาลที่ให้ถอนทหารดำเนินการไม่ได้เพราะไทยไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เป็นความจริงเพราะสองชาติหารือเรื่องนี้ต่อเนื่อง และในพื้นที่มีการพูดคุยหารือรวมถึงการส่งผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียก็อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องพูดคุยกันสองฝ่าย ไทยจึงต้องชี้แจงว่าไม่ใช่ไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลฯ แต่กลไกทวิภาคีสองประเทศเดินหน้าต่อเนื่อง สิ่งที่กัมพูชาแถลงต่อศาลเป็นเทคนิคตื้น ๆ ที่ต้องการกล่าวหาไทย ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ควรยอมให้มีการกล่าวหาเช่นนี้
3. กัมพูชาพยายามอ้างว่าแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน หรือแผนที่ภาคผนวก 1 ถูกรับรองโดยคำพิพากษาศาลปี 2505 แต่ความจริงศาลตัดสินเพียงว่าอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น 2 ประเทศไทยมีพันธะถอนทหารออกจากบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร 3 ให้คืนวัตถุโบราณกับกัมพูชา โดยไม่ได้พิพากษากรณีที่กัมพูชาขอให้พิพากษาความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามแผนที่ที่กัมพูชาเสนอ และระบุด้วยว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมระหว่างไทยและฝรั่งเศส
ดังนั้น 51 ปีที่แล้วคำพิพากษาของศาลฯ จึงมีแค่อธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่กัมพูชาพยายามที่จะเป็นศรีธนญชัย โดยอ้างว่าคำพิพากษาของศาลที่บอกว่าเมือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาเท่ากับรับรองแผนที่ไปแล้ว ประเทศไทยจึงต้องระวังการลักไก่ของกัมพูชา ที่พยายามบอกว่าได้พื้นที่บริเวณดังกล่าวไปหมดแล้ว
“รัฐบาลไทยต้องต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เนื่องจาก 51 ปีที่แล้วเราเพลี่ยงพล้ำด้วยกฎหมายปิดปาก ไม่ใช่เรื่องแผนที่ การที่กัมพูชาไปขอให้พิพากษาพื้ที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นการขยายคำพิพากษาเดิมขัดต่อธรรมนูญศาลข้อ 60 ซึ่งกัมพูชาก็ทราบดีว่ามีจุดอ่อนในเรื่องนี้ เพราะเป็นการขยายคำพิพากษาไม่ใช่การตีความ ประเทศไทยจึงต้องย้ำว่าทุกอย่างสิ้นสุดตั้งแต่ 51 ปีที่แล้ว ไม่มีข้อขัดแย้งที่ต้องตีความอีก และกัมพูชามีปัญหาหลังจากมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่ง เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงเฮก (นายวีรชัย พลาศรัย) ทีมกฎหมายไทยก็ยืนยันในเรื่องนี้ และจากเหตุผลที่กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว จึงต้องการกินพื้นที่ของประเทศไทยผ่านการขยายคำพิพากษาปี 2505”
4. เอ็มโอยู 43 แม้จะมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่การแถลงของทนายความกัมพูชามีความพยายามหักล้างเอ็มโอยู 43 ที่ไทยใช้ เพราะเอ็มโอยูดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่าการจัดทำหลักเขตระหว่างไทยกัมพูชายังไม่แล้วเสร็จซึ่งต้องดำเนินการต่อไปในระดับทวิภาคีสองประเทศ จึงทำให้ทนายความกัมพูชาพยายามหักล้างอย่างมาก ตนจึงเห็นว่าเอ็มโอยู 43 มีประโยชน์ทำให้ศาลไม่มีอำนาจเข้ามาข้องเกี่ยว เพราะต้องให้สองประเทศตกลงเรื่องการจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จก่อน อีกทั้งเอ็มโอยูนี้ก็ไม่ได้ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แต่ทำให้กัมพูชายอมรับว่าต้องทำหลักเขตแดนตามสนธิสัญญาปี 1904 และ 1907 ที่ระบุชัดว่าเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามสันปันน้ำ และทนายความกัมพูชาก็ยอมรับว่าเส้นเขตแดนไทยเดินตามแนวสันปันน้ำ โดยพยายามบอกว่าไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เพราะศาลได้ตัดสินไปแล้วในปี 2505 สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญในการปกป้องแผ่นดินของเรา
และ 5. ตนไม่ประสงค์นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง โดยขอให้กำลังใจทุกฝ่ายที่จริงใจในการต่อสู้รักษาอธิปไตยและแผ่นดินให้ลูกหลาน และเชื่อรัฐบาลควรจะมีความตั้งใจในการปกป้องอธิปไตยของประเทศอย่างเต็มที่
“อยากขอไปยังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า กัมพูชาพูดเสมอว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดจากการที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลประชาธิปัตย์คัดค้านต่อเนื่อง 3 ปี ไม่ให้เงื่อนไขนี้บานปลายจนไทยต้องเสียดินแดน จึงขอถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวคืออะไร ถ้าตอบว่าคัดค้าน ก็จะชื่นชมว่าปกป้องผืนแผ่นดินไทยแต่ถ้าไม่คัดค้านในขณะที่ตัวแทนฝั่งไทยกำลังต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายกับกัมพูชา ก็อยากให้คิดทบทวนว่ายังเหมาะสมหรือไม่ว่าที่จะเป็นผู้นำทีมในการรักษาแผ่นดินครั้งนี้ เพราะคำพูดของผู้นำรัฐบาลจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยในการต่อสู้คดี เนื่องจากทนายกัมพูชามีการยืนยันหลายครั้งว่ารัฐบาลในอดีตสนับสนุนเรื่องนี้” นายชวนนท์กล่าว
นายชวนนท์กล่าวต่อว่า กล่าวถึงกรณีที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เตรียมที่จะเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาในวันที่ 18 เมษายนนี้เพื่อให้รับหลักการวาระที่ 1 ว่า ตนไม่แปลกใจเพราะสมาชิกพรรคเพื่อไทยยืนยันถึงความต้องการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้นายวรชัยอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สนับสนุน จึงเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลิกเล่นสองหน้าได้แล้ว ไม่ต้องพูดว่าเป็นเรื่องของสภาหรือเอกสิทธิ์ของ ส.ส.อีก แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบหากจะเกิดความวุ่นวายตามมาหลังจากการเสนอกฎหมายนี้ และพวกตนจะถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจุดยืนว่าไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง แต่สนับสนุนเฉพาะทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา หรือคดีทุจริต ทั้งนี้เพื่อรักษากฎหมายและความถูกต้องของบ้านเมือง จึงอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ฉุกคิดและพิจารณาเฉพาะคนที่มีปัญหาทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง