xs
xsm
sm
md
lg

ประสงค์ชี้แก้รธน.เกิดวิกฤต ต้มยำปูอาบฟอร์มาลีนตราดูไบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต ปธ.กมธ.ยกร่าง รธน.50 ชี้ "วิกฤติต้มยำปูอาบฟอร์มาลีนตราดูไบ" ใช้กฎหมายทำตามอำเภอใจ เอาประชานิยมมอมเมาประชาชน ชี้ช่องแก้ รธน.รายมาตราได้ แต่ต้องบอกให้ชัด ยันล้มทั้งฉบับไม่ได้ แต่เชื่อนักการเมืองแก้เพื่อนักโทษหนีคุกแน่ ชี้สถานการณ์สุกงอมก่อม็อบได้แล้ว ปีนี้ป่วนแน่ ด้าน "สดศรี" เผย กกต.ส่ง "ภุชงค์" ชี้ปมปัญหาการทำประชามติ หากดันทุรังส่อโมฆะ-โดนฟ้อง

วานนี้ (6 ม.ค.) ที่ รร.เจ้าพระยาปาร์ค น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "เหลียวหลังปี 55 มองหน้าปี 56" โดยกล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองเกิดจากนักการเมือง นักการเมืองบ้านเราทำให้เกิดปัญหามากมาย ผู้ที่เอาอำนาจประชาชนไปใช้ ต้องมีจิตสำนึกโดยยึดหลักนิติธรรม ถ้าหากไม่มีอย่างที่ระบุการบริหารงานจะทำตามอำเภอใจ เมื่อมีข้อบกพร่องก็จะมีการใช้เสียงข้างมาก แม้จะเป็นหลักเกณฑ์ปฏิบัติ แต่หากเป็นทรราชย์ที่มีเสียงข้างมาก ก็จะทำให้ผิดพลาด เช่น กรณี พระ 2 รูป กับโจร 10 คน ที่เมื่อออกเสียงพระก็แพ้ ยิ่งด้วยนักการเมืองที่ชอบตะแบงตีความด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ความวิกฤติที่เมื่อรัฐบาลนี้เกิดมาขอเรียกว่า เป็นวิกฤติต้มยำปู ในช่วงที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายตามอำเภอใจ มอมเมาประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมที่มาจากผู้พี่ และที่ก่อพิษร้ายแรง คือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่เริ่มมีคนตกงานจากนโยบายนี้แล้วหลายแสนคน ทั้งที่เพิ่งใช้มาไม่กี่วัน อนาคตเชื่อว่า จะเก็บภาษีการหายใจหากคนพวกนี้อยู่ พร้อมกันนี้รับทราบมาว่า ในวันที่ 7 ม.ค. รัฐบาลชุดนี้จะออกมาตรการกู้เงินกว่า 2.2 ล้านบาท โดยมีข้ออ้างเพื่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ

ส่วนกรณีที่รัฐบาลเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า โดยรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขได้ แต่ต้องแก้ไขเป็นรายมาตรา และผู้ที่มีอำนาจในการแก้ไขจะมีอยู่ 4 พวก คือ 1.คณะรัฐมนตรี(ครม.) 2. สภาผู้แทนราษฎร 3. สภาฃผู้แทนราษฎรผสมวุฒิสภา 4. ประชาชนลงชื่อ 5 หมื่นชื่อ ซึ่งจะแก้ไขในมาตราไหนนั้น จะมีบัญญัติไว้ในมาตรา 291 และต้องบอกให้ชัดว่า จะแก้ไขมาตราไหน อย่างไร ซึ่งหากจะแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็สามารถแก้ไขได้เลย แต่ยกเลิกทั้งฉบับไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรา 165 ที่ระบุว่า ในการทำประชามติใด หากเป็นเรื่องที่ขัดแย้ง ไม่ถูกต้องตามแนวทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ จะกระทำมิได้

ฉะนั้นเรื่องที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือจะทำประชามติ เพื่อแก้ไขทั้งฉบับนั้น ก็ยังมีปัญหาอยู่ และการทำประชามติ ตรงนี้อยากให้บุคคลที่จะทำ ต้องระมัดระวังว่า สิ่งที่เสนอไปนั้นจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 หรือไม่ รวมถึงการตั้งคำถามในการทำประชามติ จะต้องไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งการทำประชามติ จะต้องมีการกำหนดวันให้แน่นอน และต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และจะเป็นปัญหาให้กับสังคมหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า การแก้ไขของนักการเมือง น้ำหนักส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือพวกพ้อง โดยเฉพาะการช่วยเหลือนักโทษหนีคุก ที่จะกลับบ้านอย่างไร้มลทิน ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ได้ตามต้องการแล้ว ก็จะมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป รวมถึงการแก้ไขอีกหลายประเด็น เช่น การแก้ไข ม. 237 เรื่องการยุบพรรค ที่เกี่ยวกับกรรมการบริหารพรรค

เมื่อถามว่า จะมีการชุมนุมหลังปีใหม่เพื่อกดดันรัฐบาลหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ตรงนี้อยู่ที่ประชาชน เนื่องจากรัฐบาล และนักการเมืองเป็นต้นเหตุ จนประชาชนอดทนไม่ได้ ส่วนจะมีการชุมนุมที่ไหน อย่างไร ตนไม่ทราบ แต่หากเป็นการชุมนุมเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง หรือเพื่อไม่ต้องการให้มีการนักการเมืองเลวๆ ตนขอยืนยันว่าจะไปร่วมชุมนุมด้วย

เมื่อถามว่า ได้ประเมินสิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลกระทบจากคำตัดสินของศาลโลกคดีเขาพระวิหาร เป็นเหตุผลที่สุกงอมที่จะมีการชุมนุมเพื่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ถือว่าครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่ผู้คนแตกแยก ด้านความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย รวมถึงการที่ประชาชนอยู่ท่ามกลางความอึดอัด ในสายตาของตนนั้น สุกงอมเกินกว่าที่ประชาชนจะทนได้ เพราะนักการเมืองบริหารประเทศเหมือนเป็นบริษัทส่วนตัว ซึ่งความจริงแล้วประเทศเป็นของคนไทยทุกคน นักการเมืองเป็นเพียงลูกจ้างของประชาชนเท่านั้น

" ลูกจ้างมีอยู่ 2 ประเภท ประกอบด้วย 1. ลูกจ้างชั่วคราว คือ พวกนักการเมือง ทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ 2. ลูกจ้างประจำ คือ ข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งลูกจ้างทั้ง 2 ประเภท กินเงินเดือนภาษีอากร นั้นหากลูกจ้างทำงานให้บริษัทเสียหาย ประชาชนก็มีสิทธิ์ไล่ลูกจ้างออกได้" น.ต.ประสงค์ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการชุมนุมขึ้นมาอีก จะรับเป็นแกนนำการชุมนุมหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ตรงนี้ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินดีกว่า ตนพูดอะไรไม่ได้ ส่วนโครงสร้างการขับเคลื่อนนั้นก็ให้ดูกันต่อไป อย่างกรณีของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นรุ่นน้องที่มีความตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริตต่อแผ่นดิน สงบเรียบร้อย ไม่มีการทุจริต รวมถึงเรื่องการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นอุดมคติของ พล.อ.บุญเลิศ ส่วนตนไปร่วมชุมนุมแค่บางครั้งคราวเท่านั้น นั้นแม้พล.อ.บุญเลิศ จะยุติไปแล้ว แต่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ยังมีการดำเนินการอยู่เช่นเดิม

เมื่อถามว่า ได้มีการประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี 2556 ก็จะเป็นวิกฤติต้มยำปูอาบฟอร์มาลีนตราดูไบ และจากการที่ตนวิเคราะห์เชื่อว่า ปีนี้จะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายปั่นป่วนในบ้านเมืองขึ้นมาอย่างแน่นอน จากการที่ประชาชนไม่ยอมรับการใช้อำนาจของนักการเมือง และจะมีการต่อสู้อย่างเปิดเผยแบบไม่มีใครกลัวใคร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้การชุมนุมครั้งต่อไป จะไม่ทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศ การต่อสู้ของประชาชนจะเป็นภาพที่ดี และคงไม่มีประเทศไหนมาบอกว่า ตรงนี้ทำไม่ถูกต้อง รวมถึงแต่ละประเทศมีประชาชนเป็นเจ้าของ นั้นอย่าไปห่วงเรื่องต่างประเทศ เราต้องห่วงเรื่องของบ้านเมืองเป็นหลัก ซึ่งการชุมนุมครั้งต่อไป ตนเชื่อว่าฝ่ายข้าราชการจะเข้ามาสนับสนุนด้วย

** กกต.ชี้การลงประชามติมีข้อจำกัด

นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า กกต. มีมติมอบหมายให้นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เป็นตัวแทนไปหารือกับ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่ดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 น่าจะมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการออกเสียงนอกราชอาณาจักร เนื่องจากอาจติดเงื่อนไขวัน และเวลาของประเทศต่างๆ ที่อาจจะไม่ตรงกับประเทศไทย เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว ขณะที่หากการจัดทำประชามติแล้ว เชื่อว่าจะมีคนไปร้องคัดค้านประเด็นในการจัดทำประชามติ ว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ต่อศาลปกครองสูงสุด เรื่องก็จะอาจจะเข้าสู่การพิจารณของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกกต. ก็ไม่รู้ว่าศาลจะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อใด แต่การดำเนินจัดทำประชามติของกกต. มีเงื่อนระยะเวลาว่า จะต้องจัดทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 90 วัน และไม่เกิน 120 วัน ดังนั้น กกต. จะสามารถหยุด หรือเดินหน้าจัดทำประชามติอย่างไร ถ้าหากจัดทำประชามติไม่เสร็จทันกรอบระยะใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ก็คงหนีไม่พ้น กกต.ทั้ง 5 คนอย่างแน่นอน

** แนะแก้ กม.ประชามติก่อน

"เพราะ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ มีปัญหาในเรื่องของการปฎิบัติหน้าที่ของ กกต. เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ กกต.จะออกระเบียบได้อย่างไร ดังนั้นควรเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง และถ้าหากศาลพิจารณาการจัดประชามติเป็นโมฆะ กกต.ก็อาจจะถูกฟ้องได้ เรื่องนี้ นายภุชงค์ ได้รับทราบถึงปัญหาเป็นอย่างดี น่าจะนำประเด็นนี้ไปหารือกับคณะทำงานฯของรัฐบาลก่อน ขณะเดียวกัน กกต. ได้ให้คณะทำงานของ กกต. ไปศึกษาหาวิธีแก้ไขในการร่างระเบียบก่อน และจึงนำเสนอต่อที่ประชุมภายในสัปดาห์นี้"

เมื่อถามว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามบอกว่า กกต. ไม่สามารถจัดทำประชามติได้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 นางสดศรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับกกต. อย่าคิดในแง่ลบ เพราะรัฐบาลรู้ว่า กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำประชามติ ถ้าจะให้กกต. ทำประชามติ ก็ต้องทำทุกอย่างถูกต้อง และชัดเจนเสียก่อน นอกจากนี้ กกต. อาจจะเชิญนักวิชาการที่เคยร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ มาร่วมหารือ เพื่อสอบถามว่าขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ มีเจตนารมย์อย่างไร

ด้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวว่า การทำประชามติ หากรัฐบาลยืนยันให้กกต. จัดทำประชามติ สามารถทำได้ แต่ต้องให้ถูกกฎหมาย เพราะเราเป็นผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้รับชอบ ทั้งนี้มองว่าการทำประชามติทำยาก ถ้าจะให้ประชาชนมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง ต้องมีการจูงใจ.
กำลังโหลดความคิดเห็น