“สดศรี” เห็นตาม “รองเหลิม” แก้รายมาตรา ลดขัดแย้ง อ้าง รบ.“มาร์ค” ก็เคยทำ หวั่นประชามติมีปัญหา กกต.ไล่เช็กผิด พ.ร.บ.ออกเสียงฯ แถมไม่เคลียร์วิธีการนับคะแนน ยันม.9 พ.ร.บ.ประชามติ คำนวณนับคะแนนไม่ขัด ม.165 แจงศาล รธน.เคยวินิจฉัยแล้ว แนะข้องใจยื่นตีความใหม่-บรรยายผ่านหลักสูตรพัฒนาการเมืองฯ ชี้ มีคนหัวหมอ ทำ ปชช.สับสน นับคะแนนประชามติ ย้อน รธน.50 ไม่ใช้ กม.ประชามติ มีไม่เห็นชอบถึง 10 ล.เสียง ยิ่งปัจจุบันความขัดแย้งสูง เทียบอดีตไม่ได้ ย้ำ ประชามติผ่านยาก-เปรียบเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เหมือนเลือกตั้งท้องถิ่น
วันนี้ (21 ธ.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยสภาผู้แทนราษฎร แทนการทำประชามติ เชื่อว่า เป็นการลดความขัดแย้งได้ เพราะในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นรายมาตรา เช่น การเลือกตั้ง ส.ส.จากเขตเดียว 3 คน เปลี่ยนเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว แก้ไขเรื่องเปลี่ยนระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแก้ไขมาตรา 190 โดยเป็นการแก้ไขผ่านสภาไปแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรยุ่งยาก
“การที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอมานั้น ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ ขึ้น และการทำประชามติมีข้อวิตกกังวลหลายเรื่อง เรื่องแรก คือ จำนวนคนที่จะมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ จะเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือไม่ เท่าที่ทราบหลายก็มีความกังวลเรื่องนี้ อีกทั้งเชื่อว่า ปัญหาต้องเกิดขึ้นมากมายอย่างแน่นอน เพราะมีคนทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย และนำมาสู่เรื่องร้องเรียนเข้ามา กกต.ให้พิจารณาหลายเรื่อง เช่น การหลอกลวง ชักจูงให้ไปลงคะแนนเสียง หรือคัดค้านไม่ให้ไปออกเสียง ที่อาจจะผิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ” นางสดศรี กล่าว
เมื่อถามถึงจำนวนเสียงของการทำประมติที่ต้องยึดจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด หรือผู้ไปใช้สิทธิออกเสียง ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ และอาจทำให้มีการร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้น นางสดศรี ยืนยันว่า มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประชามติไม่ขัดมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้พิจารณาและวินิจฉัยแล้วที่ 17/2552 ว่า เนื้อหาของ พ.ร.บ.ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ทั้ง 45 มาตรา ที่สภาส่งมาให้พิจารณานั้นมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไม่ขัดหรือแย้ง แต่ถ้าหากใครที่ยังสงสัยก็สามารถส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยอีกได้
ทั้งนี้ นางสดศรี ยังได้กล่าวถึงการออกเสียงประชามติ ระหว่างการบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษา หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 4 ของสำนักงาน กกต.ตอนหนึ่ง ว่า การเดินหน้าทำประชามติของไทยในขณะนี้ส่อเค้ามีปัญหาความวุ่นวาย เนื่องจากมีคนหัวหมอออกมาตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 9 ถึงประเด็นจำนวนของการออกเสียงว่าต้องได้เท่าไร ซึ่งประเด็นนี้สร้างความสับสนให้กับประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก แต่หากรัฐบาลจะเดินหน้าการจัดทำประชามติ ก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องประเด็นที่จะขอความเห็น เพราะถ้าประชาชนไม่เข้าใจ ก็จะเกิดปัญหาว่า ประชามตินั้นเป็นประชามติที่ถูกกฎหมายหรือไม่
นางสดศรี กล่าวอีกว่า แม้ในอดีตที่ผ่านมา เราจะเคยมีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว ในปี 50 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้ใช้กฎหมายประชามติ ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้ โดยผลการทำประชามติปี 50 มีประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในขณะนั้น ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เห็นชอบกลับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกินกึ่งหนึ่ง ของผู้ออกมาใช้สิทธิ แต่ก็มีจำนวนผู้ที่ไม่เห็นชอบสูงถึง 10 ล้านคะแนน ซึ่งตนทราบว่าขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ มีความกังวลมาก เกรงว่าประชามติแล้วจะไม่ผ่าน
“เวลานั้นไม่มีฝ่ายค้าน แต่ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐบาลต้องทำงานกันอย่างหนัก การดำเนินการต่างๆ แม้จะมีผู้สนับสนุนการทำงานของ คมช.แต่นายกฯก็ยังต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำงานที่ใกล้เคียงกับ กกต.โดยให้หน่วยงานนี้ไปประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจถึงผลดี ผลเสีย ของการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่สุด ก็ยังมีคนไม่เห็นชอบถึง 10 ล้านคน โดยเฉพาะในบางจังหวัด เช่น จ.บุรีรัมย์ ไม่เห็นชอบทั้งจังหวัด กรณีดังกล่าวสะท้อนได้ว่าการทำประชามติไม่ได้ทำง่ายๆ อีกทั้งสภาวะบ้านเมืองในขณะนี้มีความแตกแยกในทางความคิดสูงมาก การทำงานของรัฐบาลมีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ หรือเรียกได้ว่า เป็นการต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ สู้กันเพื่อประโยชน์ของแต่ละพรรคการเมือง ทำให้แต่ละค่ายออกมารณรงค์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่ต่างกัน ดังนั้น การจะเอาผลคะแนนในการออกเสียงประชามติปี 50 มาเป็นตัวตั้งแล้วคิดว่า การทำประชามติที่จะเกิดขึ้นน่าจะได้คะแนนเสียงที่เห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงใกล้เคียงกัน หรือพอๆ กันคงไม่ได้” นางสดศรี กล่าว
กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ยังกล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ว่า ขณะนี้หลายพรรคการเมืองได้กำหนดตัวผู้สมัครแล้ว แต่ยังต้องรอดูตัวผู้สมัครของสองพรรคการเมืองใหญ่ ที่ยังไม่ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในส่วนของกกต.ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เหมือนกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วไป อาทิ เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่ง กกต.จะได้มีการจัดตั้งทีมสืบสวนสอบสวน หาข่าว และหน่วยเคลื่อนที่เร็วไว้คอยดำเนินการอยู่แล้ว โดยทาง กกต.คงต้องรอดูว่าจะมีการกระทำผิดระหว่างการเลือกตั้งหรือไม่