xs
xsm
sm
md
lg

พท.นัด ส.ส.ทำความเข้าใจแก้ รธน.25 ธ.ค.ปชป.ค้านรื้อ กม.ประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิรายุ ห่วงทรัพย์ (แฟ้มภาพ)
พท.นัด ส.ส.ทำความเข้าใจทิศทางแก้ รธน.25 ธ.ค.นี้ เพื่อนำไปชี้แจงประชาชนในพื้นที่ ยอมทำประชามติก่อนแก้ไข รธน.ตามบัญชา นายกฯ คาด 18 หรือ 25 ธ.ค. เสนอ พ.ร.ฏ.ทำประชามติเข้า ครม.ได้ ด้าน ปชป.ค้านแก้ กม.ประชามติ ลดจำนวนเสียงใช้สิทธิ์ หวังชำเรา รธน.ทั้งฉบับ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ทางพรรคจะเรียกประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการชี้แจงประชาชนในแต่ละพื้นที่ต่อไป และเพื่อเป็นแนวทางก่อนที่จะมีการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 28 ธ.ค.ด้วย ในส่วนของพรรคไม่ติดใจที่จะทำประชามติก่อนที่จะแก้ไข เพราะสอดรับกับแนวทางของนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล

นายจิรายุ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้นั้น มองว่า ที่ผ่านมาก็ได้คัดค้านทุกเรื่องอยู่แล้ว วนเวียนกับเรื่องเดิมๆ คือ ระบุว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และหากย้อนกลับไปในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ได้ออกมาพูดเองว่า รัฐธรรมนูญ 50 มีปัญหา แถมยังมีการแก้ไขแบบรวดเร็ว

ส่วน ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันแล้วว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาคัดค้านนั้น ตนหวังว่า จะไม่มีการรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำการลงประชามติด้วยการไม่ออกมาลงคะแนน แต่ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาอย่างไร เชื่อว่า จะไม่สามารถขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะมติคณะทำงานพรรคร่วมทุกพรรคเห็นชัดเจนว่าสภามีอำนาจเดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้ แต่เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมจึงให้ทำประชามติก่อน

ทั้งนี้ เชื่อว่า ภายในวันที่ 18 หรือวันที่ 25 ธ.ค.นี้ รัฐบาลจะสามารถเสนอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อให้พิจารณาเรื่องการลงประชามติ

ด้าน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายการจัดทำประชามติ เพื่อลดจำนวนเสียงของประชาชนในการออกเสียงประชามติ ให้เป็นมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ จากเดิมกำหนดให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของประชาชนทั้งประเทศ หรือประมาณ 23 ล้านเสียง เพราะรัฐบาลกังวลว่าจะได้เสียงไม่เพียงพอ จนทำให้ไม่สามารถใช้ประชามติล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ควรใช้กติกาเดิม เพราะรัฐธรรมนูญกระทบกับประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ การทำประชามติ จะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนถึง 2 พันล้านบาท รัฐบาลไม่ควรจะใช้เงิน 2 พันล้านบาท ในการล้มรัฐธรรมนูญ แต่ควรจะมีการสอบถามประชาชนว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ก่อให้เกิดความก้าวหน้า และเพิ่มสิทธิของประชาชน ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในภาษีของประชาชน และจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนในทุกสี


กำลังโหลดความคิดเห็น