xs
xsm
sm
md
lg

“สิงห์มหาดไทย” เจองานช้าง โจทย์หินหาม “หมู” ให้ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อกลีลาขอต่อเวลาไปเรื่อยๆ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ก่อนหน้านี้จะชัดในแนวทางการทำประชามติตามคำแถลงอย่างเป็นทางการจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำให้ทำประชามติสถานเดียว ไม่เอาเดินหน้าโหวต วาระ 3 และแก้ไขรายมาตรา...

แต่ความชัดดังกล่าวก็ยังปรากฏร่องรอยความเห็นที่แตกต่างกันของคนในพรรคเพื่อไทยด้วยกันเอง หลายส่วนดูจะไม่เห็นด้วยเท่าไหร่กับการทำประชามติ แต่ก็ไม่กล้าแสดงความเห็นอะไรกันมากนัก

แม้แต่กับ ส.ส.เพื่อไทย สาย นปช. และแกนนำคนเสื้อแดง เพราะเกรงจะไปขัดใจทักษิณ จนถูกเบรกหัวทิ่มแบบ “จตุพร พรหมพันธุ์” ที่โดนมาแล้วกลางเวทีชุมนุมใหญ่เสื้อแดง ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลประชุมนัดแรกของคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมี พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ประชุมนัดดังกล่าวใช้เวลาถกกันร่วม 2 ชั่วโมง ยังไร้ทิศทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม

วนเวียนอยู่ในกรอบเดิมๆ เพียงแต่ตีกรอบให้แคบลง คือ โยนให้ “กระทรวงมหาดไทย” รับเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการวางแผนเรื่องการสนับสนุนรณรงค์ทำประชามติ ตามมติคณะทำงาน 3 ข้อ ดังนี้

1. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ไปพิจารณาแนวทางปฏิบัติจัดทำประชาเสวนาและประชามติ โดยให้ดูว่าจะดำเนินการอย่างไร

2. คณะทำงานได้พิจารณารัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เห็นว่า การจัดทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถดำเนินการได้ แต่ยังมีรายละเอียดและหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา จึงเห็นควรรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงจะเชิญ กกต.มาร่วมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางจัดทำประชามติ

3. มอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่อง เตรียมจัดทำประชามติตามขั้นตอนกฎหมาย โดยไม่ได้กำหนดเวลาให้ศึกษา แต่ให้หลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ น่าจะต้องเห็นหน้าเห็นหลังกันบ้าง ซึ่งคณะทำงานจะนำมติครั้งนี้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และแจ้งที่ประชุมพรรคต่อไป

เท่ากับว่างานช้างของรัฐบาลครั้งนี้ จัดหนักให้กระทรวงมหาดไทย ลุยเต็มที่

ช่วงหลังมหาดไทย ไม่ได้จับงานใหญ่การเมืองให้กับรัฐบาลเพื่อไทยเลย รวมถึงแม้แต่กับรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้านี้ ทั้งช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร-รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ -รัฐบาลพลังประชาชน-รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ไม่ได้ทำอะไร

มหาดไทยจะได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในงานที่ตัวเองถนัด และเคยทำในการใช้กลไกอำนาจรัฐของกระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด-กรม-กองต่างๆ ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศในการเข้าไปรณรงค์คลุกคลีกับประชาชน เพื่อให้มาออกเสียงประชามติ และร่วมเวทีสานเสวนาปรองดอง ที่จะเป็นบันไดไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกกฎหมายปรองดองในอนาคต

ก็ต้องดูกันว่า หากสุดท้ายรัฐบาลเห็นชอบกับการให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเรื่องการช่วยรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฝีมือของจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ วิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชวน ศิรินันท์พร อธิบดีกรมการปกครอง

การจะทำให้คนมาออกเสียงประชามติเกือบ 25 ล้านคน เป็นเรื่อง "หมู" ตามที่ทักษิณบอกนั้น แท้จริงแล้วเป็น หมูจริง หรือหมูเขี้ยวตัน

จะว่าไป แท้ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีการเตรียมการเรื่องการตั้งเวทีเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพียงแต่งานไม่ขับเคลื่อนออกมา เพราะรอจังหวะหลายอย่าง เช่น งบประมาณ สัญญาณจากฝ่ายการเมืองว่าจะเอาแบบไหน ยังไง ก็เลยทำให้งานยังไม่เดิน

หากท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลชัดว่า จะให้เดินหน้าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แผนงานเดิมที่วางไว้ ก็อาจได้เห็นกันจริงจังรอบนี้

เพราะเมื่อไปตรวจสอบข่าวเดิมเรื่องนี้ ที่สื่อเคยนำเสนอกันมาก่อน ก็พบว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อช่วง สิงหาคม 2555 เห็นชอบให้มีการตั้งเวทีประชาคมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเกือบ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

มติ ครม.ดังกล่าว ให้มีคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในส่วนกลาง จังหวัด อำเภอ โดยให้กระทรวงมหาดไทย-กรมการปกครอง นำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

รายงานข่าวของสื่อมวลชนหลังมีมติ ครม.ดังกล่าว บอกไว้ว่า เหตุผลที่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าครม. เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมเพราะเดิมที คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 มอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เวลานั้นไปศึกษาพิจารณาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้อง คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญขัด มาตรา 68 โดย ครม.มอบหมายให้นายยงยุทธ ที่เป็น รมว.มหาดไทย เวลานั้นไปพิจารณาหากลไกในการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ใน 3 ประเด็นหลัก

1. การสร้างความสมดุลในการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ

2. ความสมดุลระหว่างความโปร่งใสตรวจสอบได้ เสถียรภาพ และความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน

3. การใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้เป็นไปตามกลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ต่อมา ก็มีการเสนอเรื่องกลับไปที่ ครม.ว่า ทางกรมการปกครองได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การตั้งเวทีดังกล่าวควรทำใน 3 ระดับคือ ส่วนกลาง-จังหวัด-อำเภอ

อย่างส่วนกลาง ก็ให้มีคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ให้ตัว รมว.มหาดไทย เป็นประธาน และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ และเลขานุการ ส่วนระดับจังหวัด ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ขณะที่ระดับอำเภอก็ให้นายอำเภอเป็นประธานและปลัดอำเภอหรือหัวหน้ากลุ่มหรือฝ่ายบริหารงานปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ

ซึ่งหน้าที่และภารกิจก็จะแยกย่อยออกตามโครงสร้าง จากส่วนกลางไปจังหวัด และอำเภอเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม พิมพ์เขียวดังกล่าวที่ ครม.และกระทรวงมหาดไทยวางไว้เมื่อช่วงสิงหาคม เป็นพิมพ์เขียวที่วางไว้ภายใต้ภารกิจมุ่งเน้นเรื่อง ตั้งเวทีสัมมนารับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญระดับจังหวัด ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพราะ เวลานั้น ทางของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่ชัดเรื่องการทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3

พิมพ์เขียวดังกล่าวจึงมุ่งเน้นไปที่การพยายามจะรณรงค์บอกกับประชาชนว่า เหตุผลใดจึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้เมื่อเป้าหมายออกมาว่า ต้องการทำประชามติ เพื่อขอเสียงสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

โจทย์ใหม่ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยไปทำ จึงยากกว่าของเดิมมาก เพราะของเก่ามันแค่การตั้งเวทีบอกประชาชน ตั้งเวทีกันแล้ว โฆษณาชวนเชื่อกันไปแล้ว ก็จบ ไม่ต้องวัดผลอะไร แต่โจทย์ใหม่ ไม่ใช่แค่นั้น ต้องไปวางแผนรณรงค์ให้คนมาออกเสียงประชาชน ให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งก็อยู่ที่ 24 ล้านเสียงขึ้นไป

สิงห์หลับที่อยู่ในถ้ำมานานอย่างกระทรวงมหาดไทย จะทำให้ “หมู” ของทักษิณ 24 ล้านเสียง สำเร็จหรือไม่ มันเป็นการพิสูจน์ฝีมือ จารุพงศ์ และ วิบูลย์ ปลัดมหาดไทย ครั้งสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น