xs
xsm
sm
md
lg

“สิงห์มหาดไทย” เจองานช้าง โจทย์หินหาม “หมู” ให้ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
รายงานการเมือง


ออกลีลาขอต่อเวลาไปเรื่อยๆ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ก่อนหน้านี้จะชัดในแนวทางการทำประชามติตามคำแถลงอย่างเป็นทางการจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำให้ทำประชามติสถานเดียวไม่เอาเดินหน้าโหวตวาระ 3 และแก้ไขรายมาตรา

แต่ความชัดดังกล่าวก็ยังปรากฏร่องรอยความเห็นที่แตกต่างกันของคนในพรรคเพื่อไทยด้วยกันเอง หลายส่วนดูจะไม่เห็นด้วยเท่าไหร่กับการทำประชามติ แต่ก็ไม่กล้าแสดงความเห็นอะไรกันมากนัก

แม้แต่กับ ส.ส.เพื่อไทยสาย นปช. และแกนนำคนเสื้อแดง เพราะเกรงจะไปขัดใจทักษิณ จนถูกเบรกหัวทิ่มแบบ “จตุพร พรหมพันธุ์” ที่โดนมาแล้วกลางเวทีชุมนุมใหญ่เสื้อแดงที่โบนันซ่า เขาใหญ่ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลประชุมนัดแรกของคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ประชุมนัดดังกล่าวใช้เวลาถกกันร่วม 2 ชั่วโมง ยังไร้ทิศทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม

วนเวียนอยู่ในกรอบเดิมๆ เพียงแต่ตีกรอบให้แคบลง คือ โยนให้ “กระทรวงมหาดไทย” รับเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการวางแผนเรื่องการสนับสนุนรณรงค์ทำประชามติ ตามมติคณะทำงาน 3 ข้อ ดังนี้

1. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ไปพิจารณาแนวทางปฏิบัติจัดทำประชาเสวนาและประชามติ โดยให้ดูว่าจะดำเนินการอย่างไร

2. คณะทำงานได้พิจารณารัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เห็นว่า การจัดทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้ แต่ยังมีรายละเอียดและหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา จึงเห็นควรรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงจะเชิญ กกต.มาร่วมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางจัดทำประชามติ

3. มอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่อง เตรียมจัดทำประชามติตามขั้นตอนกฎหมาย โดยไม่ได้กำหนดเวลาให้ศึกษาแต่ให้หลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่น่าจะต้องเห็นหน้าเห็นหลังกันบ้าง ซึ่งคณะทำงานจะนำมติครั้งนี้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและแจ้งที่ประชุมพรรคต่อไป

เท่ากับว่างานช้างของรัฐบาลครั้งนี้ จัดหนักให้กระทรวงมหาดไทยลุยเต็มที่

ช่วงหลังมหาดไทยไม่ได้จับงานใหญ่การเมืองให้กับรัฐบาลเพื่อไทยเลย รวมถึงแม้แต่กับรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้านี้ทั้งช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร-รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์-รัฐบาลพลังประชาชน-รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ไม่ได้ทำอะไร

มหาดไทยจะได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในงานที่ตัวเองถนัดและเคยทำในการใช้กลไกอำนาจรัฐของกระทรวงมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด-กรม-กองต่างๆ ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศในการเข้าไปรณรงค์คลุกคลีกับประชาชน เพื่อให้มาออกเสียงประชามติและร่วมเวทีสานเสวนาปรองดอง ที่จะเป็นบันไดไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายปรองดองในอนาคต

ก็ต้องดูกันว่า หากสุดท้ายรัฐบาลเห็นชอบกับการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเรื่องการช่วยรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติโดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฝีมือของจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชวน ศิรินันท์พร อธิบดีกรมการปกครอง

จะทำให้การให้คนมาออกเสียงประชามติเกือบ 25 ล้านคนเป็นเรื่อง “หมู” ตามที่ทักษิณบอกนั้น แท้จริงแล้วเป็น หมูจริงหรือหมูเขี้ยวตัน

จะว่าไป แท้ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีการเตรียมการเรื่องการตั้งเวทีเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพียงแต่งานไม่ขับเคลื่อนออกมาเพราะรอจังหวะหลายอย่างเช่นงบประมาณ สัญญาณจากฝ่ายการเมืองว่าจะเอาแบบไหนยังไง ก็เลยทำให้งานยังไม่เดิน

หากท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลชัดว่า จะให้เดินหน้าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แผนงานเดิมที่วางไว้ก็อาจได้เห็นกันจริงจังรอบนี้

เพราะเมื่อไปตรวจสอบข่าวเดิมเรื่องนี้ ที่สื่อเคยนำเสนอกันมาก่อนก็พบว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเคยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อช่วง สิงหาคม 2555 เห็นชอบให้มีการตั้งเวทีประชาคมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเกือบ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

มติ ครม.ดังกล่าวให้มีคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในส่วนกลาง จังหวัด อำเภอโดยให้กระทรวงมหาดไทย-กรมการปกครองนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

รายงานข่าวของสื่อมวลชนหลังมีมติ ครม.ดังกล่าว บอกไว้ว่า เหตุผลที่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าครม.เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมเพราะเดิมที คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม2555 มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยเวลานั้นไปศึกษาพิจารณาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 โดยครม.มอบหมายให้นายยงยุทธที่เป็น รมว.มหาดไทยเวลานั้นไปพิจารณาหากลไกในการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ใน 3 ประเด็นหลัก

1. การสร้างความสมดุลในการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ

2. ความสมดุลระหว่างความโปร่งใสตรวจสอบได้ เสถียรภาพ และความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน

3. การใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้เป็นไปตามกลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ต่อมาก็มีการเสนอเรื่องกลับไปที่ ครม.ว่าทางกรมการปกครองได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการตั้งเวทีดังกล่าวควรทำใน 3 ระดับคือส่วนกลาง-จังหวัด-อำเภอ

อย่างส่วนกลางก็ให้มีคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ตัว รมว.มหาดไทย เป็นประธาน และอธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนระดับจังหวัด ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ขณะที่ระดับอำเภอก็ให้นายอำเภอเป็นประธานและปลัดอำเภอหรือหัวหน้ากลุ่มหรือฝ่ายบริหารงานปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ

ซึ่งหน้าที่และภารกิจก็จะแยกย่อยออกตามโครงสร้างจากส่วนกลางไปจังหวัดและอำเภอเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม พิมพ์เขียวดังกล่าวที่ครม.และกระทรวงมหาดไทยวางไว้เมื่อช่วงสิงหาคม เป็นพิมพ์เขียวที่วางไว้ภายใต้ภารกิจมุ่งเน้นเรื่องตั้งเวทีสัมมนารับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญระดับจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพราะเวลานั้นทางของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่ชัดเรื่องการทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3

พิมพ์เขียวดังกล่าวจึงมุ่งเน้นไปที่การพยายามจะรณรงค์บอกกับประชาชนว่าเหตุผลใดจึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้เมื่อเป้าหมายออกมาว่าต้องการทำประชามติเพื่อขอเสียงสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

โจทย์ใหม่ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยไปทำ จึงยากกว่าของเดิมมาก เพราะของเก่ามันแค่การตั้งเวทีบอกประชาชน ตั้งเวทีกันแล้ว โฆษณาชวนเชื่อกันไปแล้ว ก็จบ ไม่ต้องวัดผลอะไร แต่โจทย์ใหม่ ไม่ใช่แค่นั้น ต้องไปวางแผนรณรงค์ให้คนมาออกเสียงประชาชนให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งก็อยู่ที่ 24 ล้านเสียงขึ้นไป

สิงห์หลับที่อยู่ในถ้ำมานานอย่างกระทรวงมหาดไทย จะทำให้ “หมู” ของทักษิณ 24 ล้านเสียง สำเร็จหรือไม่ มันเป็นการพิสูจน์ฝีมือ จารุพงศ์ และวิบูลย์ ปลัดมหาดไทยครั้งสำคัญ
วิบูลย์ สงวนพงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น