xs
xsm
sm
md
lg

“จารุพงศ์” รับจ็อบวางแนวประชามติแก้ รธน. - “วราเทพ” เชื่อ “เหลิม” ยอมมติพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุม คกก.ศึกษาประชามตินัดแรกมอบหมาย มท.เจ้าภาพวางแนวประชามติ “พงศ์เทพ” เผยต้องศึกษาทำประชาเสวนาควบคู่กัน เตรียมเรียก กกต.ร่วมวงถกหลังปีใหม่ ชี้เรื่องตั้งหัวข้อต้องเข้า ครม.อีกหน ส่วน “จารุพงศ์” เล็งให้ที่ประชุมพรรคพรุ่งนี้ชี้ขาดหลังคนค้านเพียบ ด้าน “วราเทพ” เชื่อ “เหลิม” หุบปากแน่หากมีมติพรรค ไม่ฟันธงทำงานเสร็จเมื่อใด หวั่นเงื่อนเวลาล็อกให้โหวตเร็ว

วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 17.30 น. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันใน 3 ประเด็น คือ 1. แนวทางการทำประชาเสวนา และแนวทางในการทำประชามติ เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการทำประชาเสวนา ก่อนที่จะมีมติในการตั้งคณะกรรมการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติ ทำให้ต้องดูว่าทั้ง 2 เรื่องนี้สามารถดำเนินการสอดคล้องกันได้อย่างไร โดยมอบหมายให้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบการทำประชาเสวนาเป็นผู้นำไปพิจารณา

2. การพิจารณากรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีรายละเอียดและผู้ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก โดยจะมีการเชิญตัวแทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลในการประชุมครั้งต่อไป และ 3. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่องในการเตรียมดำเนินการออกเสียงประชามติ หรือหากเห็นว่ามีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้เสนอเข้ามาด้วย

“เชื่อว่าในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ทางกระทรวงมหาดไทยจะสามารถสรุปเบื้องต้นและนำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปต้องรอนัดหมายกับทาง กกต.ก่อนว่าสะดวกในช่วงใด คาดว่าจะเป็นช่วงหลังเทศกาลปีใหม่เช่นกัน” นายพงศ์เทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อในการจัดทำประชามติด้วยหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ในส่วนกระทรวงมหาดไทยจะมีหน้าที่ในการวางกรอบแนวทาง ขั้นตอนทางกฎหมาย และกำหนดรายละเอียดตั้งแต่หลักการเหตุผล รวมทั้งการจัดทำเอกสารชี้แจงต่อประชาชน ซึ่งเป็นไปตามสาระสำคัญของมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ซึ่งในขั้นตอนนี้คาดว่าใช้เวลาพอสมควร โดยคณะกรรมการจะรายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมพรรคเป็นระยะ

เมื่อถามว่าได้มีการนำความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำประชามติมาหารือหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ได้ติดตามอยู่ตลอด และพร้อมที่จะรับฟังทุกๆ ความคิดเห็น รวมทั้งความเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ และเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น ก็รับฟังเพราะถือเป็นความเห็นที่มีเหตุผล อย่างไรก็ดีคงมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรค

ด้านนายจารุพงศ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า ทุกๆ ความคิดเห็นของ ส.ส.ของพรรคจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรคในวันพรุ่งนี้ (25 ธ.ค.) และเปิดให้มีการแสดงเหตุผลอย่างกว้างขวาง ซึ่งท้ายที่สุดจะมีการสรุปแนวทางของพรรคออกมาอีกครั้ง

ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า แม้ ร.ต.อ.เฉลิมจะระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงประชามติ และมีประเด็นในการแก้ไขรายมาตรา 9 ประเด็นเตรียมเสนอ แต่ก็ย้ำตลอดว่าพร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางของพรรคเพื่อไทย จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติยังไม่สามารถกำหนดเวลาแล้วเสร็จได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องทำด้วยความรอบคอบเพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันและสมบูรณ์ที่สุดก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะหากมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาในเรื่องการทำประชามติแล้วก็จะทำให้มีกำหนดเงื่อนเวลาการออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนด คือ หลังจาก 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 56 ตามที่เป็นข่าวหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 1 นี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา


กำลังโหลดความคิดเห็น