xs
xsm
sm
md
lg

พท.อ้างไม่มีหมกเม็ดแก้ รธน.ช่วย “นช.แม้ว” นัด 24 ม.ค.ถกลุยประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต (แฟ้มภาพ)
รองโฆษก พท. ยันไม่มีหมกเม็ดแก้ รธน.เพื่อช่วย “นช.แม้ว” เผย 24 ธ.ค. คณะทำงานดำเนินการศึกษาการออกเสียงประชามติ ประชุมนัดแรก ถก 4 ประเด็นในการทำประชามติ

ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่าไม่มีการหมกเม็ดประเด็นการแก้ไข เพื่อช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะกระบวนการแก้ไขต้องตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ขึ้นมายกร่าง และผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา

ที่สำคัญกระบวนการทั้งหมดจะต้องผ่านการมีส่วนร่วมจากประชาชนโดยทางพรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกโยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ทั้งที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ทางประธานสภาผู้แทนราษฎรยืนยันแล้วว่าจะไม่มีการพิจารณาวาระดังกล่าว โดยจะไม่มีการเลื่อนร่างกฎหมายที่สำคัญขึ้นมาพิจารณาก่อน

อย่างไรก็ตามทางพรรคเพื่อไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามโยง 2 ประเด็นเข้าด้วยกัน เพื่อต้องการให้ประชาชนเกิดความสับสน และต้องการล้มประชามติ โดยไม่ฟังเสียงของ กกต.ที่ระบุว่า การรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติเข้าข่ายกระทำขัดกฎหมาย อาจจะมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทางพรรคเพื่อไทยพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของสมาชิกพรรค ที่แก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา และเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาสร้างความขัดแย้งภายในพรรคแน่นอน

รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 24 ธ.ค. เวลา 15.00 น.คณะทำงานดำเนินการศึกษาการออกเสียงประชามติ ที่จะประชุมหารือนัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล ในเบื้องต้นจะมีการหารือ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.จะหารือเกี่ยวกับการทำประชาเสวนาและการรณรงค์ออกเสียงประชามติว่าจะดำเนินการควบคู่กันไปได้หรือไม่ หรือมีข้อกฎหมายใดจะต้องดำเนินการแก้ไข

2.จะมีการหารือหน่วยงานรัฐ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือในการดำเนินการออกเสียงประชามติ รวมถึงการตั้งคำถามในการออกแบบสอบถามประชามติ

3.จะหารือเรื่องความรับผิดชอบในการตั้งคำถามการออกแบบประชามติว่าจะเป็นหน่วยงานหรืออองค์กรใดเป็นผู้ดำเนินการ และ 4.กรอบเวลาในการออกเสียงประชามติว่าควรจะเป็นช่วงใด เพราะรัฐบาลต้องออกพระราชกฤษฎีกา และหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกามีเวลาภายใน 120 วัน จึงต้องหารือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องว่ารัฐบาลจะสามารถให้ลงประชามติได้เมื่อใด



กำลังโหลดความคิดเห็น