“นายกฯยิ่งลักษณ์” ส่ง “ประชา-วราเทพ” จ้อผ่านจอทีวี ยืนยันเดินหน้าทำประชามติรื้อ รธน.ทั้งฉบับ รับห่วงเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่จะใช้วิธีโฆณาชวนเชื่อผ่านเวทีประชาเสวนาให้ได้ตามเป้า “ประชา” คาดใช้เวลา 1 ปีครึ่งชำเรารัฐธรรมนูญเสร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” เช้าวันนี้ (22 ธ.ค.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และนายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติ ร่วมกันจัดรายการแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงถึงการดำเนินการหาทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในขณะนี้
พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการหยิบยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหารือโดยมีข้อยุติว่าควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นหลัก จึงคิดว่าควรจะทำประชามติ และมอบให้ตนไปศึกษาหารือแนวทางและเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาประชุมกับ ครม.อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นทางออกที่อธิบายสู่ประชาชนได้ดีที่สุด และเป็นตัวชี้วัดความคิดเห็นของเสียงข้างมากว่าเป็นไปในทิศทางใด หากได้ข้อยุติแล้ว ก็อยากให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยยอมรับ
โดยคณะทำงานจะทำหน้าที่ 3 ส่วน คือ ศึกษาความก้าวหน้า รับทราบการออกเสียงประชามติ และศึกษาข้อกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลาหารือประมาณ 3-4 สัปดาห์ ส่วนสาเหตุที่ ครม.ไม่เห็นชอบทันที ในวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะต้องดูข้อกฎหมายให้มีความรัดกุม เพื่อลดข้อทักท้วง โดนยืนยัน จะต้องตั้ง สสร. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พล.ต.อ.ประชายอมรับว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องที่จะต้องได้เสียงประชาชนที่มาลงประชามติอย่างน้อยกึ่งหนึ่งหรือ 23 ล้านเสียง แต่เราก็จะดำเนินการให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องของรัฐธรรมนูญนั้นว่ามีความสำคัญ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น การประชาพิจารณ์เสวนาก็ต้องทำควบคู่เพราะเป็นเรื่องมีประโยชน์ ประชามติจะเป็นการสะท้อนความเห็นในภาพรวมของสังคม ตรงนี้ต้องหันมารับฟังความเห็นเป็นสำคัญ ช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นเรื่องที่ต้องคอยดูว่าจะเป็นอย่างไร
“เป็นห่วงเรื่องเสียงการทำประชามติ แต่ยืนยันจะไม่มีการแก้ข้อกฎหมาย เพื่อลดการใช้สิทธิ์ออกเสียง โดยจะทำคู่ประชาเสวนา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ ภายใน 1 ปีครึ่ง ไม่ถึง 2 ปี ขอฝ่ายค้าน อย่าเพิ่งค้านการทำประชามติ แต่ขอให้ช่วยกันเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ แล้วดูผลที่เกิดขึ้นมากกว่า”
ส่วนนายวราเทพกล่าวว่า การทำประชามตินั้นเป็นทางออกที่อธิบายกับประชาชนได้ ประกอบกับมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อวินิจฉัยแนะนำในเรื่องการให้ไปสอบถามประชาชนเสียก่อน เลยเป็นที่มาให้ประชาชนสะท้อนความคิดเห็น โดยมีเรื่องการทำประชาพิจารณ์มาบ้างแล้ว แต่การทำอย่างนั้นไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าฝ่ายที่เป็นด้วยหรือไม่มีจำนวนเท่าใด มีแต่การใช้แนวทางประชามติที่จะวัดได้ชัดเจน ท้ายที่สุดการออกเสียงประชามติจะสามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ และหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะเป็นที่ยุติทุกฝ่าย จะเป็นการลดขัดแย้งของสังคม เหตุที่ ครม.ไม่ได้เห็นชอบในทันทีเพราะมีข้อกำหนดหลายอย่างเพราะมีหลายขั้นตอน เรื่องที่คณะกรรมการไปดำเนินการนั้นมีขั้นตอนมากมายและในเรื่องกฎหมายค่อนข้างมีความรัดกุม ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการก็พิจารณาอยู่ ขั้นตอนนี้ไม่ได้คิดว่าใช้เวลานานเพราะเราต้องรอบคอบดีกว่า เพื่อที่จะให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้สะท้อนความคิดเห็นก็จะได้รับฟังแล้วนำมาแก้ไขได้อีกด้วย
นายวราเทพกล่าวว่า ที่หลายฝ่ายสงสัยว่าเรื่องการถามของการทำประชามติจะเป็นอย่างไร ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นในรายละเอียดจะต้องรอ ส.ส.ร. คงจะถามว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนเรื่องจำนวนคนที่มาใช้สิทธินั้นเป็นเรื่องที่อยากพอสมควร อีกทั้งยังมีคนที่ค้านด้วย แต่อย่างไรก็จะไม่แก้กฎหมายเดิม เพราะจะทำให้เกิดการเป็นอุปสรรคในการแก้ และท่าทีของฝ่ายค้านครั้งแรกตนก็แปลกใจว่าทำไมพรรคฝ่ายค้านมีการค้านเร็วไปกว่าที่คาดการณ์เพราะยังไม่เห็นหัวข้อเรื่องที่ยังไม่ได้ทำแต่ค้านแล้วก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ควรจะมีการรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิจะดีกว่า แต่เรื่องเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ ดีกว่างดออกเสียงแล้วอยู่ที่บ้าน
“ทุกวันนี้ทุกฝ่ายอึดอัดกับปัญหาที่เกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งคือเรื่องรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร การที่ประชาชนมีการมาออกเสียงประชามติในครั้งนี้จะเป็นที่ยอมรับ ยังมีหลายคนที่เสียงเงียบจำนวนมากที่ยังรอให้สองฝ่ายได้คุยกัน ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้”