xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลดเพดานภาษีเหลือ35% รัฐกลืนเลือดอุ้มคนรวย รับมือแข่งขันเปิดAEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการทางเศรษฐกิจ และรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเป็นการลดภาระภาษีและสร้างความเป็นธรรมให้กระจายรายได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการปิดช่องโหว่ของการหลีกเลี่ยงภาษี

โดยได้เสนอปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิ จากเดิม 5 ขั้นอัตราเป็น 7 ขั้นอัตราและลดอัตราภาษีสูงสุดจาก 37% เหลือ 35% ส่งผลให้ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 0 - 300,000 บาท เสียภาษี 5% แต่ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีในส่วน 1.5 แสนบาทแรก ส่วนผู้มีเงินได้ 300,001- 500,000 บาทเสียในอัตรา 10% ผู้มีเงินได้ 500,001-750,000 บาทเสียในอัตรา 15% ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 750,001- 1 ล้านบาท เสีย 20% ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 1,000,001-2 ล้านบาท เสียในอัตรา 25% ผู้มีเงินได้ 2,000,001- 4 ล้านบาท เสียในอัตรา 30% และ 4,000,001 บาทขึ้นไป เสียในอัตรา 35%

เทียบกับอัตราเดิมที่ผู้มีเงินได้ 0-1 แสนบาท เสียในอัตรา 5% ผู้มีเงินได้ 100,001-500,000 บาท เสียในอัตรา 10% ผู้มีเงินได้ 500,001-1 ล้านบาท เสียในอัตรา 20% ผู้มีเงินได้ 1,000,001- 4 ล้านบาท เสียในอัตรา 30% `และตั้งแต่ 4,000,001 ขึ้นไป เสียในอัตรา 37%

เรียกว่า เสียดแทงเข้าไปในหัวใจของบรรดา “ไพร่แดง” ไม่น้อย สำหรับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เถลิงอำนาจการปกครองประเทศโดยเสียงของคนจน เสียงของเหล่าไพร่แดงกลับไม่สนใจไพร่แดงที่เป็นคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง หากแต่กลับไปลดภาษีให้กับคนรวย

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวยอมรับว่าผู้ที่มีรายได้สูงเขาก็เสียภาษีสูงอยู่แล้วการปรับโครงสร้างครั้งนี้ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เสียภาษีลดลงมาหน่อยเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนจากเดิม แต่สำหรับกลุ่มผู้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำอยู่แล้วนั้นจะสามารถประหยัดภาษีได้มากกว่าเมื่อเทียบเป็นอัตราส่วน

นอกจากนั้น ยังได้กำหนดคำนิยามของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หมายความว่า บุคคลตั้งแต่ 2 คนค้นไป ที่ทำกิจการโดยไม่แบ่งปันกำไร ให้เสียภาษีจากเงินได้พึงประเมินก่อนหักรายจ่าย ในอัตรา 20% จากเดิมที่คณะบุคคลจะเสียภาษีตามอัตราเงินได้บุคคลธรรมดา และยังกำหนดนิยามห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล ให้หมายความว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จัดตั้งขึ้นให้เสียภาษีจากเงินได้สุทธิในอัตรา 20%

การปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวให้มีผลสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2556 ที่จะยื่นภายในปี 2557 เป็นต้นไป โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีในปีงบประมาณ 2556 ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท แต่จะทำให้ ผู้เสียภาษีมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนั้น กระทรวงการคลังยังได้ยื่นเสนอการปรับปรุงการยื่นภาษีเพื่อความเสมอภาค ด้วยการอนุญาตให้คู่สมรสสามารถแยกยื่นรายการเสียภาษีเงินได้พึงประเมินในส่วนของตนในทุกประเภทเงินได้ และยังอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายบุตรได้เท่ากัน โดยให้มีผลตั้งแต่ปีภาษี 2555 ที่จะยื่นในปี 2556 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป 7 พันล้านบาท

ในขณะที่อดีตขุนคลัง กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นต่อกรณีรัฐบาลออกมาตรการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อลดภาระภาษีให้ประชาชน แต่ได้ลดอัตราภาษีให้ผู้มีเงินเดือนสูงสุด ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น และคนรวยได้ประโยชน์จากนโยบายภาษีรัฐซ้ำแล้วซ้ำอีก

“ช่วงต้นปี ก็มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30 เหลือ 25% ปีหน้าก็จะลดเหลือ 20% สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือผลักดันภาษีที่ดินที่รัฐบาลก่อนได้ยกร่างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ นายกฯ ก็ประกาศยุบสภาฯ เสียก่อนเสียที ร่างกฎหมายพร้อมอยู่แล้ว สามารถเดินหน้าได้เลย”

อดีต รมว.คลัง ยังเตือนให้รัฐบาลให้ความสนใจกับคนยากจนที่สุดบ้าง เพราะสถิติล่าสุดชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อเดือน มีภาระชำระหนี้สินเพิ่มขึ้น 45% ของรายได้ ขึ้นมาเป็น 52% ของรายได้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ปัญหาหนักก็คือ ส่วนใหญ่กลุ่มนี้เป็นผู้ที่กู้จากสถาบันการเงินไม่ได้ ต้องไปกู้ยืมนอกระบบ

และสิ่งที่รัฐบาลจะต้องตอบก็คือ เมื่อรายได้รัฐลดลง แต่รัฐยังเพิ่มการใช้จ่ายทุกปี แล้วรัฐจะมีรายได้จากแหล่งใดมาแทน ถ้าคำตอบคือ ไม่มีแหล่งรายได้ใหม่ ก็หมายความว่ารัฐต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมใช่หรือไม่ จะมีผลกับประเทศอย่างไร

“ปีนี้รายได้รัฐก็ต่ำกว่าเป้า ในขณะที่การใช้จ่ายโครงการประชานิยมทะลุเป้าเกือบทุกโครงการ หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต้องปรับลดค่าใช้จ่ายงบประมาณให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ตามการเสนอแนะของกรมสรรพากรก็ยังมีข้อดีในแง่ของการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศเพื่อรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC โดยเมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีขั้นสูงสุดของบรรดา 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะพบว่าอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยสูงสุดที่ 37% แม้จะลดลงมาแล้วก็ยังสูงสุดเท่ากับประเทศเวียดนามคือ 35% ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 32% อินโดนีเซียและพม่า 30% มาเลเซีย 28% ลาว 25% และต่ำสุดคือกัมพูชาและสิงคโปร์จัดเก็บในอัตรา 20%

เมื่อมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานแล้วภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในการดึงดูดแรงงานคุณภาพสูงเข้าสู่ประเทศ หากรัฐบาลยังไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเพิ่มแรงจูงใจในการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือก็จะทำให้แรงงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศที่มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่ำกว่าไทยเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในอนาคต...

ขณะที่อีกหนึ่งนโยบายอุ้มคนรวยที่ต้องบอกว่าเลอะเทอะและเละเทะหนักขึ้นทุกวันก็คือ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก ซึ่งล่าสุดได้รับคำยืนยันจากปากของ “นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังว่า มียอดผู้มาขอใช้สิทธิแล้วทั้งสิ้น 910,000 คัน และคิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืนทั้งสิ้น 63,000 ล้านบาท โดยประชาชนมายื่นเฉลี่ยวันละ 35,000 คน

ทั้งนี้ หากยอดเฉลี่ยยังเท่าเดิมคาดว่าหลังจากสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ยอดขอคืนภาษีจะทะลุ 1 ล้านคัน คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืนประมาณ 70,000 ล้านบาท

คำถามที่รัฐบาลไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายก็คือ ทำไมรัฐบาลถึงไม่ใช้เงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่เพื่อให้บริการประชาชน เช่น รถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน



กำลังโหลดความคิดเห็น