xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บินไทย”ฮั้ว”ค่าธรรมเนียมน้ำมัน ถามหาธรรมภิบาล-ปัญหาทุจริตอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืออากาศโทอภินันท์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  (ดีดี) การบินไทยในขณะนั้น
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชำระค่าปรับให้แก่ทางการของประเทศออสเตรเลียเป็นจำนวนเงิน 7.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย พร้อมค่าทนายความอีก 500,000 เหรียญออสเตรเลีย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 256 ล้านบาท ตามการประนีประนอมยอมความของบริษัทฯ หลังจากถูก Australian Competition and Consumer Commission(ACCC) ตรวจสอบกรณีร่วมกันกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการขนส่งสินค้าทางอากาศ และถูกฟ้องในความผิดฐานละเมิดกฎหมาย Trade Practices Act 1974 ต่อศาลประเทศออสเตรเลีย

แม้การบินไทยจะมีการตั้งงบประมาณสำรองไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งครอบคลุมจำนวนค่าปรับดังกล่าว ทำให้ไม่มีผลกระทบใดๆ กับผลประกอบการของบริษัทฯในปี 2555 ก็ตาม แต่หากมองย้อนกลับไป จะพบว่าเรื่องดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกกับผู้ถือหุ้นของการบินไทยมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งมีการยืนยันว่า การบินไทยถูกกลุ่มผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ 35 ราย ร่วมกันฟ้องร้องต่อศาลแพ่งนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการบินไทยถูกฟ้องร่วมกับอีก 38 สายการบิน ที่ได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) ค่าธรรมเนียมการเสี่ยงภัย (War Risk Surcharge) และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งละเมิดต่อกฎหมายป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมของอเมริกา (Sherman Act or Antitrust Law) และกฎหมายประชาคมยุโรป (EU Law) ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศได้รับความเสียหาย

ต่อมาไม่นานมีข่าวว่า การบินไทยอาจต้องจ่ายปรับกรณีดังกล่าวเป็นเงิน 20,000 ล้านบาท โดยประเมินมาจากวงเงินที่หลายสายการบินซึ่งถูกฟ้องเหมือนกันยอมจ่ายค่าปรับไปก่อนแล้ว ซึ่งเรืออากาศโทอภินันท์ สุมนะเศรณี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทยในขณะนั้น ได้ชี้แจงว่าค่าปรับจะไม่ถึง 20,000 ล้านบาท พร้อมกับยืนยันว่า การบินไทยไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เข้าข่ายเป็นการ”ฮั้ว” หรือละเมิดต่อกฎหมายการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับหลายสายการบิน ที่พบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จนต้องยอมรับและจ่ายค่าปรับ ไม่ฝืนสู้คดีเหมือนการบินไทย

ช่วงปี 2544-2549 เกิดภาวะราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น การบินไทยจึงแก้ปัญหาโดยการกำหนด Fuel Surcharge ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพื่อนำรายได้ส่วนนี้มาชดเชยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และไม่ถือว่าเป็นการขึ้นค่าโดยสารหรือค่าระวางการขนส่งสินค้า ในขณะที่สายการบินอื่นก็ได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกับการบินไทย

แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศรวมตัวกันฟ้องร้อง เพราะการกระทำของสายการบินต่างๆ ไม่ได้เป็นการกำหนดราคาเอง โดยอิงการแข่งขันและความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีการแข่งขันกันตามปกติ เพราะอัตราที่กำหนดออกมาใกล้เคียงกัน เป็นการร่วมกัน หรือ สุมหัวกันขึ้นค่าธรรมเนียมมากกว่า ไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง เป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม

โดยนอกจากถูก ACCC ฟ้องแล้ว การบินไทยยังถูก คณะกรรมการกำกับการแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศเกาหลี (KFTC) คณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป (Commission of the European Communities) หรือ EC รวมถึงที่สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ กล่าวหาเช่นกัน ซึ่งยังไม่มีคำตัดสินออกมา

การตัดสินใจสู้คดีเมื่อปี 2551 และการคาดหมายว่าจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมากนั้น ทำให้เกิดความกังวลว่า จะกระทบต่อสถานะการเงินของการบินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แนะนำให้การบินไทยประเมินระดับความเสียหายให้ดี และนำไปสู่การตั้งสำรองประมาณการค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีที่บริษัทถูกฟ้องคดีละเมิดกฎหมายการป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมไว้ถึง 4,290 ล้านบาท ในปี 2551

และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การบินไทยต้องประสบกับการขาดทุนมหาศาลเป็นประวัติการณ์ในปี 2551 ถึง 21,314 ล้านบาท เพราะในขณะนั้นการบินไทยยังต้องเผชิญกับวิกฤติหลายเรื่องที่ล้วนส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งสิ้น เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สภาวะเศรษฐกิจ ชะลอตัวทั่วโลกและสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศทำให้นอกจากมีรายจ่ายเพิ่มจากการตั้งสำรองดังกล่าวแล้ว การบินไทยังต้องประสบกับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ถึง 4,471 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้คดี ต้องมีทนายเข้ามา ซึ่งเบื้องต้นได้ใช้เงินกว่า 100 ล้านบาท จัดจ้างบริษัททนายทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมี บริษัท สำนักงานกฎหมายสากล สยามพรีเมียร์ จำกัด เป็นแกนหลักเพื่อเป็นตัวแทนรวบรวมเอกสารหลักฐานสู้คดี ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป โดยพบว่า การบินไทยต้องจ่ายค่าบริการทางกฎหมายดังกล่าวในอัตราสากล ว่ากันว่า ต้องจ่ายกันเป็นรายชั่วโมง

ถึงวันนี้ ชัดเจนแล้วว่า การบินไทยจะต้องใช้วิธีเจรจาประนีประนอมทุกศาลที่มีการฟ้องร้อง และรอลุ้นว่า ค่าปรับแต่ละที่จะเป็นเท่าไร ซึ่งมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณการขนส่งสินค้าไปยังประเทศนั้นๆ ที่ยังคาใจกันอยู่ก็คือ เหตุใด การบินไทย จึงตัดสินใจสู้คดีแทนที่จะยอมรับผิดและจ่ายค่าปรับซึ่งเป็นเงินที่น้อยกว่าค่าปรับหลังแพ้คดีแน่นอน

ทั้งนี้ การบินไทยเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ เป็นบริษัทแนวหน้าในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯเองก็มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และจรรยาบรรณในการกำกับดูแลกิจการที่เข้าจดทะเบียนในตลาดทรัพย์ฯ ซึ่งได้กำหนดแนวทางและหลักปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้ตามมาตรฐานสากล โดยในที่นี้ใช้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ The Organisation for Economic and Co-operation (OECD) เป็นแนวทางหลัก และใช้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนเป็นส่วนประกอบ เพื่อการเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่องค์กรอื่นในตลาดทุนไทย

โดยนโยบายการกำกับดูแลกิจการฉบับนี้ เพื่อให้มีความชัดเจนในการสื่อสารถึงแนวทางในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ธำรงไว้ซึ่งความไว้วางในของสาธารณชนในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยมีหน้าที่หลักในการดูแลให้เกิดการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และโปร่งใส ตลาดหลักทรัพย์จึงกำหนดข้อปฏิบัติเป็นจรรยาบรรณไว้ให้กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา และพนักงานของตลาดหลักทรัพย์และบริษัทย่อย ยึดถือเพื่อเป็นหลักการและคุณธรรมประจำใจในการปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์จะต้องเร่งเข้ามาตรวจสอบการบินไทย ว่าเหตุใดจึงมีการฝ่าฝืนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดไว้และถูกศาลพิพากษาให้แพ้คดี"ฮั้ว"ทำให้การบินไทยต้องถูกปรับเป็นเงิน 256 ล้านบาท

จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ถือหุ้นการบินไทย ตั้งข้อสังเกตว่าการบินไทยไม่มีความโปร่งใสในการบริหารจัดและปัญหาการทุจริตมากมายในหลายโครงการตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงโครงการซื้อฝูงบินนับแสนล้าน ล้วนแต่มีผลประโยชน์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกับการบินไทย แต่มีการเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัยที่มีนักการเมืองเข้าไปหาผลประโยชน์ แต่ผลที่เกิดขึ้น ตามมาคือความเสียหายกับชาติในด้านชื่อเสียงในฐานะสายการบินแห่งชาติว่าไม่มีความโปร่งใส ขาดการตรวจสอบ นับว่าสายการบินที่มีแต่จะถอยหลัง และถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการตรวจสอบและยกเครื่องครั้งใหญ่ก่อนที่จะสายเกินแก้ จนสายการบินแห่งชาติต้องล่มสลายไป....


กำลังโหลดความคิดเห็น