xs
xsm
sm
md
lg

จับตารัฐบาลดิ้นสุดฤทธิ์ ฟอกขาวแผนชำเรา รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลพรรค “เพื่อแม้ว” ยังไม่ตกผลึกเสียทีเดียว ว่าจะเดินหน้าทำ “ประชามติ” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังมีความกังวลอยู่ว่า ผู้มาใช้สิทธิในวันออกเสียง “ประชามติ” ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งประเทศ
เพราะการจัดทำประชามติตาม มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ได้ระบุถึงเกณฑ์การออกเสียงประชามติไว้ ในวรรคที่ 3 ระบุว่า “...เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ...”
ในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาตรา 9 วรรคแรก ไว้ว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็น จำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”
หากเทียบจากสถิติจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีจำนวน 46,939,549 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,220,208 คน หรือ ร้อยละ 75.03 บัตรเสีย 1,726,768 บัตร หรือร้อยละ 4.9 บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 958,213 บัตร หรือ ร้อยละ 2.72
ในกรณีหาข้อยุติในเรื่องที่จะทำประชามติเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติของผู้มีสิทธิออกเสียง 46,939,549 คน คือ ต้องได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงไม่น้อยกว่า 23,469,775 คน ก่อนเป็นลำดับแรก
จากนั้นเมื่อได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงแล้ว จะต้องได้จำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงประชามติด้วย คือต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 23,469,775 คน คือ ไม่น้อยกว่า 11,734,888 คน ในการหาข้อยุติในเรื่องที่เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ
ทว่าหากนำผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 6 พรรคการเมือง ปรากฏว่า แต่ละพรรคได้รับคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศ ดังนี้ 1.พรรคเพื่อไทย 15,752,470 เสียง 2.พรรคชาติไทยพัฒนา 907,106 เสียง 3. พรรคชาติพัฒนา 495,762 เสียง 4.พรรคพลังชล 178,042 เสียง 5.พรรคมหาชน 133,752 เสียง และ 6.พรรคประชาธิปไตยใหม่ 125,753เสียง เมื่อรวมเสียงของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลจะมีจำนวนคะแนนเลือกตั้ง ทั้งสิ้น 17,592,885 เสียง
แต่หาก “รัฐบาล” สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่น โดยไม่นับรวมของพรรคประชาธิปัตย์ 11,435,640 เสียง “รัฐบาล” ก็จะมีคะแนนเสียงบวกเพิ่มจากพรรคภูมิใจไทย 1,281,652 เสียง พรรครักประเทศไทย 998,668 เสียง พรรครักษ์สันติ 284,100 เสียง พรรคมาตุภูมิ 251,674 เสียง จะทำให้ “รัฐบาล” จะมีเสียงตุนอยู่ในมืออย่างน้อย 20,408,979 เสียง
**ตรงนี้จะทำให้ “รัฐบาล” มีคะแนนเสียงใกล้ความฝันซึ่งตัวเลขกลมๆอยู่ที่ 23.5 ล้านเสียง
ทว่าการคำนวณเสียงฉบับ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี กลับมองว่า คะแนนเสียงอาจจะไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ เนื่องจากอาจจะถูกสกัดกั้นจาก “ประชาธิปัตย์” ที่เริ่มแพลมออกมาว่าจะรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ ด้วยการ “นอน” อยู่บ้าน
**การทำ “ประชามติ” ในสายตาของ “ร.ต.อ.เฉลิม” จึงเสมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา ยากยิ่งกว่ายากเสียอีก
แต่หลายคนมองว่านั่นเป็นเพราะ “สารวัตรเหลิม” เล่นการเมืองแบบเพลย์เซฟ ไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชนิดที่ต้องออกหน้าออกตา เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่ออนาคตทางการเมืองของตัวเอง สู้ปล่อยตัวลอยเหนือน้ำเสียดีกว่า
ตรงกันข้ามฝ่ายสนับสนุนการทำ “ประชามติ” ฟากของ “รัฐบาล” โดยเฉพาะ “คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ” กลับมองว่าการทำ “ประชามติ” ถือเป็นทางออกของรัฐบาลที่ดีที่สุด เพราะจะมัวรอทอดเวลาออกไป โดยที่ไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในวาระ 3 ไม่ได้ เพราะเมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เปิดช่องให้ทำ “ประชามติ” ก็ควรเดินตามที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เปิดช่องไว้
ซึ่งในทางลับ “คณะทำงาน” ได้นั่งนับจำนวนผู้ที่จะมาออกเสียงประชามติแล้ว โดยคาดการณ์กันว่า “รัฐบาล” จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ อย่างแน่นอน
เพราะ หนึ่ง การออกเสียง “ประชามติ” ไม่เหมือนการเลือกตั้ง ที่ “ประชาชน” นิยมพรรคการเมืองใด นิยมผู้สมัครคนใด ก็จะลงคะแนนเสียงให้กับฝั่งนั้น แต่ “ประชามติ” คือ การออกมาใช้สิทธิเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความนิยมของพรรคการเมือง ดังนั้นจะใช้คะแนนการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มาวัดไม่ได้เสียทีเดียว
ที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย เท่าที่มีการเลือกตั้งมา ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งประเทศแทบทุกครั้ง จึงเชื่อกันว่าการทำ “ประชามติ” จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเกินกึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน
เพราะ สอง การยื้อเวลาออกประกาศทำประชามติของ คณะรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้ติดล็อกต้องดำเนินการภายใน 120 วัน ก็เพื่อให้ “กระทรวงมหาดไทย” สั่งหน่วยงานในพื้นที่ ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทั่วถึงเสียก่อน เมื่อถึงเวลารณรงค์จริงๆประชาชนจะได้ไม่สับสน
เพราะ สาม คณะรัฐมนตรีได้กำชับให้ “อัชพร จารุจินดา” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปอุดช่องโหว่เกี่ยวกับกรณีที่มีการรณรงค์ไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งคาดว่าจะมี “กฎหมาย” มาเล่นงานทั้งผู้ที่รณรงค์ไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิ และมีบทลงโทษคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ อย่างแน่นอน
ซึ่งจะมีช่องทางใดที่พอเปิดช่องว่างไว้บ้าง “อัชพร” จะเป็นคนแง้มออกมาให้ “รัฐบาล” ใช้บริการเอง เหมือนที่เคยแนะนำเรื่องแนวทางการทำ “ประชามติ” มาแล้ว
กุญแจดอกสำคัญที่จะไขล็อคทางการเมืองให้ “รัฐบาล” คือ “กฤษฎีกา”

**ดังนั้นจึงต้องจับตากระบวนการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “รัฐบาล” ให้ดี เพราะฟันธงได้เลยว่ายังไงก็หนีไม่พ้นการทำ “ประชามติ” เพียงแต่ว่า จะมีมาตรการใดออกมาชวนเชื่อ-ชวนกลัว-ชวนหลงใหล ให้ “ประชาชน” ออกมาฟอกการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น