xs
xsm
sm
md
lg

จับตารัฐบาลดิ้นสุดฤทธิ์ ฟอกขาวแผนชำเรา รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รายงานการเมือง

พลพรรค “เพื่อแม้ว” ยังไม่ตกผลึกเสียทีเดียว ว่าจะเดินหน้าทำ “ประชามติ” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังมีความกังวลอยู่ว่า ผู้มาใช้สิทธิในวันออกเสียง “ประชามติ” ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งประเทศ

เพราะการจัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ได้ระบุถึงเกณฑ์การออกเสียงประชามติไว้ในวรรคที่ 3 ระบุว่า “...เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ...” ในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาตรา 9 วรรคแรก ไว้ว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”

หากเทียบจากสถิติจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีจำนวน 46,939,549 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,220,208 คน หรือร้อยละ 75.03 บัตรเสีย 1,726,768 บัตร หรือร้อยละ 4.9 บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 958,213 บัตร หรือร้อยละ 2.72

ในกรณีหาข้อยุติในเรื่องที่จะทำประชามติเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติของผู้มีสิทธิออกเสียง 46,939,549 คน คือต้องได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงไม่น้อยกว่า 23,469,775 คน ก่อนเป็นลำดับแรก

จากนั้นเมื่อได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงแล้ว จะต้องได้จำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงประชามติด้วย คือต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 23,469,775 คน คือไม่น้อยกว่า 11,734,888 คน ในการหาข้อยุติในเรื่องที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

ทว่าหากนำผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 6 พรรคการเมือง ปรากฏว่าแต่ละพรรคได้รับคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศ ดังนี้ 1. พรรคเพื่อไทย 15,752,470 เสียง 2. พรรคชาติไทยพัฒนา 907,106 เสียง 3. พรรคชาติพัฒนา 495,762 เสียง 4. พรรคพลังชล 178,042 เสียง 5. พรรคมหาชน 133,752 เสียง และ 6. พรรคประชาธิปไตยใหม่ 125,753 เสียง เมื่อรวมเสียงของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลจะมีจำนวนคะแนนเลือกตั้งทั้งสิ้น 17,592,885 เสียง

แต่หาก “รัฐบาล” สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นโดยไม่นับรวมของพรรคประชาธิปัตย์ 11,435,640 เสียง “รัฐบาล” ก็จะมีคะแนนเสียงบวกเพิ่มจากพรรคภูมิใจไทย1,281,652 เสียง พรรครักประเทศไทย 998,668 เสียง พรรครักษ์สันติ 284,100 เสียง พรรคมาตุภูมิ 251,674 เสียง จะทำให้ “รัฐบาล” จะมีเสียงตุนอยู่ในมืออย่างน้อย 20,408,979 เสียง

ตรงนี้จะทำให้ “รัฐบาล” มีคะแนนเสียงใกล้ความฝันซึ่งตัวเลขกลมๆ อยู่ที่ 23.5 ล้านเสียง

ทว่าการคำนวณเสียงฉบับ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี กลับมองว่าคะแนนเสียงอาจจะไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ เนื่องจากอาจจะถูกสกัดกั้นจาก “ประชาธิปัตย์” ที่เริ่มแพลมออกมาว่าจะรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ ด้วยการ “นอน” อยู่บ้าน

การทำ “ประชามติ” ในสายตาของ “ร.ต.อ.เฉลิม” จึงเสมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา ยากยิ่งกว่ายากเสียอีก

แต่หลายคนมองว่านั่นเป็นเพราะ “สารวัตรเหลิม” เล่นการเมืองแบบเพลย์เซฟ ไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชนิดที่ต้องออกหน้าออกตา เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่ออนาคตทางการเมืองของตัวเอง สู้ปล่อยตัวลอยเหนือน้ำเสียดีกว่า

ตรงกันข้ามฝ่ายสนับสนุนการทำ “ประชามติ” ฟากของ “รัฐบาล” โดยเฉพาะ “คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ” กลับมองว่าการทำ “ประชามติ” ถือเป็นทางออกของรัฐบาลที่ดีที่สุด เพราะจะมัวรอทอดเวลาออกไป โดยที่ไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในวาระ 3 ไม่ได้ เพราะเมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เปิดช่องให้ทำ “ประชามติ” ก็ควรเดินตามที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เปิดช่องไว้

ซึ่งในทางลับ “คณะทำงาน” ได้นั่งนับจำนวนผู้ที่จะมาออกเสียงประชามติแล้ว โดยคาดการณ์กันว่า “รัฐบาล” จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศอย่างแน่นอน

เพราะ หนึ่ง การออกเสียง “ประชามติ” ไม่เหมือนการเลือกตั้ง ที่ “ประชาชน” นิยมพรรคการเมืองใด นิยมผู้สมัครคนใด ก็จะลงคะแนนเสียงให้กับฝั่งนั้น แต่ “ประชามติ” คือการออกมาใช้สิทธิเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความนิยมของพรรคการเมือง ดังนั้นจะใช้คะแนนการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มาวัดไม่ได้เสียทีเดียว

ที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย เท่าที่มีการเลือกตั้งมาประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งประเทศแทบทุกครั้ง จึงเชื่อกันว่าการทำ “ประชามติ” จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเกินกึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน

เพราะ สอง การยื้อเวลาออกประกาศทำประชามติของคณะรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้ติดล็อคต้องดำเนินการภายใน 120 วัน ก็เพื่อให้ “กระทรวงมหาดไทย” สั่งหน่วยงานในพื้นที่ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทั่วถึงเสียก่อน เมื่อถึงเวลารณรงค์จริงๆประชาชนจะได้ไม่สับสน

เพราะ สาม คณะรัฐมนตรีได้กำชับให้ “อัชพร จารุจินดา” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปอุดช่องโหว่เกี่ยวกับกรณีที่มีการรณรงค์ไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งคาดว่าจะมี “กฎหมาย” มาเล่นงานทั้งผู้ที่รณรงค์ไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิ และมีบทลงโทษคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิอย่างแน่นอน

ซึ่งจะมีช่องทางใดที่พอเปิดช่องว่างไว้บ้าง “อัชพร” จะเป็นคนแง้มออกมาให้ “รัฐบาล” ใช้บริการเอง เหมือนที่เคยแนะนำเรื่องแนวทางการทำ “ประชามติ” มาแล้ว

กุญแจดอกสำคัญที่จะไขล็อคทางการเมืองให้ “รัฐบาล” คือ “กฤษฎีกา”

ดังนั้นจึงต้องจับตากระบวนการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “รัฐบาล” ให้ดี เพราะฟันธงได้เลยว่ายังไงก็หนีไม่พ้นการทำ “ประชามติ” เพียงแต่ว่าจะมีมาตรการใดออกมาชวนเชื่อ-ชวนกลัว-ชวนหลงใหล ให้ “ประชาชน” ออกมาฟอกการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น