xs
xsm
sm
md
lg

ขย่ม “มาร์ค-เทือก ขอโทษประชาชน เคสแดงราย3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ห้องพิจารณา 501 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 วานนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หมายเลขดำ ช.6/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการตายของ นายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ชาวสุรินทร์ อาชีพรับจ้างและขับแท็กซี่ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายชาติชายว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150 ซึ่งนายชาติชาย ชาเหลา เสียชีวิตขณะร่วมชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553
ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 ม.ค.-19 พ.ค.2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่ม นปช.จึงชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถ.เพลินจิต ถ.พระราม 1 ถ.พระราม 4 กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.และอีกหลายพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีนายสเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศอฉ. และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน เป็น ผช.ผอ. และคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้มีการออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้
โดยระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค.2553 ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำการได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ,ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 , ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ,ปืนลูกซอง และปืนพก ออกไปตั้งด่านแข็งแรงบริเวณ ถ.พระราม 4 ซึ่งวันที่ 13 พ.ค. 2553 ในเวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช.ได้รวมตัวกันและทยอยเคลื่อนกำลังเข้าหาด่านตรวจของเจ้าพนักงาน โดยได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ขณะที่ผู้ตายถือกล้องถ่ายวีดีโอถ่ายภาพไว้ ระหว่างนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกศีรษะด้านหน้าของผู้ตายทะลุด้านหลัง แล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คดีนี้พนักงานอัยการมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล ประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า เห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจของเจ้าพนักงาน อีกทั้งจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และอาคารอื้อจือเหลียง ถ.พระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 , ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 , ปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33) , ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์
ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้นรถพยาบาลเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใด ๆ อีกทั้งกระสุนปืนขนาด .223 ( 5.56 มม.) ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืน ขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธเล็กยาวเอ็ม 16 , ปืนเล็กสั้น เอ็ม 653 และปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33) ที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการณ์ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่า กระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจโดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่ รพ.จุฬาฯ ถ.พระราม 4 เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 23.37 น. โดยสาเหตุการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 ( 5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย บริเวณ ถ.พระราม 4
ภายหลังศาลมีคำสั่งแล้ว นางพลอน ขบวนงาม มารดาของนายชาติชายผู้ตาย ได้ถือรูปผู้ตาย มาพร้อมให้สัมภาษณ์ผู้สื้อข่าวว่า รู้สึกดีใจที่ศาลมีคำสั่งออกมาแล้ว โดยครอบครัวตนได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลแล้ว โดยยังไม่ได้คิดว่าจะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นางพลอน เดินทางมาพร้อมกับบุตรชายและบุตรสาว รวมทั้ง น.ส.สุดารัตน์ ภรรยาของนายชาติชาย ซึ่งนางพลอนถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อกล่าวถึงบุตรชาย
สำหรับคดีของนายชาติชาย เป็นสำนวนแรกที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งออกมา หลังจากศาลอาญา มีคำสั่งออกมาแล้ว 2 สำนวน คือ คดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์พลศรีลา ซึ่งสำนวนชันสูตรศพกลุ่ม นปช. ที่อัยการทส่งสำนวนทั้งศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ไต่สวนการเสียชีวิต มีประมาณ 19 ราย
ซึ่งในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก จะมีคำสั่งหาสาเหตุการเสียชีวิตของ ด.ช.ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี หรือ อีซา ที่ถูกยิงจากด้านหลังทะลุเข้าช่องท้องเสียชีวิต ที่บริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถ.ราชปรารภ เมื่อกลางดึกวันที่ 15 พ.ค.2553 ด้วย และในวันที่ 16 ม.ค.2556 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ จะนัดฟังคำสั่งการไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ที่ ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้าย เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 และเสียชีวิตขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล

**“ธาริต”โอดดำเนินคดี2ฝ่ายไม่มีใครชอบ
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวภายหลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งคดีการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา แท็กซี่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปข.)ซึ่งเสียชีวิตที่บริเวณตึกอื้อจือเหลียงว่า เท่าที่ได้รับทราบผลการไต่สวนคดีผู้ตายถูกกระสุนปืนในแนวที่ตั้งฝ่ายทหาร แต่จะเป็นฝ่ายใดยังไม่ชัดเจนเป็นข้อเท็จจริงระดับหนึ่ง โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะส่งสำนวนกลับมายังดีเอสไอ โดยดีเอสไอ อัยการ และตำรวจ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามหน้าที่ที่ดีเอสไอต้องทำเมื่อคดีที่ศาลชี้แล้วว่าตายจากคนอื่น ไม่ได้ตายเองตามธรรมชาติหรือเป็นลมตาย จึงต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมดีเอสไอต้องแยกทำเป็นรายคดี เนื่องจากแต่ละคดีมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน และไม่ใช่ทั้ง 98 ศพ ที่จะเกี่ยวข้องกับคำสั่งการของศอฉ.ทั้งหมด อะไรที่ไม่เกี่ยวกับคำสั่งศอฉ.ก็ต้องไม่เกี่ยว อะไรที่เกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการเพราะเลี่ยงไม่ได้
นายธาริต กล่าวอีกว่า ในช่วง 2-3 วันนี้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ออกมาให้ร้ายและท้วงติงการทำงานของดีเอสไอ จึงอยากขอความเป็นธรรมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอด้วยและตนในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าองค์กรก็ต้องรับผิดชอบเพราะคดีใดที่ศาลได้ตัดสินจนเป็นที่ยุติแล้ว โดยเฉพาะคดีที่ไม่ได้เป็นการตายจากธรรมชาติไม่ได้เป็นลมตาย ถ้าเราไปแกล้งใคร ดีเอสไอก็ต้องรับผิดรับโทษ อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวต้องดำเนินการต่อเพราะในฐานะข้าราชการประจำก็จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฝ่ายความมั่นคง ท้าให้ดีเอสไอแจ้งความข้อหาสั่งการฆ่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนปช.ในคดีการเสียชีวิตของทหารและตำรวจ 9 ศพบ้าง เพราะก่อนหน้านี้ดีเอสไอสรุปว่าตายเพราะนปช. นายธาริต กล่าวว่า อะไรที่ไม่เกี่ยวกับดีเอสไอไม่ใช่หน้าที่ ก็จะไม่เข้าไปก้าวล่วง เพราะคดีเสื้อเหลืองเป็นเรื่องของตำรวจ ดีเอสไอทำเฉพาะคดีพิเศษ และที่ผ่านมาดีเอสไอดำเนินคดีกับนปช.กลุ่มฮาร์ดคอร์ 62 คดี 265 คน บางคนไม่ได้เพียงถูกฟ้องแต่ติดคุกติดตะรางไปแล้ว ดีเอสไอทำคดีไม่มีสองมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การที่ดีเอสไอทำทุกอย่างตามหน้าที่ตรงไปตรงมา จึงกลายเป็นว่าไม่มีใครชอบดีเอสไอเลยเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างฝ่ายต่างผิด เพียงแต่ผิดกันคนละบริบท คนละเหตุการณ์ กระบวนการยุติธรรมในประเทศก็ต้องดำเนินต่อไป หากสังคมไม่เชื่อมั่นแล้วไปขอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศรับพิจารณาคดี เรื่องยุ่งก็จะตามมา

**“เหลิม” ยันไม่ได้ตั้งธงคดี“ชาติชาย”
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.45 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาว่าการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา คนขับแท็กซี่ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณปากซอยศาลาแดง 1 ถนนพระราม 4 ระหว่างเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ในฐานะอดีตผอ.ศอฉ. ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลว่า เรื่องนี้ถ้าพูดไป พรรคประชาธิปัตย์ก็จะบอกว่าตนตั้งธง ทั้งที่ตนไม่มีธง มีแต่ความถูกต้องและเห็นว่าใครทำอะไรไว้ต้องรับผิดชอบ เพราะคนเสียชีวิตจำนวนมาก
“ชีวิตคนมีคุณค่า แม้แต่ศพเดียวก็ถือว่ามากแล้ว แต่เหตุการณ์นี้มีถึง 99 ศพ ก็ต้องรู้สึกกันบ้าง เพราะขนาดผมเห็นคนตายสมัยเป็นตำรวจ วันรุ่งขึ้นยังต้องไปทำบุญให้เลย” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ ระบุว่านายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ต้องย้อนถามว่าสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่นายอภิสิทธิ์ไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้ไต่สวนนายสมชายในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผบ.ตร.และ ผบช.น.ในขณะนั้นที่เกิดเหตุการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนายสมชาย และคนอื่นๆก็ต้องรับผิดชอบ แต่พอมาถึงตัวเองจะไม่รับผิดชอบได้อย่างไร การพูดแบบนี้ถือว่าไม่ยุติธรรม
**“เด็จพี่”เรียกร้องมารค์-สุเทพ”ขอโทษ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญา ชี้ว่าการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย จากอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ตนขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในขณะนั้น ออกมาขอโทษญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมทั้งยอมรับต่อกระบวนการยุติธรรม เพาอเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดองที่ดีที่สุด ทั้งนี้เห็นว่าหากทางพรรคประชาธิปัตย์ ยังจะฟ้องร้องเอาผิดต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก็จะเป็นการสานต่อความโกรธแค้นของญาติผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น