xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาใต้ ชี้ “แท็กซี่แดง” ตายจากกระสุนปืนเจ้าหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลอาญาใต้ ชี้ “ชาติชาย ชาเหลา” แท็กซี่เสื้อแดงถูกยิงตายขณะเข้าร่วมชุมนุมและปะทะกับทหาร ย่านพระราม 4 เชื่อเป็นกระสุนขนาดเดียวกับอาวุธประจำกายของ จนท.รักษาความสงบเรียบร้อยช่วง นปช.ก่อความวุ่นวาย แต่ไม่ชัดใครยิง

ที่ห้องพิจารณา 501 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 วันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หมายเลขดำ ช.6/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการตายของนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ชาวสุรินทร์ อาชีพรับจ้างและขับแท็กซี่ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายชาติชายว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งนายชาติชาย ชาเหลา เสียชีวิตขณะร่วมชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553

ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 ม.ค. - 19 พ.ค. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่ม นปช.จึงชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถ.เพลินจิต ถ.พระราม 1 ถ.พระราม 4 กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.และอีกหลายพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีนายสเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.ศอฉ. และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน เป็น ผช.ผอ. และคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้มีการออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้

โดยระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค. 2553 ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำการได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16, ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653, ปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33), ปืนลูกซอง และปืนพก ออกไปตั้งด่านแข็งแรงบริเวณถนนพระราม 4 ซึ่งวันที่ 13 พ.ค. 2553 ในเวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช.ได้รวมตัวกันและทยอยเคลื่อนกำลังเข้าหาด่านตรวจของเจ้าพนักงาน โดยได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ขณะที่ผู้ตายถือกล้องถ่ายวิดีโอถ่ายภาพไว้ ระหว่างนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกศีรษะด้านหน้าของผู้ตายทะลุด้านหลังแล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คดีนี้พนักงานอัยการมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล ประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า เห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจของเจ้าพนักงาน อีกทั้งจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และอาคารอื้อจือเหลียง ถ.พระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16, ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653, ปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33), ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้นรถพยาบาลเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ อีกทั้งกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืน ขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธเล็กยาวเอ็ม 16, ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 และปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33) ที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการณ์ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในที่เกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่า กระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจโดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ

ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่ รพ.จุฬาฯ ถ.พระราม 4 เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 เวลา 23.37 น. โดยสาเหตุการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณถนนพระราม 4

ภายหลังศาลมีคำสั่งแล้ว นางพลอน ขบวนงาม มารดาของนายชาติชายผู้ตายได้ถือรูปผู้ตายมาพร้อมให้สัมภาษณ์ผู้สื้อข่าวว่าดีใจที่ศาลมีคำสั่งออกมาแล้ว โดยครอบครัวตนได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลแล้ว โดยยังไม่ได้คิดว่าจะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นางพลอนเดินทางมาพร้อมกับบุตรชายและบุตรสาว รวมทั้ง น.ส.สุดารัตน์ ภรรยาของนายชาติชาย ซึ่งนางพลอนถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อกล่าวถึงบุตรชาย

สำหรับคดีของนายชาติชาย เป็นสำนวนแรกที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งออกมา หลังจากศาลอาญา มีคำสั่งออกมาแล้ว 2 สำนวน คือ คดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ซึ่งสำนวนชันสูตรศพกลุ่ม นปช. ที่อัยการส่งสำนวนทั้งศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ไต่สวนการเสียชีวิต มีประมาณ 19 ราย ซึ่งในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก จะมีคำสั่งหาสาเหตุการเสียชีวิตของ ด.ช.ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี หรือ อีซา ที่ถูกยิงจากด้านหลังทะลุเข้าช่องท้องเสียชีวิต ที่บริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถ.ราชปรารภ เมื่อกลางดึกวันที่ 15 พ.ค.2553 ด้วย และในวันที่ 16 ม.ค.2556 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ จะนัดฟังคำสั่งการไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ที่ ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้าย เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 และเสียชีวิตขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น