xs
xsm
sm
md
lg

ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวน “ชาญณรงค์” แนวร่วมแดงถูกยิงตายซอยรางน้ำ 26 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ศาลนัดฟังคำสั่ง ไต่สวน “ชาญณรงค์” แนวร่วมเสื้อแดง ถูกยิงตายซอยรางน้ำ 26 พ.ย.นี้ “ณัฐวุฒิ” แถลงเบิกความชุมนุมกดดันไล่ “มาร์ค”

ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (24 ต.ค.) ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดีดำ อช.1/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร เสียชีวิตที่ไหน เพราะสาเหตุใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ทั้งนี้ นายชาญณรงค์ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เขตราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่แยกราชประสงค์ ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงพื้นที่ กทม.

โดยช่วงเช้าวันนี้ นายสุเทพ เทือกบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เบิกความสรุปว่า ขณะที่ตนเป็น ผอ.ศอฉ.นั้น ได้ออกคำสั่ง 1/2553 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์สำหรับสลายชุมนุมตามมาตรฐานสากล คือ โล่, กระบอง, กระสุนยางซึ่งใช้ปืนลูกซองยิง, แก๊สน้ำตา, รถฉีดน้ำ และเป็นการปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ภายใต้อำนาจและการดูแลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น

นายสุเทพเบิกความต่อว่า การเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นรัฐบาลต้องการเปิดช่องทางจราจร เชื่อมโยงถนนราชดำเนิน สะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าเท่านั้น โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมที่ผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งการดำเนินการก็ใช้หลักสากล 7 ขั้น โดยเริ่มปฏิบัติการในช่วงกลางวัน ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ใช้แต่อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ ส่วนกลางคืนพบว่ามีกองกำลังผู้ก่อการร้ายที่ปะปนกับผู้ชุมนุม ใช้อาวุธสงคราม เช่น ปืนเอ็ม 16, ปืนอาก้า, ระเบิดขว้าง, การใช้กระสุนเอ็ม 79 ยิงใส่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอฉ.สามารถใช้อาวุธในการป้องกันตัวเอง และประชาชนได้ ระหว่างปฏิบัติการต่างๆ ก็ได้มีการประชุมของ ศอฉ.ทุกวัน แต่ตนไม่เคยมีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่เคยให้เป็นแนวทางของ ศอฉ. ส่วนการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ มีทั้งกำลังตำรวจและทหาร ในหลายพื้นที่เพื่อสกัดคนไม่ให้เข้าไป รวมทั้งให้ตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมีความสะดวกสบายอีกด้วย ขณะที่การพกอาวุธปืนจะให้เฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่สามารถมีปืนพก ปืนเล็กยาว และกระสุนจริงได้ เพื่อป้องกันตนเองและประชาชน โดยไม่กระทำให้มีผลแก่ชีวิต

นายสุเทพเบิกความอีกว่า ส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ที่บริเวณราชปรารภ ขณะเกิดเหตุยังไม่ทราบรายละเอียด แต่มาทราบภายหลังเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิต 13 ศพ ที่ดีเอสไอมีความเห็นไม่ตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของ สตช.ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการชันสูตรศพขึ้นมาเฉพาะ ระบุว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ และเกิดจากทิศทางใด ซึ่งตนก็ได้นำข้อมูลนี้ไปชี้แจงเมื่อครั้งถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ส่วนรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการระบุถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไว้ แต่ตนไม่เห็นข้อความที่ระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ต่อมาช่วงบ่าย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำ นปช. ขึ้นเบิกความสรุปว่า กลุ่ม นปช.ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ตั้งเวทีที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากกินพื้นที่ถึงบริเวณถนนราชดำเนินนอกและราชดำเนินกลาง กระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2553 รัฐบาล โดย ศอฉ.นำกำลังทหารออกจากที่ตั้งพร้อมอาวุธปืนเอ็ม 16 ปืนยาว โล่และกระบอง พร้อมรถถังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมโดยไม่ปฎิบัติตามหลักสากล โดยใช้เฮลิคอปเตอร์บินโยนแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีการใช้พลแม่นปืนใช้อาวุธปืนความเร็วสูงติดลำกล้อง ยิงผู้ชุมนุมกระสุนเข้าที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เคยมีรัฐบาลใดกระทำมาก่อนหลังจากนั้นได้ยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าไปรวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียว โดยช่วงประมาณวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 มีความตรึงเครียด เนื่องจาก ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่ทหารตั้งด่านตรวจค้นรอบพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าพื้นที่ชุมนุมได้ และมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารปะทะกับผู้ชุมนุมและมีการซุ่มยิงประชาชนเสียชีวิตหลายราย ซึ่งในส่วนของนายชาญณรงค์ ผู้ตายคดีนี้ ทราบจากข่าวสื่อมวลชนว่า ถูกยิงชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเกิดนอกพื้นที่ชุมนุม ซึ่งบริเวณดังกล่าวนอกจากผู้ตายแล้ว ยังมีผู้อื่นถูกยิงเสียชีวิตอีกหลายราย

ภายหลังนายณัฐวุฒิเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความญาติผู้ตายแถลงหมดพยาน ศาลจึงนัดฟังคำสั่งคดีนี้ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เวลา 09.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น