xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น“อัยการ”รับไม้ดีเอสไอ คดี “อภิสิทธิ์-สุเทพ”ฆ่าแดง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

ธาริต เพ็งดิษฐ์
นับถึงวันพุธที่ 19 ธันวาคมศาลได้มีการอ่านคำสั่งคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ที่ศาลมีคำสั่งสรุปว่าผู้ตายเสียชีวิตจากอาวุธหรือจากแนวฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ รวมเบ็ดเสร็จแล้ว 3 คดี

คดีแรกคือนายพัน คำกอง -คดีที่สองนายชาญณรงค์ พลศรีลา และคดีที่สามคือ นายชาติชาย ชาเหลา ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำสั่งไปเมื่อ 17 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า นายชาติชาย ถึงแก่ความตายที่ รพ.จุฬา ฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค.53 โดยเหตุและพฤติการณ์การตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 ( 5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

คงจะมีอีกหลายคดีตามมาต่อจากนี้ไปเรื่อยๆ หลังจากที่มีการส่งสำนวนชันสูตรศพผู้เสียชีวิตในช่วงชุมนุมเสื้อแดงปี 53 โดยเฉพาะกลุ่ม นปช. ที่อัยการส่งไปที่ศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ร่วม18ราย

เดิมทีมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า พนักงานสอบสวนคดี 98 ศพที่มีตัวแทน 3 ฝ่ายคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติและอัยการ ที่คุมทีมโดยธาริต เพ็งดิษฐ์อธิบดีดีเอสไอ จะมีการประชุมหาข้อสรุปเมื่อ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเตรียมแจ้งข้อหาเพิ่มกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)

คือจากเดิมที่แจ้งข้อหา ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ก็จะแจ้งข้อหาทั้งอภิสิทธิ์และสุเทพเพิ่มอีกเป็น พยายามฆ่า รวมถึงการตั้งข้อหาเพิ่มอีกเช่น ทำร้ายร่างกาย สำหรับบุคคลที่บาดเจ็บแต่ไม่เสียชีวิตในช่วงการชุมนุมปี 53

เรียกได้ว่า ธาริตจัดเต็ม ให้มาร์คกับเทือก

สำนวนคดีไหนที่มีผู้เสียชีวิต ก็ตั้งข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลไป แต่สำนวนไหนที่ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่บาดเจ็บไม่ว่าจะบาดเจ็บสาหัสหรือบาดเจ็บเล็กน้อยแล้วคนที่ได้รับบาดเจ็บมีการไปให้ปากคำกับดีเอสไอ ก็แยกออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่ง

บาดเจ็บสาหัส ก็แยกเป็นสำนวนข้อหาพยายามฆ่า ที่มีข่าวว่าจากข้อมูลของพนักงานสอบสวนคดีนี้พบว่า มีผู้บาดเจ็บในช่วงชุมนุมเสื้อแดงปี 53 ประมาณ 1,500 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 700 รายและได้มีการสอบปากคำไว้หมดแล้วเพื่อตั้งเรื่องชงเข้าที่ประชุมร่วมพนักงานสอบสวน 3 ฝ่ายให้มีมติแจ้งข้อหาพยายามฆ่ากับอภิสิทธิ์กับสุเทพต่อไปส่วนบาดเจ็บแต่ไม่สาหัสก็จะแยกเอาผิดข้อหาทำร้ายร่างกาย

ซึ่งทั้งหมด ต้นทางเอาผิดก็คือคำสั่งศอฉ.ที่สั่งทหารออกไปควบคุมการชุมนุมซึ่งผู้ต้องรับผิดชอบตามแนวทางการสอบสวนก็คืออภิสิทธิ์และสุเทพ เหมือนกับคดีพัน คำกองที่นำไปสู่การเอาผิดข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ จะไม่พอใจการสอบสวนของธาริตและทีมพนักงานสอบสวนที่ทำคดีออกมารูปแบบนี้

มองไปก็เป็นเรื่องธรรมดา ฝ่ายเพื่อไทย-เสื้อแดง มีอำนาจรัฐ แนวทางการสอบสวนทำคดีก็ต้องไปแบบนี้ แต่รอดูกันไปเรื่อยๆ แล้วกันว่า แล้วคดีมันจะไปจบอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 19 ธ.ค. ธาริตกับพนักงานสอบสวนยังไม่สามารถแจ้งข้อหาเพิ่มกับทั้งอภิสิทธิ์-สุเทพ เนื่องจาก การประชุมวันดังกล่าวไม่มีอัยการเข้าร่วมเพราะติดว่าความ

ทำให้ที่ประชุมพนักงานสอบสวนไม่สามารถลงมติแจ้งข้อหา “พยายามฆ่า”กับอภิสิทธิ์และสุเทพที่ต้องเป็นความเห็นสามฝ่ายได้ เลยนัดกันอีกทีวันที่ 27 ธ.ค. นี้ว่าจะมีการแจ้งข้อหาเพิ่มกับอภิสิทธิ์และสุเทพหรือไม่

หากไม่มีอะไรผิดคิว ไม่เลื่อนอะไรไปก่อน 27 ธ.ค.นี้ ธาริต ก็คงให้ “ของขวัญปีใหม่”ที่ถูกใจรัฐบาลและคนเสื้อแดง แต่เป็นของขวัญที่อภิสิทธิ์กับสุเทพ คงไม่อยากได้เลย นั่นคือการแจ้งข้อหาเพิ่มกับอภิสิทธิ์กับสุเทพ ปิดท้ายปี 55 แน่นอน

“ทีมข่าวการเมือง” ดูแล้ว วันนี้อย่างไรเสีย ดีเอสไอจะแจ้งข้อหาอะไรเพิ่มกับอภิสิทธิ์และสุเทพ ทั้งสองคนก็คงไม่สนใจอะไรอยู่แล้ว เพราะเมื่อโดนตั้งข้อหาหนักสุดคือ ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลมาแล้ว ข้อหาอื่นจะตั้งเพิ่มอีกกี่กระทง กี่สำนวน ถึงเวลาสู้คดี มันก็ต้องไปในทางเดียวกันหมด เพราะผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บไม่ว่าจะกี่คน ทหาร-เจ้าหน้าที่รัฐที่ออกไปปฏิบัติการ ก็ทำตามคำสั่งศอฉ.ด้วยกันทั้งสิ้น

หากพนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปอัยการ ทางอัยการก็ต้องพิจารณากันไป หากอัยการพิจารณามีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีพัน คำกอง ประเมินกันแล้ว มันก็น่าจะเป็นบรรทัดฐานต่อคดีอื่นๆ ที่จะจ่อคิวต่อจากคดีพัน คำกองต่อไป

เพราะหากอัยการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง คดีแรก ที่เอาผิดอภิสิทธิ์กับสุเทพ ที่เป็นสำนวนการเสียชีวิตของพัน คำกอง ก็มีความเป็นไปได้ที่คดีที่สองที่เป็นการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา และคดีที่สามคือ นายชาติชาย ชาเหลาก็จะเหมือนกันคดีแรก

เช่นเดียวกับเมื่อไปที่ปลายทางสุดของกระบวนการยุติธรรม คดีแรกในความผิดข้อหาเดียวกัน ก็ย่อมส่งผลต่อคดีที่ 2 และ 3 ในความผิดข้อหาเดียวกันที่เอาผิดกับอภิสิทธิ์และสุเทพ

เมื่ออภิสิทธิ์-สุเทพ โดนแจ้งข้อหาหนักสุดมาแล้วและจะมีเพิ่มอีกกี่คดีในความผิดเดียวกัน หรือจะแจ้งหาข้อหาเพิ่มกับบุคคลทั้งสองแต่เมื่อข้อหาเพิ่มนั้นก็เป็นการเอาผิดในเรื่องการออกคำสั่งศอฉ.เช่นเดียวกันกับความผิดคดีพัน คำกอง

ก็อย่าแปลกใจที่ทำไม อภิสิทธิ์-สุเทพ จึงไม่ได้แสดงความรู้สึกอะไรเพิ่มออกมา ตามประสาคนเข้าใจแนวทางและความเป็นไปของคดีความ ที่จะมีกี่คดี กี่ความผิด แนวสู้คดีก็ต้องเหมือนกันหมดกับคดีแรก

จริงอยู่ว่า ธาริต มีอำนาจรัฐในมือและมักอ้างว่าต้องทำตามหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรม หากไม่เดินหน้าต่อหลังศาลมีคำสั่งการเสียชีวิตทั้ง 3 คำสั่งข้างต้นคือพัน คำกอง -ชาญณรงค์ พลศรีลา -ชาติชาย ชาเหลาก็เท่ากับละเว้นการปฎิบัติหน้าที่

จะยกเหตุอะไรมากล่าวอ้าง ก็ยกไปเถอะ ถึงวันนี้ ยังไงสังคมก็มองดีเอสไอไม่แตกต่างจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้วว่า ดีเอสไอก็เป็นองค์กรกระบวนการยุติธรรมที่ทำงานภายใต้อาณัติและใบสั่งของฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว

ดีเอสไอ-ธาริต จะเร่งทำสารพัดคดีเสื้อแดง เสียชีวิต-บาดเจ็บสาหัส-บาดเจ็บเล็กน้อย ใช้เวลาสอบปากคำพยาน ผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้หลายร้อยคนในเวลาอันรวดเร็วเพื่อหวังให้มีการเอาผิดเพิ่มมากที่สุดกับอภิสิทธิ์และสุเทพ

ถึงตอนนี้ สังคมก็ไม่ได้สนใจธาริตและดีเอสไออะไรแล้ว เพราะคนจำนวนมากมองและตัดสินกันไปแล้วว่า ธาริต ทำคดีเสื้อแดงแบบเอาใจรัฐบาลเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเกินเหตุมากไป

ทีกับบางคดีอย่างการเสียชีวิตของพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม จนถึงป่านนี้ไม่เห็นจะมีความคืบหน้าอะไรออกมาแจ้งต่อสังคม ว่าการติดตามขยายผลเรื่องชายชุดดำที่ลากเอาอาวุธสงครามออกมาเข่นฆ่าทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์และทหาร จำนวนมากจนบาดเจ็บเสียชีวิตแบบเดียวกับคนเสื้อแดง

กองกำลังชายชุดดำที่ชั่วร้ายพวกนี้เป็นใคร ใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นคนสั่งการ ใครต้องโดนเอาผิด ทั้งที่การจะติดตามขยายผลหากพนักงานสอบสวนคดีนี้ของดีเอสไอจะมุ่งมั่นทำงานตรงนี้จริง ก็น่าจะมีความคืบหน้าออกมาให้เห็นบ้าง

แต่สังคมกลับไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้เลย

ไม่เคยเห็นธาริตตั้งโต๊ะแถลงข่าว บอกเล่าความเป็นไปในการสอบสวนขยายผลเอาผิดพวกชายชุดดำที่ทำร้ายทหาร ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สังคมได้เห็นเลยในช่วงปีกว่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การยอมรับและความน่าเชื่อถือของดีเอสไอที่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม วันนี้ ไม่เหลืออีกแล้ว

หลายคนจึงจับตาไปที่อัยการที่เป็นกลางทางของกระบวนการยุติธรรมว่า ดุลยพินิจในการสั่งคดี 98 ศพที่เอาผิดอภิสิทธิ์-สุเทพต่อจากดีเอสไอ อัยการจะเป็นอย่างไรต่อไป

แม้คณะทำงานคดีดังกล่าวจะมีตัวแทนอัยการไปร่วมด้วย แต่ก็เป็นแค่ไม่กี่คน และมีการอ้างจากทีมทนายความอภิสิทธิ์ด้วยว่า ตัวแทนอัยการที่ไปร่วมอยู่ชุดเดียวกับธาริต ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่ได้ส่งไปทำงานแบบเป็นทางการรวมถึงต้องไม่ลืมว่าความเห็นของตัวแทนอัยการในทีมดังกล่าว ตามหลักย่อมไม่มีผลกับการสั่งคดีของอัยการชุดใหญ่อยู่แล้ว

ยิ่งคดีสำคัญแบบนี้ หากอัยการจะมีความเห็นใดๆ ออกมา คงต้องกลั่นกรองกันหลายตลบไม่ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

ที่บอกต้องจับตาการสั่งคดีของอัยการ ก็เพราะที่ผ่านมา การสั่งคดีของอัยการในยุคที่มีผู้นำหน่วยชื่อจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ บางคดี ได้สร้างเสียงวิจารณ์อย่างหนักให้กับสังคมมาแล้ว

การสั่งคดีของ อัยการคือด่านต่อไป ที่อภิสิทธิ์-สุเทพ มองข้ามช็อตจากดีเอสไอไปนานแล้ว
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สุเทพ เทือกสุบรรณ


กำลังโหลดความคิดเห็น