xs
xsm
sm
md
lg

“อดุลย์” สั่งกวาดล้างแก๊งซิ่งป่วนเมือง งัด กม.เอาผิดผู้ปกครอง-ริบของกลาง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.
ผบ.ตร.ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาแก๊งเด็กแว้นซิ่งป่วนเมือง วาง 3 มาตรการทั้งป้องกัน ปราบปราม และประเมินผลติดตาม สั่งทุกท้องที่เร่งกวาดล้าง ดีเดย์ 17 ต.ค.นี้ งัดกฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาผิดทั้งตัวนักแข่ง ผู้ปกครอง รวมทั้งผู้สนับสนุน

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการแข่งรถจักรยานยนต์บนเส้นทางสาธารณะผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยใช้เวลากว่า 2 ชม.

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ได้สั่งการในที่ประชุมกำหนดมาตรการแก้ปัญหานี้โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกมาตรการป้องกันให้มีทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยให้มีการทำป้ายข้อความเตือนที่มีลักษณะเป็นข้อความที่เป็นภาษาชาวบ้าน เพื่อเตือนสตินักแข่ง และนำติดตั้งในพื้นที่ที่มีการแข่งขันรถกันมากๆ จัดสายตรวจออกไปตรวจสอบการรวมตัวของกลุ่มรถจักรยานยนต์ มีการใช้มาตรการจับก่อนแข่ง โดยใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจร เช่น ไม่สวมหมวกกันน็อก ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ดัดแปลงสภาพรถ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ให้มีการประสานสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในการออกตรวจร้านซ่อมรถเพื่อป้องกันไม่ให้มีการดัดแปลงรถก่อนนำไปแข่ง นอกจากนี้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการแข่งรถมาได้ที่หมายเลข 1599 จากเดิมที่มีเพียงหมายเลข 191 เพียงช่องทางเดียว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในพื้นที่ บช.น.ประชาชนร้องเรียนผ่านหมายเลข 191 เฉลี่ยเดือนละ 300 ครั้ง โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาถึง 498 ครั้ง

โฆษก ตร.กล่าวว่า ในส่วนมาตรการปราบปรามให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดยในระดับ บช.ให้รอง ผบช.เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่ระดับจังหวัดให้รอง ผบก.ทำหน้าที่นี้ นอกจากนี้ ผบ.ตร.ได้กำชับให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ไม่มีการกลั่นแกล้ง และต้องมีหัวหน้าชุดปิดล้อมจับกุมซึ่งต้องเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่ถ้าเป็นจุดใหญ่ให้มี ผบ.เหตุการณ์ มีผู้รับผิดชอบการเคลื่อนย้ายของกลาง มีหัวหน้าชุดสอบสวนอย่างชัดเจน ในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งไม่ให้ใช้วิทยุสื่อสารในการติดต่อ ให้ใช้วิธีการอื่นเพราะเกรงข่าวรั่ว ที่สำคัญตำรวจทุกนายยกเว้นนายตำรวจสัญญาบัตรที่เป็นหัวหน้าชุดห้ามพกพาอาวุธปืนโดยเด็ดขาด เพราะนักแข่งรถส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ทั้งนี้ จะมีการนำเครื่องสกัดรถมาใช้ในการสกัดจับรถจักรยานยนต์ซิ่งด้วย ซึ่งในเวลา 09.30 น.วันที่ 17 ต.ค.จะมีการสาธิตการใช้เครื่องมือดังกล่าว ส่วนมาตรการสุดท้าย คือการประเมินผลติดตาม หลังจากศาลตัดสินให้มีการจัดชุดไปตรวจเยี่ยมผู้กระทำผิด และต้องมีการทำบันทึกตรวจเยี่ยมทุกครั้ง นอกจากนี้ ให้ทำบันทึกข้อตกลงกับผู้ปกครอง รวมทั้งทำประวัติของเยาวชนที่กระทำผิดเพื่อไม่ให้มีการประทำผิดซ้ำอีก

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวด้วยว่า ผบ.ตร.ย้ำว่าการแข่งรถกวนเมืองสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นเรื่องที่ตำรวจยอมไม่ได้ ถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ จึงได้กำหนดขีดเส้นตายภายใน 1 เดือน ให้ทุกพื้นที่ดำเนินมาตรการกวาดล้างเด็กแว้นครั้งใหญ่ โดยเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 17 ต.ค.นี้

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า สำหรับถนนที่มีการแข่งรถในพื้นที่ บช.น. ได้แก่ ถ.เพชรบุรีขาเข้า ช่วงตั้งแต่แยกประตูน้ำ-อุรุพงษ์ ขาออกช่วงแยกชิดลมเพชร-อโศกเพชร ถ.ราชวิถีตั้งแต่แยกดินแดง-แยกตึกชัย ทั้งขาเข้าและขาออก ถ.พระราม 4 ช่วงแยกกล้วยน้ำไทคลองเตย ทั้งขาเข้าขาออก ถ.วิภาวดีรังสิต หน้าสนามบินดอนเมือง-ใต้ทางด่วนดินแดน ตลอดเส้นทาง ถ.ประดิษฐ์มนูธรรมตลอดทั้งเส้น ส่วนพื้นที่ บช.ภ.1 ถ.เทพารักษ์ ถ.บางนา-ตราด ถ.พหลโยธินช่วงหน้าเซียร์รังสิต ถ.เอเชียช่วงตลาดกลางรังสิต บช.ภ.2 ชลบุรี ถ.เลียบชายทะเล และถนนเลี่ยงเมือง จ.ฉะเชิงเทรา ถ.ศรีโสธร ถ.บางนา-ตราด กม.39-40 ทั้งนี้ สำหรับช่วงเวลาในการแข่งขันส่วนใหญ่จะเริ่มแข่งกันหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป โดยจะเน้นในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อไปว่า ตำรวจได้จำแนกผู้ที่มีพฤติกรรมแข่งรถในทางสาธารณะออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มประลองความเร็ว มีเป้าหมายคือการแข่งขันมีการวางเดิมพัน โดยรถที่นำมาแข่งส่วนใหญ่เป็นรถที่เรียกกันในหมู่นักซิ่งว่า รถยำ คือรถที่มีการนำชิ้นส่วนจากรถหลายๆ คันมาประกอบเป็นรถคันเดียวก่อนนำมาลงแข่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการโจรกรรมรถ กลุ่มที่ 2 เป็นรถยนต์แข่ง โดยจะมีการนำรถมาแต่งเพื่ออวดกัน ไม่เน้นการแข่งขันประลองความเร็ว ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะมีฐานะ มีการศึกษา กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มคนดู ส่วนใหญ่ไม่มีรถ มีอายุไม่เกิน 15 ปี คอยติดตามการแข่งขัน มีแนวโน้มพัฒนาเป็นกลุ่มที่ 1 สำหรับรูปแบบการกระทำผิด บรรดานักแข่งรถจะมีการนัดหมายกับสมาชิกผ่านทางเว็บไซต์สังคม และเอสเอ็มเอส โดยจะมีการนัดกันล่วงหน้าเพียง 6-12 ชม.เพื่อป้องกันข่าวรั่วไหล ขณะเดียวกันจะมีการใช้วิทยุสื่อสารคอยดักฟังความเคลื่อนไหวของตำรวจ ทั้งนี้ ได้แบ่งรูปแบบของการแข่งขันเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ กลุ่มผู้แข่งขันที่ใช้ถนนเส้นตรงความยาวประมาณ 1 กม.เป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ไม่เน้นแข่งขันประลองความเร็วจะจับกลุ่มกันตระเวนขับรถไปตามถนนสาธารณะเพื่อสร้างความเดือดร้อนรำคาญ และมีแนวโน้มไปสู่การทะเลาะวิวาทกับกลุ่มอื่น

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ผบ.ตร.มีนโยบายที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยจะเป็นประธานในการประชุมสั่งการด้วยตนเอง ล่าสุดได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับเพื่อดำเนินการต่อผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ขับขี่ ผู้ปกครอง ร้านแต่งรถซิ่ง รวมถึงผู้สนับสนุน และคนดูต้นทางด้วย ทั้งนี้ สำหรับกฎหมายที่จะใช้ดำเนินการ เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก ม.13 และ ม.164 ทวิ กรณีที่มีการแข่งรถบนทางสาธารณะ ประมวลกฎหมายอาญา ม.33 กรณีให้ศาลสั่งริบรถของกลางพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบ ม.83 และ ม.86 เรื่องตัวการร่วม ผู้สนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ม.76-78 กรณีดำเนินการต่อผู้ปกครองที่รู้เห็นเป็นใจ หรือปล่อยปละละเลยให้เยาวชนออกมากระทำผิด และกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ร.บ.มาตรฐานสาธารณสุข และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
กำลังโหลดความคิดเห็น