xs
xsm
sm
md
lg

จี้“อดุลย์”ฟันตำรวจเลว-จงใจขัดขวาง-คุกคามสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“องค์กรสื่อฯ”ยื่นหนังสือจี้ “ผบ.ตร.” สอบตำรวจเลว! ทำร้ายช่างภาพ เข้าข่ายขัดขวางและคุกคามสื่อมวลชน ยื่นกมธ.สิทธิฯวุฒิ เรียก”อดุลย์-เฉลิม”สอบ ด้านโฆษกตร.อ้างนายรู้แล้ว เรียกองค์กรสื่อหาทางออกร่วม อาจทำได้แค่จัดทำสัญลักษณ์ อึ้ง!ชงจัดทำบัญชีนักข่าวม๊อบ โบ้ยสื่อร่วมทำลายแนวกั้น-ไม่มีบัตรแสดง “บังธิ”หยามม็อบเสธ.อ้าย 2 เกิดยาก

วานนี้ ( 29 พ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เมื่อเวลา12.00 น.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสามาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในเหตุการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา

นายเชาวรงค์ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่มีช่างภาพสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 รายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้ายและจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมผู้ต้องหา ขณะที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์การชุมนุม ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางและคุกคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 บัญญัติรับรองไว้

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังนี้

1.ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงผลการสอบสวน โดยให้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย เนื่องจากมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถ้าเราไปร่วมในการสอบสวนจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

2.จัดให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วมีการบาดเจ็บอุปกรณ์การทำงานเสียหายตำรวจต้องเยียวยาความเสียหายด้วย

3.ออกระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองโดยให้มีผู้แทนพระองค์วิชาชีพสื่อมวลชนมีส่วนร่วมและยอมรับในกฏระเบียบดังกล่าวร่วมกัน เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อไปจะได้ไม่เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันเพื่อเคารพซึงกันและกันในการทำหน้าที่เพราะอย่างไรก็ต้องทำหน้าที่ร่วมกัน

ด้านนายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือชี้แจงมายังสมาประเด็นแรกบอกว่าปัญหาเกิดจากไม่รู้ว่าเป็นสื่อมวลชน ไม่มีใครบอกคิดว่าสื่อที่ถูกจับกุมและถูกทำร้ายเป็นกลุ่มผู้ชุมนุซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงสื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายยืนยันว่าได้แสดงตัวแล้วและจุดที่ถูกทำร้ายก็ไม่ได้เป็นจุดที่มีการชุลมุนกันอยู่ เป็นบริเวณเต้นส์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สื่อได้วิ่งเข้าไปหลบระหว่างเกิดเหตุชุลมุนแต่กลับถูกลากไปทำร้ายและจับขึ้นรถผู้ต้องหา

ประเด็นที่สองบอกสื่อมวลชนร่วมกับผู้ชุมนุมในการรื้อแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งตรงนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจากการสอบถามสื่อที่ถูกทำร้ายไม่ได้มีส่วนในการรื้อแนวกั้นแต่อย่างใดซึ่งเราก็มีหลักฐานในส่วนของเรา และนอกจากยื่นหนังสือต่อผบ.ตร.แล้วเรายังดำเนินการในส่วนอื่นคือยื่นกับสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

**ตร.เล็งจัดทำบัญชีสื่อมวลชน

ด้านพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางผบ.ตร.ได้รับทราบแล้วและคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ในสัปดาห์หน้าจะเชิญทางสมาคมนักข่าวฯมาประชุมที่ศปก.ชั้น 20 ร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา หามาตรการกฏกติกาในการทำงานร่วมกัน เช่นอาจจะมีการจัดทำสัญลักษณ์สื่อมวลชนในการทำข่าวการชุมนุม จัดทำบัญชีสื่อมวลชน กำหนดพื้นที่เป็นต้น

ในส่วนการสอบสวนไม่มีปัญหาผบ.ตร.ได้มอบหมายให้พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.และพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาสบ.10 ดูแลเรื่องการสอบสวนด้วยตัวเอง ส่วนที่ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนที่มีหลักฐานแสดงตัวเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวทันที สื่อบางส่วนที่ทำลายแนวกั้นและไม่มีบัตรแสดงตนตำรวจมีหลักฐานดำเนินคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่การชี้แจงของตำรวจไม่ตรงกับสื่อมวลชนที่โดนจับกุมตัวไป พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า เป็นการชี้แจงคนละครั้ง คนละส่วนกัน ทำให้ไม่ตรงกัน เกิดความเข้าในคลาดเคลื่อนดังนั้นจะต้องมีการคุยกัน และผบ.ตร.จะเร่งสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆโดยเร็ว

**ยื่น กมธ.สว.ร่วมฟันตำรวจเลว!

คณะดังกล่าวยังเดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้ บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ด้วย

ด้านนายตวง กล่าวว่า กรรมาธิการจะติดตาม ตรวจสอบ หาความจริงเรื่องนี้ โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ช่างภาพที่ถูกคุกคาม เข้าชี้แจง

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา กล่าวว่า กมธ.สิทธิ์จะตั้งอนุกรรมาธิการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ขณะที่ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา รองประธาน กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า จะตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการแจ้งเตือนผู้ชุมนุมตามหลักสากลก่อนหรือไม่

**เอแบคจัดให้พอใจตำรวจ 8 เต็ม10

อีกด้านนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” โดยถามถึงคะแนนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อยของการชุมนุมทางการเมืองขององค์การพิทักษ์สยาม เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาให้ 8.02 คะแนน

เอแบคโพลล์ ยังตั้งคำถามแนวคิดที่ รัฐบาลควรสร้างอาคารขนาดใหญ่เปิดพื้นที่เฉพาะสำหรับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเพื่อเป็นเวทีภาคประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยร้อยละ 73.6 เห็นด้วยกับเพราะ จะได้ไม่วุ่นวาย เป็นสัดส่วน สะดวกสบาย ดูแลความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยได้ง่าย เป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี และไม่เสี่ยงต่อการเกิดความสูญเสียโดยง่าย

**บังธิมองม็อบเสธ.อ้าย 2 เกิดยาก

อีกด้านในการประชุมผู้บริหารพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดอภิปรายเรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในอนาคต” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน

โดยพล.อ.สนธิ กล่าวตอนหนึ่งว่า ความเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย ยิ่งถ้าอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ ยิ่งเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ที่สำคัญคือบางทีมีแนวคิดนอกกรอบที่เข้ามาเพื่อหวังทำลายกันอย่างเดียว การเคลื่อนไหวทุกครั้งมักมีอย่างอื่นแอบแฝง ทำให้รูปแบบการต่อต้านจากรัฐก็เป็นอีกรูปแบบ ถามว่าอนาคตจะมีความเคลื่อนไหวมากน้อย ถึงขั้นไปสู่การปฏิวัติโดยประชาชนได้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดได้ทั่วโลก แต่ควรเกิดอย่างมีเหตุมีผลมีข้อเท็จจริง และเกิดจากการสร้างความเสียหายของรัฐบาลอย่างแท้จริง

“จะมีการปฏิวัติโดยประชาชน ปฏิวัติโดยทหารอีกหรือไม่ เนื้อแท้สำคัญอยู่ที่ระบบการเมืองเอง ว่ามีความบริสุทธิ์ปลอดการคอรัปชั่นหรือไม่ ถ้าการเมืองเดินไปโดยดีแล้วประชาชนและทหารคงไม่ทำอะไร เพราะรู้ว่ามันมีผลกระทบต่อประเทศชาติ”

พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ถามนักการเมืองในสภาเขาบอกว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ต้องใช้เวลาถึงสามช่วงอายุคนถึงจะกลับสู่ปรกติ ผมรู้ดีว่าถ้าไม่มองข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ มันจะถึงวิกฤติ หลายคนหลายพรรคไม่ต้องการให้ พ.ต.ท. ทักษิณ เข้าประเทศ และกลายเป็นเครื่องมือของคนอีกกลุ่มที่สนับสนุนให้กลายเป็นความขัดแย้งขั้นวิกฤติ

“ผมยึดยุทธศาตร์ศัตรูของศัตรูคือมิตร ทำยังไงให้มิตรของศัตรูขัดแย้งกันนั่นคือยุทธศาสตร์ของผม แล้วทำให้สถาบันยังคงอยู่กับประเทศไทยตราบนานเท่านั้น มันเป็นยุทธศาสตร์ที่บอกได้ส่วนหนึ่ง บอกไม่ได้ส่วนหนึ่ง”

อดีตประธาน คมช. กล่าวว่าส่วนที่มีการมองกันว่า อาจมีการชุมนุมทางการเมืองรอบต่อไปของมวลชนที่ในปลายปี หรือต้นปีหน้านั้น หากมองในแง่หลักการแล้ว ม็อบจะเกิดได้ต้องมีปัจจัย 3 ประการ คือทุน อุดมการณ์ที่ทำให้คนมาร่วมสนับสนุน และลักษณะผู้นำมีเพียงพอ มีประสิทธิภาพที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าจะเกิดประสิทธิผลหรือไม่ ซึ่งณ วันนี้ยืนยันว่าทุนก็ยาก เงื่อนไขอุดมการณ์ก็น้อย และผู้นำไม่มี ดังนั้นในอนาคตอันใกล้จะให้เกิดประสิทธิผลค่อนข้าวยาก ถ้าจะเกิดก็จะเกิดแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ

** “เสธ.อ้าย”ร้องผู้ตรวจฯ-ป.ป.ช.” บี้รัฐ

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม เปิดเผยว่าในวันที่ 30 พ.ย. ตนพร้อมด้วยทีมทนายความขององค์การพิทักษ์สยามจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยจะชี้ให้เห็นว่าการออก พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ของรัฐบาล เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามสามารถทำได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น