ASTVผู้จัดการ - สองสมาคมสื่อฯ ออกแถลงการณ์ร่วม ซัดตำรวจทำเกินกว่าเหตุ คุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ ใช้กำลังจับกุมช่างภาพระหว่างใช้แก๊สน้ำตาถล่มผู้ชุมนุม ร้องเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ ช่างภาพเผยแสดงบัตรสื่อแล้ว แต่ ตร.ยังใช้ความรุนแรงเข้าจับกุม
จากการนัดชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ในวันนี้ (24 พ.ย.) โดยในช่วงเช้า ณ บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจเพื่อเดินทางไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า โดยนอกจากจะจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ตำรวจยังได้เข้าจับกุมนักข่าว และช่างภาพจำนวนหนึ่ง โดยอ้างว่าการถ่ายภาพขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรงนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ในช่วงเย็นวันนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบไปด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมตำหนิการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แถลงการณ์ร่วมขององค์กรวิชาชีพสื่อระบุว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมวลชนทุกแขนงต้องเสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้สาธารณชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้านมากที่สุด และไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำมาเป็นข้ออ้างในการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่สื่อในภาคสนาม องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งสองจึงได้ประสานกับแกนนำผู้ชุมนุม และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้ปลอกแขนสีเขียวมีตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยตลอดระยะเวลาการชุมนุม
ช่างภาพ “ASTVผู้จัดการ” เผยเหตุการณ์
นายสันติ เต๊ะเปีย ช่างภาพหนังสือพิมพ์ “เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน” เปิดเผยเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมของตำรวจที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ว่า ตน และช่างภาพอีกหลายสำนักได้อยู่บนรถ 6 ล้อขององค์การพิทักษ์สยาม ที่พยายามฝ่าวงล้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปในบริเวณสะพาน ระหว่างนั้น ตำรวจได้ปาแก๊สน้ำตาเข้ามาในจุดที่ประชาชนอยู่ โดยมี 1 ลูกได้ตกมาอยู่บริเวณที่ตนยืน ตน และช่างภาพก็ได้กระโดดลงจากรถไปคนละทิศคนละทาง ต่อมา ตนจึงได้ไปนั่งที่เต็นท์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บเข้ามาสมทบ และเจ้าหน้าที่ประจำการก็ได้นำน้ำมาให้ตนดื่มด้วย แต่หลังจากนั้นก็ได้มีตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามา และทำการลากตนออกไปจากเต็นท์ ทั้งๆ ที่ตนพยายามชูบัตรสื่อมวลชน พร้อมทั้งปลอกแขนแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชนให้เจ้าหน้าที่กลุ่มนั้นดู แต่ตำรวจกลับไม่ฟังคำคัดค้าน พร้อมทั้งเอาเท้าเตะตน 1 ครั้ง และกดตนให้ลงไปนอนกับพื้น ก่อนจะกระชากกระเป๋าโน้ตบุ๊ก และทำกล้องถ่ายรูปของตนหล่นจนกระจกกันแสงด้านหน้าแตก ก่อนจะนำตนพร้อมกับช่างภาพไทยพีบีเอสอีก 1 รายขึ้นรถขนผู้ต้องหาร่วมกับผู้ชุมนุมราว 40 ราย ขณะที่ตนก็ได้ติดต่อผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบให้มาเจรจา และยืนยันว่า เป็นช่างภาพจริง โดยตำรวจชุดดังกล่าวก็ได้คัดแยกตนออกจากผู้ชุมนุมในภายหลัง
นายสันติ กล่าวอีกว่า ส่วนอาการบาดเจ็บนั้น เบื้องต้น เจ็บบริเวณหลังจากการที่ถูกตำรวจกดลงกับพื้น ซึ่งตนไม่คิดว่าตำรวจจะทำแบบนี้กับสื่อมวลชน ตนไม่อยากเอาเรื่องกับเจ้าหน้าที่ เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่ตนแค่เสียความรู้สึกอย่างมาก โดยหวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้ในระหว่างการทำงานอีก
สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์ขององค์กรสื่อฉบับเต็มมีดังนี้
แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง
จากกรณีที่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ได้เกิดเหตุการณ์ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ขณะพยายามฝ่าแนวกั้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดเหตุวุ่นวายกระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และถูกควบคุมตัว โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงสาเหตุที่มีการควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชน โดยอ้างว่า มีการถ่ายภาพขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรงถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่า
1.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
2.การนำเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมวลชนทุกแขนงต้องเสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้สาธารณชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้านมากที่สุด และไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำมาเป็นข้ออ้างในการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรง
3.เพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้แก่สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภาคสนาม สมาคมวิชาชีพทั้ง 2 สมาคม ได้ประสานงานกับแกนนำผู้ชุมนุม และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อใช้ปลอกแขนสีเขียวมีตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
24 พฤศจิกายน 2555
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
24 พฤศจิกายน 2555