“ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” นายกสามาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในเหตุการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา
วันนี้ (29 พ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 12.00 น. นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสามาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในเหตุการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายชวรงค์กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่มีช่างภาพสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้าย และจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมผู้ต้องหา ขณะที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์การชุมนุม ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางและคุกคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 บัญญัติรับรองไว้
นายชวรงค์กล่าวว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการ ดังนี้ 1. ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงผลการสอบสวน โดยให้มีผู้แทนองค์กรวชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย เนื่องจากมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถ้าเราไปร่วมในการสอบสวนจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
นายชวรงค์กล่าวอีกว่า 2. จัดให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าทีี่ที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วมีการบาดเจ็บอุปกรณ์การทำงานเสียหายตำรวจต้องเยียวยาความเสียหายด้วย
นายชวรงค์กล่าวอีกว่า 3. ออกระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยให้มีผู้แทนวิชาชีพสื่อมวลชนมีส่วนร่วมและยอมรับในกฎระเบียบดังกล่าวร่วมกัน เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อไปจะได้ไม่เกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน เพื่อเคารพซึ่งกันและกันในการทำหน้าที่ เพราะอย่างไรก็ต้องทำหน้าที่ร่วมกัน
ด้านนายวิสุทธิ์กล่าวว่า ล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือชี้แจงมายังสมาคมฯ ประเด็นแรกบอกว่า ปัญหาเกิดจากไม่รู้ว่าเป็นสื่อมวลชน ไม่มีใครบอก คิดว่าสื่อที่ถูกจับกุมและถูกทำร้ายเป็นกลุ่มผู้ชุมนุ ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริง เนื่องจากสื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายยืนยันว่าได้แสดงตัวแล้ว และจุดที่ถูกทำร้ายก็ไม่ได้เป็นจุดที่มีการชุลมุนกันอยู่ เป็นบริเวณเต็นท์ที่พักของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สื่อฯ ได้วิ่งเข้าไปหลบหลังเกิดเหตุชุลมุน แต่กลับถูกลากไปทำร้ายและจับขึ้นรถผู้ต้องหา
นายวิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 บอกว่า สื่อมวลชนได้ร่วมกับผู้ชุมนุมในการรื้อแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตรงนี้ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง จากการสอบถามสื่อฯ ที่ถูกทำร้ายทราบว่า ไม่ได้มีส่วนในการรื้อแนวกั้นแต่อย่างใด ซึ่งเราก็มีหลักฐานในส่วนของเรา และนอกจากยื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร.แล้ว เรายังดำเนินการในส่วนอื่น คือ ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง ผบ.ตร.ได้รับทราบแล้วและคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ในสัปดาห์หน้าจะเชิญทางสมาคมนักข่าวฯ มาประชุมที่ ศปก.ชั้น 20 ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา หามาตรการกฎกติกาในการทำงานร่วมกัน เช่น อาจจะมีการจัดทำสัญลักษณ์สื่อมวลชนในการทำข่าวการชุมนุม จัดทำบัญชีสื่อมวลชน กำหนดพื้นที่ เป็นต้น
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อว่า ในส่วนการสอบสวนไม่มีปัญหา ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. และพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ที่ปรึกษา สบ 10 ดูแลเรื่องการสอบสวนด้วยตัวเอง ส่วนที่ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนที่มีหลักฐานแสดงตัว เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวทันที สื่อบางส่วนที่ทำลายแนวกั้นและไม่มีบัตรแสดงตน ตำรวจมีหลักฐานดำเนินคดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่การชี้แจงของตำรวจไม่ตรงกับสื่อมวลชนที่โดนจับกุมตัวไป พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า เป็นการชี้แจงคนละครั้ง คนละส่วนกัน ทำให้ไม่ตรงกัน เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนั้นจะต้องมีการคุยกัน และ ผบ.ตร.จะเร่งสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเร็ว คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร