สตช.แถลงเจ้าหน้าที่ตำรวจเคารพการทำหน้าที่สื่อ ไม่มีเจตนาละเมิดสิทธิ แจงเหตุการณ์จับกุมช่างภาพสื่อมวลชนในระหว่างการชุมนุมเพราะไม่มีการแสดงตัว อ้างมีบางส่วนแอบอ้างว่าเป็นสื่อ แต่จะเป็นบทเรียนต่อการปฏิบัติหน้าที่ครั้งต่อไป
วันนี้ (27 พ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม พยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ในวันดังกล่าวไม่มีใครแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชนแม้แต่คนเดียว บางส่วนอยู่บนรถของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการผลักดันเข้าไปพื้นที่หวงห้าม เมื่อถูกควบคุมตัวแล้วหลายคนได้แจ้งว่าเป็นสื่อมวลชน ขณะที่บางคนไม่มีบัตรประจำตัวสื่อมวลชน เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนทราบว่าเป็นสื่อมวลชนจริงก็ได้ปล่อยตัวไป แต่บางคนอยู่ในข่ายที่เป็นผู้กระทำผิดจริงๆ เข้าไปเป็นตัวผลักดันจริง อันนี้ก็ต้องมีการดำเนินคดี ยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลัง ศอ.รส.ในทุกจุดเคารพสิทธิของสื่อมวลชนเป็นอย่างยิ่ง
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่าตนได้แถลงสาเหตุที่ตำรวจควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนว่าถ่ายภาพขณะเกิดเหตุรุนแรง ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนนั้น ยืนยันว่าไม่เคยให้สัมภาษณ์ตามเนื้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน พร้อมทั้งแนบซีดีบันทึกคลิปเสียงและเหตุการณ์ต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน
“เรื่องนี้มีความโปร่งใสตั้งแต่ต้น ยืนยันอีกครั้งว่าตำรวจเคารพสื่อมวลชนทุกคน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจมีบางคนแอบแฝงเข้ามาเพื่อปฏิบัติการบางอย่าง ซึ่งตรงนี้ตำรวจก็ได้มีการจับกุม การดำเนินคดีก็เป็นไปตามพยานหลักฐาน ยืนยันว่าการให้สัมภาษณ์ต่างๆ เรารับผิดชอบต่อคำพูดในการแถลงการณ์ และเป็นไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และครั้งนี้ก็เป็นบทเรียนว่าในการปฏิบัติการครั้งต่อไปจะต้องมีการทำเครื่องหมายที่ชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีการทำความเข้าใจกัน เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น” โฆษก ตร.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง โฆษก ตร.กล่าวว่า กรณีนี้ตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องทุกอย่าง สื่อมวลชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรื้อลวดหนามหลังถูกควบคุมตัวก็ได้รับการปล่อยตัวไป มีบางส่วนเท่านั้นที่มีส่วนปฏิบัติกดดันเจ้าหน้าที่ และไม่มีการแสดงเครื่องหมายหรือแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชนที่ชัดเจน ก็ต้องมีการสอบสวน ยืนยันว่าตำรวจมีหลักฐานชัดเจนว่ามีกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วเข้ามากดดันการทำงานของตำรวจ