xs
xsm
sm
md
lg

2 ส.นักข่าวฯ จี้ ผบ.ตร.สอบเหตุจับช่างภาพช่วงชุลมุนลุย อพส. พร้อมเยียวยา-ตั้งกฎร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ส่งหนังสือจี้ ผบ.ตร.สอบข้อเท็จจริงจับ 3 ช่างภาพช่วงชุลมุนลุยม็อบเสธ.อ้าย ให้ตัวแทนสื่อร่วมด้วย ให้เยียวยาความเสียหาย ออกระเบียบงานเจ้าหน้าที่ร่วมสื่อในสถานการณ์ชุมนุม

วันนี้ (29 พ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มองค์การพิทักษ์สยามพยายามที่จะฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชนตามความทราบแล้วนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีช่างภาพสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 รายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้าย และจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมผู้ต้องหาขณะที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว

การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการขัดขวางและคุมคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติรับรองไว้

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงผลการสอบสวน โดยให้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย 2. จัดให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว 3. ออกระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยให้มีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีส่วนร่วมและยอมรับในระเบียบดังกล่าวร่วมกัน

ขณะที่รัฐสภา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้ บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามพยายามที่จะฝ่ายด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนนถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวาน จนเกิดการปะทะกัน และมีการใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุม

โดยในเหตุการณ์นั้นได้มีช่างภาพสื่อมวลชนประมาณ 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังประทุษร้าย และจับกุมไปคุมขังไว้บนรถควบคุมบนรถผู้ต้องหา ขณะเข้าไปปฎิบัติหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นการขัดขวางและคุกคามการปฎิบัติงานของสื่อมวลชนที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ด้านนายตวง กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น ตนคิดว่าประเทศไทยโชคร้ายที่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนเอาไว้ แต่กลับเขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดเนินการเช่นกัน ซึ่งตรงนี้เลยกลายเป็นปัญหาของสังคม อย่างไรก็ตามตนคิดว่า การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในวันนั้นถือเป็นการชุมนุมที่สามารถทำได้ตามสิทธิของประชาชนในการแสดงออก ซึ่งทางรัฐบาลไม่น่าจะประกาศ พรบ.ความมั่นคงออกมาใช้ได้ ทั้งนี้ทางกรรมาธิการจะติดตาม ตรวจสอบ หาความจริงเรื่องนี้ โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ช่างภาพที่ถูกคุกคาม เข้าชี้แจง







กำลังโหลดความคิดเห็น